HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 06/07/2560 ]
3 วิธีป้องกัน 'หญิงท้อง' ติด ไวรัสซิกา ในไทย

 หลังจากจังหวัดพิจิตรออกข่าวเตือนการพบ "ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา" 10 กว่ารายพร้อมเฝ้าระวังอีกเกือบ 20 ราย ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า
          ไวรัสร้ายตัวนี้กำลังระบาดในเมืองไทยหรือไม่? เป็นเชื้อตัวใหม่หรือโรคอุบัติใหม่หรือเปล่า? รวมถึงสถานการณ์ระบาดจากพิจิตรจะกระจายออกไปทั่วประเทศไทยหรือไม่?
          วันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี" ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เจ้าหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัยหลายราย เมื่อเอาผลไปตรวจสอบอย่างละเอียดจากห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อโรค ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อ "ไวรัส ซิกา" เขตพื้นที่ ต.บึงนาราง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร จำนวนทั้งสิ้น 27 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยัน 11 ราย และผู้ป่วยต้องสงสัย 16 ราย โดยผู้ป่วยทั้ง 27 ราย อยู่ในความดูแลของแพทย์โรงพยาบาลบึงนารางเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกเร่งสำรวจพื้นที่แพร่ระบาด โดยเฉพาะหาก ชาวบ้านมีอาการต้องสงสัยก็ส่งรักษาในโรงพยาบาลทันที รวมถึงการสั่งให้สาธารณสุขพิจิตรเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนทุกอำเภอ โดยเฉพาะ อ.บึงนาราง จัดให้มีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดตัวแก่ของยุงลายที่เป็นตัวแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกา
          ไวรัสร้ายตัวนี้กำลังระบาดในเมืองไทยหรือไม่ และเป็นเชื้อตัวใหม่หรือโรคอุบัติใหม่หรือเปล่า?
          เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วแทบไม่เคยมีใครได้ยิน หรือรู้จักคำว่า "ไวรัสซิกา"
          (Zika virus : ZIKV) จนกระทั่งแพร่ะระบาดอย่างหนักในประเทศบราซิล โดยไวรัสซิกาเป็นตระกูลเดียวกับพวกไวรัส ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อ ปกติแล้วผู้ป่วยไข้ไวรัสซิกามีอาการไข้ผดผื่น ไม่กี่วันก็หายเองได้ แต่ที่สร้างความหวาดผวาไปทั่วโลก เพราะฤทธิ์ร้ายที่แอบแฝงหากผู้ถูกยุงกัดเป็นหญิงตั้งครรภ์แล้วป่วยด้วยไข้ซิกา เมื่อคลอดออกมาอาจทำให้ทารกมีอาการ "หัวลีบเล็ก" ผิดปกติ
          สถานการณ์ของบราซิล ช่วงปี 2558 ประเมินว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา 1.3-1.5 ล้านคน โดยเฉพาะหญิงตั้งท้องนั้น ช่วงแรกไม่ได้เป็นกลุ่มที่เฝ้าระวังมากนัก จนกระทั่งมีรายงานทารกแรกเกิดคลอดออกมาจากมารดาที่ป่วยเป็นโรคซิการะหว่างตั้งครรภ์พบทารกหัวลีบเล็กสูงเกือบ 4,000 ราย หรือเป็น "โรคไมโครเซฟาลี" (Microcephaly) วงการแพทย์ไทยเรียก "โรคศีรษะเล็กกว่าปกติ" อาการเบื้องต้นพบกล้ามเนื้อทารกอ่อนแรง และมีการเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นเด็กร่างกายแคระแกร็น เด็กบางรายอาจเสียชีวิตหรือเติบโตโดยลักษณะการทำงานของสมองช้าหรือผิดปกติ
          จากข้อมูลข้างต้นทำให้ "องค์การอนามัยโลก" ตื่นเต้นมาก รีบออกสารแจ้งเตือนกระทรวงสาธารณสุขทั่วโลกว่า "ไวรัสซิกา" ทำให้ทารกแรกเกิดเป็น "โรคศีรษะเล็กกว่าปกติ" เพราะในบราซิลก่อนการระบาดของซิกาพบทารกศีรษะเล็กเพียงปีละไม่ถึง 200 รายเท่านั้น
          ล่าสุด องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2560 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2550 ถึงต้นปี 2560 พบประเทศที่รายงานผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาทั้งหมด 84 ประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
          1."ประเทศที่มีรายงานพบผู้ป่วยในพื้นที่ใหม่หรือมีการพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง" จำนวน 60 ประเทศ เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะเคย์แมน โคลอมเบีย คอสตาริกา คิวบา จาเมกา เวเนซุเอลา มัลดีฟส์ ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ ฯลฯ
          2."ประเทศที่มีรายงานพบ ผู้ป่วยก่อนปี 2559" จำนวน 18 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย เช่น แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ไนจีเรีย เฮติ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม
          3."ประเทศที่หยุดการ แพร่เชื้อแต่ยังคงมีโอกาสใน การเกิดการติดต่อของเชื้อ"จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่  ชิลี อเมริกันซามัว หมู่เกาะคุก เฟรนช์ พอลินีเชียนิวแคลิโดเนีย และวานูอาตู
          กระทรวงสาธารณสุขระบุสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาของไทยปี 2558 ตรวจเชื้อซิกา ผู้ป่วยประมาณ 100 ราย พบติดเชื้อ 5 ราย ปี 2559 ตรวจประมาณ 1 หมื่นราย พบติดเชื้อซิกา 392 ราย หรือร้อยละ 3-5
          หนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญไวรัสซิกาจากกระทรวงสาธารณสุขอธิบายให้ฟังว่า สำหรับประเทศไทยนั้น "ไวรัสซิกา" ถือเป็น "โรคประจำถิ่น" เคยมีการตรวจพบตั้งแต่ปี 2555 ที่ราชบุรี และที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยตรวจหาโรคนี้อย่างจริงจังนัก เพราะผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงกับโรคไข้เลือดออกเดงกีผสมกับไข้ชิคุนกุนยาที่มียุงเป็นพาหะเหมือนกัน จนกระทั่งสถานการณ์ระบาดที่บราซิล ทำให้ประเทศไทยเริ่มเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่ระบาดของยุงลาย ช่วงที่ผ่านมาหลังจากสุ่มตรวจจำนวนมาก พบผู้หญิงตั้งท้อง 3 ราย ที่ยืนยันว่าทารกเกิดมา หัวเล็กจากเชื้อไวรัสซิกา
          "เพราะการตรวจค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก จะเลือกตรวจเฉพาะคนที่เข้าข่ายต้องสงสัยเท่านั้น เช่น มีอาการ 2 อย่างร่วมกัน คือ 1.เป็นไข้ออกผื่น และ 2.มีอาการตาแดงหรือปวดตามข้อ แต่ถ้าไข้ออกผื่นธรรมดาไม่ถือว่าเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง แต่ไวรัสซิกาตรวจพบยาก ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ แค่ป่วยไข้ไม่กี่วันก็หาย ทำให้ไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริงว่า เมืองไทยมีอัตราการระบาดกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากร สรุปว่าโรคไวรัสซิกาไม่ใช่โรคใหม่ใน เมืองไทย เป็นโรคประจำถิ่นมานานแล้ว และในปีนี้ก็ไม่ได้มีการระบาดผิดปกติ ปกติจะพบทุกจังหวัด  แต่ที่พิจิตรพบกว่า 20 ราย เพราะเป็นจังหวัดที่ เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญและเฝ้าระวังตรวจเป็นพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าจังหวัดอื่นไม่มี เพียงแต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก และช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่มียุงลายเยอะ การ ระบาดจะเพิ่มมากขึ้นทุกจังหวัด ทั้งไข้เลือดออก  ชิคุนกุนยา และซิกา ไม่ใช่เฉพาะที่พิจิตรจังหวัดเดียว ส่วนเรื่องที่กลัวว่าจะระบาดไปยังจังหวัดอื่นนั้น  ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทุกจังหวัดมีไวรัสซิกาเป็นโรคประจำถิ่นอยู่แล้ว"
          ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นวิเคราะห์ว่า ไวรัสซิกา ไม่ค่อยน่ากลัวมากนักในเมืองไทย เพราะคนไทยมีภูมิต้านทานจากไวรัสซิกาพอสมควร เนื่องจากเป็นโรคประจำถิ่น แตกต่างจากบราซิลที่ถือเป็น "โรคอุบัติใหม่" มีคนต่างถิ่นหรือผู้เดินทางออกนอกประเทศเป็นพาหะนำเชื้อเข้าไปเผยแพร่ ทำให้การติดต่อของโรคหรือการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง เพราะร่างกายชาวบราซิลไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัสซิกาเลย
          สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นแนะนำวิธีป้องกันดังนี้
          1.หากอยู่ในพื้นที่ยุงลายระบาดหนัก ต้องใช้ยาทาป้องกันยุง และอยู่ในมุ้งลวดตลอดเวลา โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มียุงเยอะหรือพื้นที่ใกล้น้ำขัง 2.สำหรับคนในเมืองหรือคนที่อาศัยอยู่บ้านที่ไม่ค่อยโดนยุงกัด หากตั้งครรภ์ไม่ควรเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงถูกยุงลายกัด เพราะร่างกายอาจไม่มีภูมิคุ้มกันเหมือนคนท้องถิ่น และ 3.หากถูกยุงกัดแล้วมีอาการผื่นแดง ผสมกับอาการมีไข้ ปวดข้อ ปวดศีรษะ ตาแดง ให้รีบไปแจ้งสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลทันที จะได้บันทึกเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ "ผู้ป่วยซิกาหญิงตั้งครรภ์"
          จากนั้นเจ้าหน้าที่จะศึกษาประวัติเพิ่มเติม และเดินทางไปพบผู้ป่วยเป็นระยะๆ จนกว่าจะคลอดทารก และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะๆ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกยุงลายกัดแต่ไม่แสดงอาการของโรคซิกา ควรทำอัลตราซาวนด์เป็นระยะๆ เพื่อสังเกตความผิดปกติของทารก
          ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 กระทรวงสาธารณสุขประกาศ "โรคติดเชื้อซิกา" เป็นโรคติดต่อต้องแจ้งความตาม "พ.ร.บ.โรคติดต่อร้ายแรง" หากผู้ใดไม่แจ้งมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
          ขณะที่องค์การอนามัยโลกประกาศคำแนะนำและการควบคุมการแพร่เชื้อจาก "เพศสัมพันธ์" โดยแนะนำให้ผู้เดินทางกลับจากพื้นที่พบไวรัสซิกา  ต้องรออย่างน้อย "2 เดือน" จึงถือว่าเป็นระยะปลอดภัยปล่อยให้ตั้งครรภ์ได้ ส่วนผู้ชายที่ป่วยโรคไข้ซิกาควรรออย่างน้อย 6 เดือนก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงและทารกในท้องรับเชื้อไวรัสซิกาไปด้วย
          สำหรับหมู่บ้านใดที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการ คล้ายติดไวรัสซิกา ขอให้รีบแจ้งสายด่วน 1422 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งทีมมาช่วยฉีดพ่นยากำจัดยุง และเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์


pageview  1205094    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved