HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/01/2561 ]
เปิดปฏิบัติการดูแลโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการ ของขวัญวันเด็ก ปี 2561 คัดกรอง-ส่งต่อ-รักษา

อีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิตที่สำคัญของประเทศไทย
          โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่เกิดจากความบกพร่องของพัฒนาการทางสมอง ทำให้มีปัญหาทางพฤติกรรมด้านสมาธิและการควบคุมตนเอง และที่น่าตกใจและเป็นกังวลยิ่งไปกว่านั้น คือปัญหาสมาธิสั้นเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
          ที่น่าตกใจคือข้อมูลล่าสุดของ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในปี 2555 ระบุชัดว่า พบความชุกของโรคสมาธิสั้นในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 ร้อยละ 8.1 หรือประมาณการได้ว่ามีเด็กนักเรียนไทยที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ 1 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 ทั่วประเทศ และหากเจาะลึกลงไปอีกจะพบว่าในจำนวนเด็กนักเรียน 100 คน มีเด็กนักเรียนถึง 8 คนที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งมีความใกล้เคียงกับข้อมูลจากรายงานการสำรวจสุขภาพเด็กประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2552 ที่พบว่าเด็กอายุ 3-17 ปี มีความชุกของโรคสมาธิสั้นอยู่ที่ร้อยละ 9 หรือ 5 ล้านคน
          โรคสมาธิสั้น สามารถแบ่งได้สองกลุ่ม ได้แก่ 1.อาการขาดสมาธิ เช่น เหม่อลอย ขี้ลืม ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น ว่อกแว่กง่ายจากสิ่งเร้าต่างๆ และ 2.อาการอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น เช่น มักยุกยิกอยู่ไม่สุข ปีนป่าย พูดมาก พูดแทรก อดทนรอคอยไม่ได้ เป็นต้น ในบางรายมีทั้งสองกลุ่มอาการผสมกัน ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็ว จะส่งผลกระทบต่อตัวของเด็ก ทั้งทำให้มี ปัญหาด้านการเรียน ด้านสัมพันธภาพทางสังคมในการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และในระยะยาวยังจะมีผลต่อพัฒนาการในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เช่น มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ติดยาเสพติด เกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
          การพบว่าเยาวชนของประเทศกำลังป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อตัวเด็กเอง ครอบครัว และระดับประเทศ จากการสูญเสียทรัพยากรบุคคลและงบประมาณการดูแลรักษารวมทั้งในระบบบริการระดับปฐมภูมิยังมีช่องว่างทั้งในด้านบุคลากรสาธารณสุขที่ยังขาดการฝึกอบรมทักษะในการบำบัดรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการติดตามผู้ป่วยร่วมกันระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมสุขภาพจิต จึงจัดทำ โครงการวิจัยพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และครู ขึ้น
          นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และครูในเขตภาคเหนือ เล่าว่า ทีมวิจัยมีการพัฒนาแนวทางบริการเด็กโรคสมาธิสั้นแบบบูรณาการฯตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง ส่งต่อ วินิจฉัย บำบัดรักษา และติดตามที่ชัดเจน เพื่อลดช่องว่างของปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยค้นหาผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งโรคสมาธิสั้นในเด็กเป็นโรคที่รักษาให้หายได้โดยไม่ต้องใช้ยา ทั้งยังมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ
          "กรมสุขภาพจิตเตรียมขยายผลนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินงานในปี 2561 แนวทางดังกล่าว ต้องเริ่มจากที่บ้านโดย พ่อแม่ มีส่วนสำคัญในการสังเกตความผิดปกติด้านอารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ ควบคู่กับการใช้แบบประเมินคัดกรองโรคสมาธิสั้นหรือพฤติกรรม ต่อจากนั้น ครู จะร่วมสังเกตความผิดปกติด้านอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ ควบคู่กับการประเมินด้วยแบบคัดกรองความบกพร่องทางการเรียนรู้และออทิซึมพร้อมติดตามผล และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะประเมินอาการ ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการลดปัจจัยเสี่ยง ติดตามอาการ และ ส่งต่อเพื่อปรับพฤติกรรม โดยนักจิตวิทยาควบคู่กับแพทย์วินิจฉัยโรคสมาธิสั้น และจากการทำโครงการวิจัยฯ พบว่าเด็กสมาธิสั้นของผู้ปกครองที่ใช้เครื่องมือหรือผ่านหลักสูตร มีผลการเรียนและปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีขึ้น ทั้งนี้ การใช้แท็บเล็ต ไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น และใช้ได้เพราะเป็นของร่วมสมัย แต่เราต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์และเหมาะสม เด็กต้องได้รับการสัมผัส ฝึกอ่าน เขียนและพ่อแม่ต้องมีสมดุลและแบ่งเวลาให้ลูกด้วย" รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ขยายภาพการดูแลรักษาเด็กสมาธิสั้น
          ขณะที่ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวถึง การแก้ปัญหาโรคสมาธิสั้นในเด็กว่า ในปี 2561 สวรส.และกรมสุขภาพจิตได้ร่วมมอบของขวัญปีใหม่และวันเด็ก โดยนำความรู้ที่ได้จากโครงการวิจัยฯมาเผยแพร่แก่ประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นคู่มือการคัดกรองและปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นสำหรับผู้ปกครอง และ คู่มือสำหรับครูในการดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ในโครงการวิจัยฯยังมี สื่อและหลักสูตรสำหรับครูและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อใช้เป็นแนวทางมาตรฐานการดูแลเด็กในโรงเรียนและโรงพยาบาลเพื่อให้คนไทยเกิดการเรียนรู้และเข้าใจต่อโรคสมาธิสั้นในเด็ก สามารถรับมือได้อย่างถูกต้องเพื่อให้ลูกหลานและครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข
          ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า การให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดกรอง ส่งต่อ วินิจฉัย บำบัดและรักษาการป่วยโรคสมาธิสั้นในเด็ก เพื่อมอบเป็นของขวัญวันเด็กปี 2561 นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย เพราะการที่ได้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง ถือเป็นสุดยอดความปรารถนาของทุกคน
          คงเป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าเสียดายหากมีเด็กแม้แต่เพียงคนเดียวที่โชคร้ายเป็นโรคสมาธิสั้นต้องพลาดโอกาสทองในการได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
          เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในอนาคตและถือเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาประเทศชาติต่อไป.
          บรรยายใต้ภาพ
          นพ.พีรพล
          นพ.สมัย


pageview  1204999    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved