HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/01/2561 ]
ฟ้ามัว-อากาศนิ่ง สัญญาณร้าย...มัจจุราชในหมอกเทียม

5 วันเต็มๆ ที่ชาวบ้านชาวช่องถูกมลพิษคุกคามแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว! คนส่วนใหญ่ตื่นเช้าขึ้นมาเห็นท้องฟ้าขมุกขมัวท่ามกลางอากาศเย็นๆ ก็คิดว่าเป็นหมอกของหน้าหนาว
          แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือ "หมอกเทียม" มัจจุราชร้ายที่คร่าชีวิตคนแบบผ่อนส่งได้เลยทีเดียว !!
          ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งที่กำลังพูดถึงนี้ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กวัดค่าเป็น ไมครอน อันตรายมากน้อยอยู่ที่ขนาดของมัน อธิบายง่ายๆ ยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งอันตรายมาก ค่าวัดที่เป็นมาตรฐานสากลขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ต้องมีปริมาณไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยคือ 10 ไมครอน (PM10) ค่ามาตรฐานต้องมีไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
          ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วงหลายวันที่ผ่านมา อุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 มคก./ลบ.ม.
          สุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ผลการตรวจวัด PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเที่ยงวันที่ 24 มกราคม พื้นที่ที่มีค่าสูงสุดอยู่ที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59-71 มคก./ลบ.ม. และสมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม. สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน
          อธิบดี คพ. บอกว่า แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้
          เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ. เสริมว่า สถานการณ์มลพิษในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินค่ามาตรฐานที่ 50 มคก./ลบ.ม. เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่มีแสงแดด และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมากและไม่เกิดการระบาย จึงมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานและมีผลกระทบต่อร่างกาย หลายๆ คนจึงอาจมีอาการระคายคอ หายใจไม่สะดวก
          แต่จากการตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม กรมควบคุมมลพิษ บอกว่า  สถานการณ์ PM2.5 มีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นบริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ตรวจวัดได้ 57 มคก./ลบ.ม.
          ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง อธิบายว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีค่าสูงมากในช่วงปลายหน้าหนาวถึงก่อนเข้าหน้าร้อนช่วงปลายเดือนมกราคม จากสถิติตั้งแต่ปี 2558-2561 ก็มีค่าเกินมาตรฐานทุกปี แต่เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ปีนี้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา จนถึง 25 มกราคม มีค่าเกินมาตรฐาน 5 วัน แต่ก็คลี่คลายลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
          กระนั้น เขาชี้แจงว่า เครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีเพียงแค่ 5 จุด ได้แก่ ย่านบางนา วังทองหลาง ริมถนนพระรามสี่ ริมถนนอินทรพิทักษ์  และริมถนนลาดพร้าว ประชาชนสามารถเข้าไปดูค่าฝุ่นละออง PM2.5 ใน 5 สถานีพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ http://aqmthai.com/public_report.php แล้วกดเข้าไปดูในแต่ละสถานีที่มีเครื่องตรวจวัดได้แล้วตลอด 24 ชั่วโมง
          "การสังเกตว่าเป็นหมอกหรือควันนั้น หากเป็นหมอกจะมีสีขาว แต่หากมีฝุ่นละอองปนมาด้วยจะออกสีขาวปนน้ำตาล หากประชาชนเห็นว่าเริ่มมีฝุ่นละอองก็ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญอากาศภายนอก"
          ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายความร้ายกาจของฝุ่นละอองเหล่านี้ว่า หมอกควันที่พบเจอในกรุงเทพฯ มีลักษณะคล้ายกับหมอกควันที่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ใช่หมอกควันตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการเผาไหม้ และมีขนาดเล็กกว่า คือ 2.5 ไมครอน สามารถหลุดรอดเข้าไปในชั้นกรองหรือกลไกการป้องกันของร่างกายได้ สามารถผ่านขนจมูก เข้าไปในร่างกาย จนไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของปอด ทั้งถุงลม และระบบทางเดินหายใจ นอกจากขนาดของหมอกควันจะมีขนาดเล็กแล้ว ต้องดูเรื่องค่าความหนาแน่นของหมอกควันด้วย หากมีความหนาแน่นมากย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกาย  "หากอยู่ในพื้นที่ ที่กรมควบคุมมลพิษ ประกาศเป็นพื้นที่สีส้ม ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน และต้องเป็นหน้ากากอนามัยแบบ เอ็น 95 เพื่อกรองฝุ่นควันที่มีขนาดเล็ก หรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง งดสูบบุหรี่กลางแจ้ง เพราะยิ่งเพิ่มหมอกควัน อยู่ในพื้นที่แจ้ง มีโอกาสรับฝุ่นควัน"
          ส่วนฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) จะมีผลต่อร่างกายรุนแรงแค่ไหน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับเวลาที่สัมผัส อายุ ภูมิต้านทานแต่ละบุคคล และปริมาณฝุ่นละออง โดยอันตรายต่อร่างกายที่จะเกิดขึ้นได้ คือ ระบบตา ระคายเคืองตา ตาแดง แสบตา ตาอักเสบ ระบบผิวหนัง ระคายเคือง ผื่น คันผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ อาการระคายเคืองเยื่อบุจมูก แสบจมูก ไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่ ทำให้เกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ระบบหลอดเลือดหัวใจ อาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ เมื่อยล้า ทำให้เกิดโรค หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตาย เส้นเลือดในสมองตีบ
          ผศ.สุชาติ เกียรติวัฒนเจริญ นักวิชาการผู้ผลิตเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเกี่ยวกับฝุ่นควันสะสมผิดปกติในสภาพอากาศกรุงเทพฯ ระยะนี้ ว่า อาจเกิดจากหลายปัจจัยเกี่ยวพันกัน
          "น่าจะเกิดจากแหล่งผลิต เช่น เป็นช่วงที่การจราจรติดขัดมากกว่าปกติ ทำให้เกิดควันพิษท่อไอเสียออกมาพร้อมๆ กัน รวมถึงฝุ่นหมอกพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจปล่อยออกมาเยอะในบางพื้นที่ช่วงนี้ ประจวบกับเจอสภาพภูมิอากาศที่มีความกดอากาศสูง มีความหนาแน่นมาก ทำให้ฝุ่นไม่ลอยตัวแล้วพัดออกไปกระจายตกที่ต่างๆ หากสภาพอากาศเป็นปกติ ฝุ่นควันเหล่านี้จะถูกพัดลอยออกไป โดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่มีลมเย็นมาช่วย และพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ไม่ไกลจากอิทธิพลของลมบก ลมทะเล ช่วยพัดพาออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กรุงเทพฯ ไม่ค่อยเจอสภาวะฝุ่นควันลอยค้างอยู่ในอากาศแบบนี้"
          หากเปรียบเทียบปรากฏการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกับฝุ่นควันที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่เผชิญกับมลพิษเหล่านี้ทุกปีเช่นกัน นักวิชาการท่านนี้อธิบายว่า ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ น่าจะมาจากท่อไอเสียรถยนต์และจากโรงงาน แตกต่างจากเชียงใหม่หรือภาคเหนือที่เกิดจากการเผาต้นไม้หรือการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตร
          ผศ.สุชาติ บอกด้วยว่า ค่าที่วัดเป็น PM10 หรือ PM2.5 นั้น แล้วแต่ความละเอียดของเครื่องมือ หากคำนึงถึงอันตรายต่อสุขภาพร่างกายควรวัดในระดับ PM2.5 เพราะเป็นฝุ่นควันขนาดเล็กสามารถแทรกลงไปถึง "ถุงลม"
          ถ้าเป็นฝุ่นขนาด PM10 เข้าไปถึงแค่ระดับอวัยวะที่เรียกว่า "แขนงปอด" ปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยวัดให้ละเอียดในระดับ PM0.2 หรือ 0.1 ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการวัดค่า
          "ขนาดการวัดของฝุ่นควันเปรียบเหมือนการโม่แป้ง ตอนต้นแป้งยังมีเม็ดใหญ่และถ้าโม่ไปนานๆ เม็ดจะละเอียดเล็กลงเรื่อยๆ หรือบางส่วนกลายเป็นฝุ่นแป้ง เพราะฉะนั้นฝุ่นควันที่ยิ่งละเอียดมาก ก็ยิ่งอันตรายมาก เพราะฝุ่นเหล่านี้มีสารเคมีพิษหรือโลหะหนักเป็นองค์ประกอบด้วย"
          ผศ.สุชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรฐาน PM2.5 ที่ตั้งไว้ไม่เกิน 50 มค.ก/ลบ.ม. หมายความว่าธรรมชาติช่วยกำจัดฝุ่นนี้ออกไปได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ตัวเลขยิ่งสูงเกินมาตรฐานเท่าไร หมายถึงฝุ่นควันสะสมยิ่งเข้มข้นทำให้ถูกกำจัดยากขึ้น ปกติแล้วร่างกายมนุษย์มีเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ ถ้าสูดควันพิษที่เข้มข้นและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เม็ดเลือดขาวก็สู้ไม่ไหว ทำให้มีอาการระคายเคือง ไอ หายใจติดขัด หอบ เหนื่อยง่าย


pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved