HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 12/02/2561 ]
เกมต้นตอโรคจิตเวชคนรุ่นใหม่

ปี 2560 พบเด็กและวัยรุ่นป่วยเป็นโรคติดเกมเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว ย้ำเร่งหาทางป้องกันแก้ไข เพราะเกมจะกลายเป็นต้นตอสำคัญของการป่วยโรคจิตเวชคนรุ่นใหม่
          นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัญหาการติดเกมของเด็กและวัยรุ่นไทยขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก สังคมต้องช่วยกันแก้ไขป้องกันเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า ในปี 2560 มีเด็กป่วยเป็นโรคติดเกมรายใหม่เข้ารับการรักษารวม 129 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 6 เท่าตัว จนถึงขณะนี้มีเด็กที่ป่วยและได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ว่าเป็นโรคติดเกมรวม 429 ราย หรือพบได้ 1 ใน 3 ของเด็กป่วยทั้งหมด มากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคสมาธิสั้น และปัญหาพฤติกรรมดื้อรั้น โดยพบในเด็กผู้ชายมากกว่าหญิงอัตรา 7 ต่อ 1 อายุน้อยสุด 5 ขวบ มากสุด 17 ปี เด็กที่ป่วยใช้เวลาเล่นเกมเฉลี่ยวันละ 5 ชม.
          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวถึงผลการศึกษาของทีมจิตแพทย์เด็กฯ ที่ตรวจรักษาเด็ก 6-17 ปี ที่ป่วยเป็นโรคติดเกมว่า จะพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ ด้วยถึง 3-8 โรคมากที่สุดคือโรคสมาธิสั้น พบทุกวัย ร้อยละ 77 เด็กจะวู่วาม อดทนต่ำ อันดับ 2 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 39 อันดับ 3 โรควิตกกังวลร้อยละ 38 อันดับ 4 เด็กมีปัญหาการเรียนรู้การเขียนการอ่านจะด้อยกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน 2 ชั้นปี พบได้ร้อยละ 35 โดยในกลุ่มอายุ 13-17 ปี จะพบโรคทางจิตเวชร่วมมากถึง 8 โรค ได้แก่ สมาธิสั้น ปัญหาการเรียนรู้ โรควิตกกังวลกลัวเข้าสังคมย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรคจิตหวาดระแวง และโรคลมชักด้วย
          "การติดเกมจะขัดขวางพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม เกิดผลเสียกับอนาคตของเด็กทั้งบุคลิกภาพ ความคิด การเรียน การทำงาน เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก ทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว โรงเรียน และสังคม ต้องเร่งป้องกันแก้ไขก่อนสายเกินแก้ มิฉะนั้น เด็กและเยาวชนไทยที่มีไอคิวดี อาจกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีสมรรถนะเสื่อมถอยเรียนไม่ได้ และเกมจะกลายเป็นต้นตอสำคัญของการป่วยโรคจิตเวชคนรุ่นใหม่" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
          ด้าน พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ กล่าวว่า ในปี 2559 คาดว่า มีเด็กไทยเข้าข่ายติดเกมแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วยประมาณ 1.6 ล้านคน ผลกระทบที่เกิดตามมากับการเล่นเกมออนไลน์พบว่า เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายพ่อแม่ ทำลายข้าวของร้อยละ 42 ไม่ไปโรงเรียน ร้อยละ 39 พยายามฆ่าตัวตาย ฆ่าเพื่อน พบร้อยละ 2 ที่รุนแรงคือหนีออกจากบ้านและออกจากการศึกษาภาคบังคับ เริ่มพบร้อยละ 4 สาเหตุหลักเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมของครอบครัว เช่น ขาดวินัย
          ทั้งนี้ เด็กที่เป็นโรคติดเกมจะมีอาการสำคัญคือ เล่นเกมมาก หงุดหงิดถ้าไม่ได้เล่น มีปัญหาการเรียน ซึมเศร้า กังวล ก้าวร้าวไม่ฟังใคร การดูแลรักษาจะใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งใช้ยา การบำบัดจิตใจ พฤติกรรมบำบัดครอบครัวด้วย และติดตามเยี่ยมบ้าน ค่ารักษาโรคติดเกมขั้นต่ำประมาณ 50,000 บาท จนถึงกว่า 250,000 บาทต่อคนต่อปี ใช้เวลาการรักษานานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาป่วยด้วย


pageview  1205146    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved