HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 26/04/2555 ]
เชียงใหม่แล้ง14อำเภอ จี้ประหยัดน้ำร้อนรถไฟตกราง พิษบ้านมุงสังกะสี คนแก่ดับแล้ว2ศพชี้ฮีตสโตรกถึงตาย

 ลุงคนทำความสะอาดปั๊มย่านปทุมธานี นอนเสียชีวิตคาบ้านมุงสังกะสี คาดร้อนตาย โคราชร้อนตับแลบ
          เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ต.ท.ขวัญชาติแจ่มจำรัส สารวัตรเวรสอบสวน สภ.คูบางหลวงได้รับแจ้งเหตุจากเด็กปั๊มน้ำมัน ปตท.หจก.ผลเพิ่มค้าน้ำมัน เลขที่ 38/32 ถนนปทุมธานีลาดหลุมแก้ว ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้วจ.ปทุมธานี ว่าคนทำความสะอาดปั๊มนอนเสียชีวิตในห้องพักให้ไปตรวจสอบด้วย จึงไปที่เกิดเหตุพร้อมด้วยแพทย์ รพ.ลาดหลุมแก้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่เกิดเหตุเป็นห้องพักคนงานภายในด้านหลังปั๊มน้ำมันพบร่างนายวีระศักดิ์ อาดำ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 32/6 หมู่ 8 ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี นอนหงายสวมใส่เสื้อยืดกางเกงขายาวเสียชีวิตมาแล้วกว่า 10 ชั่วโมง
          จากการสอบสวนนายวินัย อาดำ อายุ 41 ปีน้องชาย ให้การว่าตนมีอาชีพขายลูกชิ้นทอดภายในปั๊มน้ำมัน ส่วนพี่ชายเป็นคนทำความสะอาดภายในปั๊ม ซึ่งพี่ชายจะตื่นตอนเช้ากวาดปั๊มทำความสะอาดเป็นประจำทุกวัน แต่วันนี้เห็นว่าสายแล้วพี่ชายไม่ออกมาทำความสะอาดเหมือนทุกวันที่ผ่านมา จึงไปเคาะเรียกที่ห้องก็ไม่มีเสียงตอบจึงงัดประตูเข้าไปพบพี่ชายนอนเสียชีวิตแล้ว จากการตรวจสอบบ้านพักพบว่าเป็นหลังคามุงด้วยสังกะสีฝาไม้อัดทำให้ภายในห้องพักร้อนอบอ้าว คาดว่าผู้เสียชีวิตอายุมากแล้วและอากาศร้อนทำให้เสียชีวิตดังกล่าว ญาติไม่ติดใจการเสียชีวิตจึงมอบศพให้ไปดำเนินการทางศาสนาอิสลามต่อไป
          วันเดียวกัน ร.ต.อ.ประเวศ พลอยพันธุ์ พนักงานสอบสวน สภ.ปราสาท จ.สุรินทร์ รับแจ้งจากศูนย์วิทยุกู้ชีพ โรงพยาบาลปราสาท ว่า มีคนนอนตายที่บ้านเลขที่ 13 บ้านหนองกวล หมู่ 16 ต.กังแอน อ.ปราสาท จึงพร้อมด้วยหน่วยกู้ชีพปราสาทรุดไปที่เกิดเหตุเป็นบ้านเรือนไม้ชั้นเดียวมุงสังกะสี พบร่างนางกิน ถุนาพันธ์ อายุ 88 ปีนอนตายอยู่บนเตียง ภายในบ้านสภาพอากาศร้อนอบอ้าว อุณหภูมิ 38 องศา ทราบว่า ผู้ตายมีประวัติป่วยด้วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง สันนิษฐานว่านอกจากโรคประจำตัวแล้วและอากาศร้อนทำให้ช็อกตาย
          ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่โรคจากอากาศร้อนอย่างเดียว แต่สามารถเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้ได้ด้วย กรมควบคุมโรคประกาศเฝ้าระวังโรคหน้าร้อน แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาวะเจ็บป่วยที่เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง เช่น ลมแดด ตะคริวแดด หวัดแดดภาวะเสียน้ำ ผิวไหม้ และกลุ่มโรคที่มีผลสืบเนื่องจากอากาศร้อน เพราะอากาศจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโต ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับโรคฮีตสโตรกหรือลมแดดนั้น มีระบบเฝ้าระวังและสอบสวนโรคอยู่ แต่ตามปกติ โรคฮีตสโตรกที่จะทำให้เสียชีวิต มักเกิดในประเทศที่มีอากาศหนาว เพราะคนเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในเขตอากาศร้อน อบอุ่นจะสามารถปรับตัวให้ทนกับอากาศร้อนได้ดีกว่าและมีสีผิวที่เป็นตัวป้องกันแสงแดด ไม่เหมือนคนขาวจะไหม้ได้ง่ายกว่า เมื่อประเทศเมืองหนาวเกิดคลื่นความร้อน จะมีรายงานผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นมากกว่า เพราะสมองปรับตัวไม่ได้ ความร้อนทำให้ศูนย์สั่งการของสมองเสียไปส่วนคนไทยจะปรับตัวได้ดีกว่า เมื่อเจออากาศร้อนสมองจะสั่งการให้ระบายความร้อน คือ ขับเหงื่อออกมาทำให้ประเทศไทยมีรายงานการเสียชีวิตจากอาการฮีตสโตรกโดยตรงน้อยมาก ส่วนใหญ่เมื่อสอบสวนโรค จะพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากโรคประจำตัว มีอากาศร้อนมีส่วนทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิต โรคลมชัก
          "ปัจจัยที่จะระบุได้ว่า คนคนนั้นเสียชีวิตจากฮีตสโตรก คือ ไม่มีโรคประจำตัว อุณหภูมิเกิน 40 องศาอย่างรวดเร็ว พบว่าผู้ที่จะเกิดอาการฮีตสโตรกได้ มักทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานานอยู่ในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น รถยนต์กลางแดด หรือรถที่แน่นๆ ช่วงที่อากาศร้อน จึงควรหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดและใส่อุปกรณ์ป้องกันหากต้องออกแดด ไม่อยู่ในสถานที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเท ลดความร้อนในร่างกายด้วยการดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ และเพียงพอ ก็จะสามารถช่วยลดความเจ็บป่วยลงได้" นพ.สุวรรณชัยกล่าว
          ที่ จ.นครราชสีมา อากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดวันเดียวกันนี้วัดได้ 38 องศาเซลเซียส เกินระดับอุณหภูมิของร่างกายที่ 37 องศาเซลเซียสและยังคงมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นอีก ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จึงออกมาเตือนประชาชนให้ระวังโรคฮีตสโตรก ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบสมองในช่วงที่ร่างกายได้รับความร้อนเกินกว่าที่จะทนรับได้ ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
          นพ.วรัญญู สัตยวงศ์ทิพย์ ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โรคฮีตสโตรก นั้นแบ่งได้ 3 ระดับ คือ ระดับแรกเมื่ออุณหภูมิในอากาศสูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายจะทำให้ระบบการระบายความร้อนของร่างกายออกสู่อากาศ หรือการขับของเสียออกจากร่างกายในรูปของเหงื่อทำงานหนัก หากร่างกายต้องเผชิญกับแสงแดดและความร้อนเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีอาการหน้ามืดหมดสติ หรือที่เรียกว่าโรคลมแดด ระดับที่ 2 ระบบประสาทรวนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และมีอาการชักสุดท้ายคือระดับโคม่า ระบบการทำงานของประสาทจะหยุดชะงักไม่มีการสั่งการ ต่อมเหงื่อไม่สามารถทำงานขับเหงื่อออกมาลดอุณหภูมิภายในร่างกายได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงทีอาจถึงแก่ชีวิตได้
          "อาการเหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นตามระดับแต่สามารถข้ามขั้น และแสดงอาการได้ทันทีทุกระดับ กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการของโรคดังกล่าวจะอยู่ในกลุ่มของผู้ที่ต้องทำงานอยู่กลางแดดตลอดทั้งหมด โดยเฉพาะทหารเกณฑ์ที่ต้องฝึกอยู่กลางแดดที่จัดเป็นระยะเวลานาน การป้องกันควรที่จะดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับอุณหภูมิ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดเป็นระยะเวลานานโดยตรง และหากมีอาการถึงขั้นโคม่าหรือระบบประสาทหยุดทำงานควรปฐมพยาบาลด้วยการทำให้ร่างกายของผู้ป่วยลดอุณหภูมิให้ได้โดยเร็วที่สุด นำไปตากพัดลม แอร์หรือแช่น้ำเย็นก็ได้" นพ.วรัญญูกล่าว
          นพ.วรัญญูกล่าวว่า เมื่ออากาศร้อนจัดคนส่วนใหญ่มักจะไปเล่นน้ำเพื่อคลายร้อน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างปิดเทอม มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตได้สูงกว่าช่วงปกติทั่วไป โดยแต่ละปีจะมีเด็กไทยอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 14 ปี จะเสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่า 1,500 คนต่อปี ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำทุกกลุ่มอายุเฉลี่ยปีละ 150 คน เป็นเด็กถึง 75-85 รายดังนั้นผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานตนเองอย่างใกล้ชิด
          ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ จ.เชียงใหม่ ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วรวม 14 อำเภอประกอบด้วย อ.ดอยหล่อ จอมทอง แม่แจ่มสันกำแพง สะเมิง แม่ออน ฝาง ดอยเต่า อมก๋อยฮอด แม่ริม เวียงแหง พร้าว และไชยปราการ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกให้ความช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
          "การประปาส่วนภูมิภาคเปิดให้บริการน้ำฟรีตั้งแต่เวลา 11.00-15.00 น. ทุกวัน หากพื้นที่ใดประสบปัญหาให้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือและนำรถน้ำไปรับบริการได้ทันที ส่วนหน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพขอความร่วมมือรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะประชาชนต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด"ม.ล.ปนัดดากล่าว
          ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า สถานการณ์น้ำโดยรวมของ จ.เชียงใหม่ อยู่ในเกณฑ์เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตรในช่วงฤดูแล้งนี้ โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ142 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น53% ของความจุเขื่อน มีการปล่อยน้ำลงเสริมในลำน้ำปิงประมาณ 5 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำปิงอยู่ที่ 1.25 เมตร พื้นที่รับน้ำเพื่อการเกษตรที่รับน้ำจากลำน้ำปิงจาก จ.เชียงใหม่และ จ.ลำพูน ไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 121 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 46% ของความจุเขื่อน คาดว่าจะสามารถนำไปบริหารน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เมื่อสิ้นฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 200 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 79%ของความจุเขื่อน จะทำให้การเพาะปลูกพืชฤดูถัดไปจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำเช่นกัน
          นายพิบูลย์ บัวแช่ม ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ทำลายสถิติเป็นครั้งที่ 5 ของปีนี้ เมื่อวันที่ 24 เมษายน อยู่ที่ระดับ 25,551 เมกะวัตต์จากล่าสุดไฟพีคเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ 25,178 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ กฟผ.จัดสรรปริมาณสำรองไฟฟ้า 20% หรือประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ยืนยันว่าเพียงพอแน่นอน ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องไฟดับหรือไฟตก แต่อยากให้ประชาชนร่วมกันประหยัดไฟฟ้าด้วย
          นายพิบูลย์กล่าวว่า คาดว่าสัปดาห์นี้การใช้ไฟฟ้าสูงสุดอาจทำลายสถิติอีกครั้งในวันที่ 26 เมษายน เพราะคาดว่าอุณหภูมิสูงสุดของปีนี้คือ40 องศาเซลเซียส โดย กฟผ.ตั้งแนวรับจะเกิดไฟพีคที่ 25,700 เมกะวัตต์ สำหรับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการขยายตัวทุกเดือน โดยช่วง 20 วันแรกของเดือนเมษายนการใช้พลังงานไฟฟ้าขยายตัว 8.4% ขณะที่เดือนมกราคมขยายตัว 5.9% เดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 6.9% และเดือนมีนาคม ขยายตัว12.1%

 


pageview  1205082    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved