HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 18/09/2560 ]
อัพเดท: 'UCEP' สิทธิควรรู้ เมื่อเผชิญนาทีวิกฤติ

อุบัติเหตุถือเป็นเรื่องสุดวิสัย บางกรณีแม้ใช้ความระแวดระวังแค่ไหน แต่เมื่อถึงคราวเคราะห์ เรื่องร้ายๆ ทั้งหลายก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อถึงตอนนั้น เชื่อว่าหลายคนย่อมต้องให้ความสำคัญ กับการรักษาร่างกายมากกว่าสนใจเรื่องทรัพย์สินที่ต้องใช้ชำระค่าเยียวยารักษา แต่ในโชคร้ายก็ยังมีเรื่องดี เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ตอนนี้คนไทยสามารถใช้สิทธิ UCEP เพื่อเข้ารักษาอาการบาดเจ็บร้ายแรงบางประเภทได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องสำรองจ่ายในระยะเบื้องต้นได้แล้ว
          นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ของรัฐบาล เกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤตทุกคน ไม่ว่าสิทธิใดก็ตาม ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุด นอกเหนือจากกองทุนคู่สัญญารัฐทั้ง 3 กองทุนอย่างกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตและลดความพิการให้เกิดน้อยที่สุด โดยไม่ต้องสำรองเงินค่ารักษาพยาบาลในระยะเบื้องต้น 72 ชั่วโมงแรก โดยผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ ตามโครงการนี้ หมายถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะความเสี่ยงของอาการที่คุกคามต่อชีวิตหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันที เพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น รุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว
          ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์โครงการนี้ ได้แก่ 1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่รู้สึกตัว 2. มีอาการทางสมอง การรับรู้ สติเปลี่ยนไป บอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3. หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ พูดได้แค่สั้นๆ ส่งเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจจนใบหน้า มีอาการเขียวคล้ำ 4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือรู้สึกวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5. อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6. อาการ อื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรง แขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น
          สำหรับการเข้ารับการรักษาตามสิทธิ UCEP ประชาชนหรือครอบครัวของผู้บาดเจ็บควรตรวจสอบสิทธิพื้นฐานของตนว่า โรงพยาบาลที่ตนได้ยื่นขอรับการรักษานั้นอยู่นอกสัญญาตามสิทธิการรักษาตามปกติ เพื่อแจ้งให้โรงพยาบาลทราบในกรณีที่ขอใช้สิทธิ UCEP ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในเวลา 72 ชั่วโมง เมื่อครบระยะคุ้มครอง ภายหลังจากที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตบันทึกข้อมูลผู้ป่วยลงในระบบแล้ว โรงพยาบาลที่ให้การรักษาจะบันทึกการประเมินผู้ป่วยในระบบโปรแกรม Preauthorization จากนั้น ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ จะแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิประจำตัวผู้ป่วยทราบทันที เพื่อให้กองทุนรับย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาตามปกติภายในเวลา 72 ชม. หรือภายหลังจากที่ผู้ประสบเหตุพ้นจากภาวะวิกฤตแล้ว อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่มีข้อถกเถียงเรื่องอาการฉุกเฉินว่า เข้าขั้นวิกฤติหรือไม่นั้น โรงพยาบาลที่ผู้ป่วยขอเข้ารับการรักษาจะเป็นผู้คัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด
          ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 สิงหาคม 2560 มี ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 5,782 ราย จากผู้ขอใช้สิทธิทั้งหมด 12,710 ราย  มากที่สุดคือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รองลงมาคือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และกองทุน อื่นๆ
          "ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตดังกล่าว สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทันทีเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด อย่าให้เสียโอกาสในช่วงนาทีวิกฤตของชีวิต หากเจ็บป่วยฉุกเฉินโทร.ขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง และหากประชาชนหรือสถานพยาบาลมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ โทร. 0-2872-1669 หรือ ucepcenter@niems.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง" นายแพทย์โสภณกล่าวในตอนท้าย


pageview  1204908    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved