HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/05/2560 ]
'สธ.'ตื่นล้อมคอกปมแพทย์หนุ่มดับจัดมาตรการดูแลหมอโหมงานหนัก

   ปลัด สธ.ออก 4 แนว ดูแล 'แพทย์-บุคลากรสาธารณสุข' หลังโลกโซเชียลวิจารณ์หนัก 'หมอบอล'รพ.ลำปลายมาศเสียชีวิต
          จากกรณีสังคมออนไลน์มีการเผยแพร่ เรื่องราวของ นพ.ฐาปกรณ์ ทองเกื้อ หรือหมอบอล  อายุ 30 ปี แพทย์ประจำโรงพยาบาลลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ป่วยหนัก แต่ยังเห็นแก่ผู้ป่วยทำงานจนกระทั่งตัวเองเสียชีวิต และล่าสุดทางญาติได้นำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ฌาปนสถานวัดท่าโพธิ์ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ปรากฏว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์มีการแชร์ข้อความแสดงความไม่พอใจผ่าน เฟซบุ๊ก เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้มีระบบการดูแลมากยิ่งขึ้น
          เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เป็นห่วง เห็นใจ เข้าใจถึงความยากลำบากในการทำงานของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทุกคน พยายามทำงานเพื่อประชาชนให้ดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ ผู้บริหารทุกคนได้เร่งแก้ปัญหา ทั้งการปฏิรูประบบบริการ แผนพัฒนากำลังคน เชื่อมั่นว่าระบบสุขภาพของประเทศจะดีขึ้น มีความสมดุลระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ
          "เบื้องต้นได้วางแนวทางการแก้ปัญหา ในอนาคต 4 ข้อ คือ 1.มอบผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ร่วมหารือจัดเวลาทำงานให้เหมาะสมตามสภาพของโรงพยาบาลและจำนวน ผู้ป่วยหรือปริมาณงาน 2.ให้ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลและผู้บริหารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาดูแลให้คำปรึกษาน้องๆ แพทย์จบใหม่ อย่าให้รู้สึกโดดเดี่ยว ช่วยให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหา รวมทั้งร่วมแก้ปัญหา 3.เร่งรัดจัดทำระเบียบช่วยเหลือเบื้องต้นกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการและเสนอให้มีระเบียบเยียวยาช่วยเหลือ และ 4.พัฒนาระบบฉุกเฉินให้มีแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินดูแลในห้องฉุกเฉิน" ปลัด สธ.กล่าว
          นพ.โสภณกล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์มีมานาน และมีความพยายามจะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เมื่อ 20 ปีก่อน สัดส่วนแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชากรถึง 5,000 คน แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานในการดูแลประชาชน ในบางพื้นที่ต้องดูแลถึง 1:30,000 คน จึงต้องเร่งผลิตแพทย์เพิ่ม เกิดเป็นโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยตลอด 23 ปีของโครงการ ช่วยเพิ่มการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบได้มากถึง 7,000 คน และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมดีขึ้นเป็น 1 ต่อ 1,900 คน และบางพื้นที่อาจ 1:10,000 คน แต่ยังไม่เพียงพอตามภาระงานและจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประชาชนเข้าถึงระบบบริการได้มากขึ้นตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ล่าสุดได้เพิ่มการผลิตแพทย์ โดยในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพิ่มจากปีละ 3,000 คนเป็นปีละ 3,200 คน คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1,250 คน
          นพ.โสภณกล่าวว่า นอกจากจะเพิ่มจำนวนแพทย์แล้วยังช่วยให้สัดส่วนต่อประชากรดีขึ้นมาก สิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือมาตรฐานการรักษา ตอบสนองความต้องการของสังคมด้านคุณภาพการรักษา สร้างความกดดันต่อระบบสาธารณสุข ต่อแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์จบใหม่ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับแพทยสภาดูแลแพทย์กลุ่มนี้เป็นพิเศษ กำหนดให้มีหลักสูตรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนในประเทศไทยผ่านหลักสูตรนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์พี่เลี้ยงและอาจารย์แพทย์ เพื่อประโยชน์แก่ตัวแพทย์เอง รวมถึงผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการเพื่อตรวจประเมินสถาบันและโรงพยาบาลฝึกอบรมแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับเขตสุขภาพและในระดับโรงพยาบาลที่มีองค์กรแพทย์ ประกอบไปด้วยแพทย์และทันตแพทย์ทั้งโรงพยาบาล ร่วมกันดูแลแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนมีทักษะ ประสบการณ์ ให้บริการประชาชนด้วยความมั่นใจ และจะร่วมหารือแพทยสภา ราชวิทยาลัย และคณะแพทย์ เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ที่เหมาะสมต่อไป
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเชิญชวนร่วมงาน "คน สธ. นัดประชุมหารือเรื่องหมอบอล ขณะรักษาผู้ป่วยเสียชีวิต" โดยจะหารือกันในวันที่ 23 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมมารวยการ์เด้นท์


pageview  1204961    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved