HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/12/2560 ]
เชื้อร้ายอมตะ ซุกในไทย!! ภัย โรคแอนแทรกซ์ คืนชีพ


          เป็นอุบัติการณ์ที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเข้มงวดต่อเนื่อง หลังมีรายงานการพบผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ตาก ที่มีอาการป่วยโดยมีแผลลักษณะต้องสงสัยติดเชื้อ "แอนแทรกซ์" หลังชำแหละและรับประทานเนื้อแพะที่นำข้ามฝั่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน!!...
          "แอนแทรกซ์" ชื่อนี้ เชื้อโรคชนิดนี้ ถูกกล่าวขานถึงมายาวนาน สร้างความหวาดหวั่นทั่วโลก อีกทั้งยังเชื่อมโยงถึงการพัฒนาเป็น อาวุธชีวภาพ อาวุธเชื้อโรค ซึ่งสำหรับประเทศไทย จากรายงานข่าว...พบผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ครั้งสุดท้ายตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จากนั้นไม่พบอีกเลย กระทั่งครั้งนี้ ดังที่มีรายงานข่าวปรากฏขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้...
          เชื้อร้าย "แอนแทรกซ์" นี้เป็นอย่างไร?? รวมถึงการป้องกันตนเองเพื่อหลีกไกลจากเชื้อร้ายนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่น่ารู้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความรู้ความเข้าใจไว้ว่า "โรคแอนแทรกซ์"หรือโรคที่มีชาวบ้านเรียกว่า "โรคกาลี" เป็นโรคที่ปรากฏขึ้นมาแต่โบราณกาล เป็นโรคระบาด สำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 โดย เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง อย่างเช่น ช้าง เก้ง กวาง โค กระบือ แพะ แกะ ซึ่ง ติดต่อสู่คน และติดต่อสู่สัตว์อื่น ๆ ได้ เช่น เสือ สุนัข แมว สุกร ฯลฯ
          เดิมโรคแอนแทรกซ์มักจะเกิดในพื้นที่ที่มีประวัติว่าเคยมีโรคนี้ระบาดมาก่อน แต่ปัจจุบันเนื่องจากการคมนาคมสะดวกและรวดเร็ว การนำสัตว์ที่ป่วยหรืออยู่ในระยะฟักตัวของโรคไปขายในท้องถิ่นอื่นสามารถทำให้เกิดการกระจายของโรคได้
          "แอนแทรกซ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า บาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) ซึ่งเมื่อนำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยมาย้อมสีแกรมจะพบ square-ended gram-positive rods ขนาดใหญ่อยู่เดี่ยว ๆ หรือต่อกันเป็น short chains เมื่ออยู่ในที่แห้งและภาวะอากาศไม่เหมาะสมจะสร้างสปอร์หุ้มเซลล์ไว้ มีความทนทานมาก ทั้งความร้อน ความเย็น และยาฆ่าเชื้อ อยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบ ๆ ปี"...นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลจำเพาะของเชื้อร้ายนี้
          เชื้อชนิดนี้ ก่อให้เกิดโรคในคนได้ 3 รูปแบบ คือ ทางผิวหนัง ทางระบบหายใจ ทางระบบทางเดินอาหาร แต่ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อทางผิวหนัง โดยการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือสัมผัสผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย ทั้งนี้ การที่โรคติดมาสู่คน เนื่องจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดความระมัดระวัง หรืออาจเป็นเพราะการชำแหละสัตว์ที่ป่วยตายเพื่อนำเนื้อมาบริโภค
          แต่อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้ง มักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อมา นอกจากนี้ยังพบว่า การติดเชื้อทางผิวหนังเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล ส่วนโรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ เกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นที่มีการระบาดของโรค แต่การติดต่อทางระบบหายใจนั้นที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานในประเทศไทย
          ส่วนแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหาร และออโร ฟาริง มีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้โดยไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ ซึ่งส่วนมากสัตว์จะติดโรคจากการกิน และหายใจ โดยได้รับสปอร์ซึ่งอยู่ตามทุ่งหญ้าที่เคยมีสัตว์ป่วยตายด้วยโรคนี้
          "แอนแทรกซ์" เป็น "โรคติดต่ออันตรายร้ายแรงของสัตว์" แทบทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โดยอัตราป่วยตายสูงมาก ร้อยละ 80-90 ส่วนมากมักเกิดในสัตว์ที่กินหญ้าเป็นอาหารก่อน เช่น โค กระบือ แพะ แกะ ม้า ลา ล่อ แล้วจึงติดต่อไปยังสัตว์อื่น เช่น สุกร สุนัข แมว หรือสัตว์ป่าอย่างอื่นที่มากินซากสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้
          มองในด้านสถานการณ์โรคในไทย จากข้อมูลระบุไว้ว่า ก่อนระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยในทุกภาคของประเทศ ส่วนมากติดโรคจากโค กระบือ หรือบางครั้งติดต่อจากแพะ จากแกะ แต่ระยะ 10 ปี กว่า ๆ ที่ผ่านมาไม่พบโรคนี้ในภาคใต้ แต่พบในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากมักพบผู้ป่วยตามจังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จากการลักลอบนำโค กระบือ ที่ติดโรค ที่ยังมีชีวิต เข้ามาชำแหละเนื้อจำหน่าย หรือนำเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้เข้ามาจำหน่ายในราคาถูก
          นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงการเกิดโรคแอนแทรกซ์ในประเทศไทยนับแต่ปี พ.ศ. 2538-2543 โดยมีรายงานสูงที่สุดในปี 2538 มีผู้ป่วย 102 ราย แต่ไม่มีการเสียชีวิต ส่วนปี 2544-2547 ไม่มีรายงานโรคแอนแทรกซ์ในคนเกิดขึ้นในประเทศไทย...
          ด้วยเหตุที่โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน ทั้งจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อที่ไม่ได้ปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง ดังที่กล่าวมา จึงยิ่ง ประมาทโรคนี้ไม่ได้เด็ดขาด!!ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะมีอาการตามลักษณะการติดต่อ โดย การติดเชื้อที่ผิวหนัง ผิวหนังที่ติดเชื้อจะมีลักษณะเป็นผื่นนูน คัน แต่ไม่เจ็บ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพองแล้วแตกเป็นแผลแดงนูน ซึ่งต่อมาจะเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ และเกิดเป็นแผลเนื้อเน่าตายได้, การติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร จะมีไข้ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาการอาหารเป็นพิษ, การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก ซึ่ง หากรับการรักษาไม่ทัน หรือไม่ถูกต้อง อาจเสียชีวิตได้ กรณีที่มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ในพื้นที่ จ.ตาก ก็ได้มีการเน้นย้ำ แนะนำ ถึง การป้องกัน โดย หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้รีบแจ้งปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที, หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางและหน้ากากอนามัยทุกครั้งและล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสซากสัตว์
          หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือให้สัตว์อื่นกิน และกรณีเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสัตว์ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค และหากเริ่มมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้นควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถสอบถามเรื่องนี้เพิ่มได้ที่สายด่วน 1422
          ทั้งนี้ นอกเหนือจากที่ระบุมาแล้ว ยังมีข้อมูลในเว็บไซต์ข้อมูลในคลังความรู้สำนักโรคติดต่อทั่วไป ที่ให้คำแนะนำไว้ว่า กรณีพบสัตว์ที่สงสัยว่าจะเป็น "โรคแอนแทรกซ์"ไม่ควรเคลื่อนย้ายและผ่าซากสัตว์ แต่ควรรีบแจ้งสัตวแพทย์ให้ตรวจดูโดยเร็ว ซึ่งหากสัตวแพทย์อยู่ไกล ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อปรึกษาในเรื่องการทำลายซากสัตว์ให้ถูกวิธี
          อีกทั้งควรรีบให้สัตวแพทย์ฉีดวัคซีนสัตว์ที่เหลือโดยรอบพื้นที่ ห้ามนำสัตว์ไปเลี้ยงบริเวณที่มีสัตว์ป่วยตายสักระยะหนึ่ง รวมถึงทำลายเชื้อตามคอก บริเวณที่สัตว์ป่วยตาย บริเวณที่ผูกล่ามสัตว์ป่วย โดยใช้โซดาไฟ 5% หรือปูนขาว เป็นต้น
          ...ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นข้อมูลน่ารู้ เป็นสิ่ง "ควรรู้-ควรปฏิบัติ" สำหรับ "กรณีแอนแทรกซ์" ที่ต้อง "ป้องกันภัย" เอาไว้ก่อน โดยที่ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะล่าสุดพบ ผู้ป่วยไม่ได้พบการระบาด แต่ก็ "ต้องไม่ประมาท"...
          "เชื้อร้ายอมตะ" ชื่อ "แอนแทรกซ์".
          "อยู่ในธรรมชาติได้นานเป็นสิบๆ ปี!!"


pageview  1204951    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved