HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 28/12/2560 ]
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ไขภูมิปัญญา นวดตอกเส้น

 เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ณ วัดสีมาราม ภายหลังการเปิด "โครงการพัฒนากระบวนการรับรองหมอพื้นบ้านด้านการนวดตอกเส้น" นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า "การนวดตอกเส้น" เป็นวิถีทางและภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพของชุมชนในแถบภาคเหนือที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และเป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ในระบบการแพทย์พื้นบ้านล้านนา เป็นวิธีบำบัดรักษาอาการทางกายอีกวิธีหนึ่งเพื่อผ่อนคลายอาการปวดเมื่อย รวมทั้งรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่าง ๆ ต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่คนภาคเหนือเรียกว่า "หมอเมือง" ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญและได้รับการฝึกฝนจนแตกฉานและมีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์สำหรับการนวดตอกเส้น ผู้ที่ทำการตอกเส้นจะตอกไปตามร่องกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเลาะตามแนวกระดูก โดยระมัดระวังไม่ให้โดนกระดูก โดยตรง การตอกจะไปกระตุ้นในจุดที่เป็นปัญหาปวดเมื่อยเนื่องจากเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ จะทำให้เส้นที่อยู่ลึกลงไปดีดขึ้นมาและกระตุ้นเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อให้เลือดสูบฉีดได้มากขึ้น ช่วยให้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อดีขึ้นโดยก่อนการตอกเส้นรักษาทุกครั้งจะต้องมีการตรวจร่างกายวินิจฉัยอาการที่คนไข้เป็น
          "การนวดตอกเส้น" ถือเป็นความเชื่อซึ่งผูกเชื่อมกับวัด พระ หรือศาสนาซึ่งมีมานาน โดยมี "หมอเมือง" หรือพ่อหมอ แม่หมอ เป็นผู้นวดตอกเส้นตามเส้นประธานสิบ มีการทาน้ำมันงาหุงกับว่านสมุนไพรต่าง ๆ ตามแนวเส้น อาศัย พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เข้ามาช่วย พร้อมเป่ามนต์ดลบันดาลให้หายเจ็บป่วย ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการรักษา ทำให้คนไข้มีความหวัง อาการเจ็บป่วยดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่ง "การนวดตอกเส้น" จะช่วยฟื้นฟู ทั้งโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กระดูกทับเส้น เส้นเอ็นตึง ปวดข้อเข่า รวมทั้งโรคไมเกรน
          นายแพทย์เกียรติภูมิยังกล่าวอีกว่าความรู้เรื่องการนวดตอกเส้น ส่วนใหญ่เป็นความรู้และประสบการณ์ในตัวหมอเมือง (Tacit knowledge) วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้ศึกษาและวิจัยองค์ความรู้ชุดที่ได้ สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้บันทึกความรู้การตอกเส้นของหมออินสม สิทธิตัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียง ราย ได้รวบ รวมความรู้หมอพื้นบ้าน 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ไว้ 200 คน สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รวบรวมองค์ความรู้หมอเมืองจังหวัดลำพูนจำนวน 80 คน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีของความร่วมมือที่จะสามารถรับรองหมอพื้นบ้านได้
          ปัจจุบัน "การนวดตอกเส้น" ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งโรงพยาบาล สถานพยาบาล สปา ร้านนวด หลายแห่งใช้การตอกเส้นเป็นหนึ่งในบริการ ถึงแม้ว่าการตอกเส้นจะเป็นการบำบัดที่ได้ผลที่ดีเยี่ยมแต่ขอแนะนำผู้ใช้บริการให้เลือกใช้สถานบริการที่มีใบอนุญาตจากสาธารณสุขอย่างถูกต้องเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่แนะนำให้ใช้บริการนวดตอกเส้นได้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูก รวมถึงผู้ที่ตั้งครรภ์ สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคที่มีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะมารับการนวดตอกเส้น นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
          ด้านพ่อหมอสมใจ เดชชิต อายุ 72 ปี หนึ่งในหมอนวดตอกเส้นชาว อ.บ้านโฮ้ง จ.ลำพูน เล่าว่าเป็นหมอตอกเส้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยเริ่มต้นมาจากความอยากรู้ของตนเองว่าการตอกเส้นสามารถรักษาคนไข้ที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้อย่างไร ประกอบกับครอบครัวตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อเป็นหมอเมือง เป่า เช็ด แหกและเป็นหมอยาไทย แต่ยังไม่มีใครเป็นหมอตอกเส้น จึงได้ไปเรียนและรับการถ่ายทอดวิชาตอกเส้นมาจากพ่อหมออินสม 18 ปีกับการเป็นหมอตอกเส้นได้รักษาคนที่ปวดเมื่อย ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาลีบไม่มีแรงเดินไม่สะดวก หรือคนที่เป็นเหน็บชามาแล้วกว่าหลายพันราย และได้ถ่ายทอดวิชาหมอตอกเส้นให้กับลูกศิษย์มากกว่า 100 ราย ห่วงก็แต่ศาสตร์การรักษาด้วยการนวดตอกเส้นจะไม่มีใครสืบทอด เพราะลูกหลานไปทำอาชีพอื่นกันหมด มาถึงวันนี้จึงดีใจมากที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้เข้ามาส่งเสริมสนับสนุน และให้การรับรองการนวดตอกเส้นเป็นภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านที่ยังคงอยู่คู่กับเมืองล้านนาสืบไป
          นอกจากนี้ นายแพทย์เกียรติภูมิ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการอุทยานวิจัยนวัตกรรมสมุนไพรภาคเหนือร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายแผนงานบริหารการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยมี ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อสร้างความร่วมมือในการวิจัย พัฒนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรและถ่ายทอดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการวิจัยสมุนไพรไทย สานต่อนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง พุ่งเป้าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยพืชสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจและบริการธุรกิจเชิงสุขภาพ
          ทั้งนี้อาคารอำนวยการอุทยาน วิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ในพื้นที่การศึกษาแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์บริการนวัตกรรมครบวงจร (Total Innovation Solution Center) บนพื้นที่ใช้สอย 20,750 ตารางเมตร ที่ให้บริการเชื่อมโยงธุรกิจภาคเอกชนหน่วยงานภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญจากภาคการศึกษาด้วยการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม การบ่มเพาะธุรกิจ รวมทั้งพื้นที่ให้บริการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรม เช่น R&BD Unit, Office Space, Co-working Space, ห้องประชุมหลากหลายขนาด, หอประชุมเมล็ดข้าว 440 ที่นั่ง ฯลฯ พร้อมแวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียม ธนาคาร สถานออกกำลังกาย (Fitness) อย่างเต็มรูปแบบ มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 นี้.


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved