HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/05/2560 ]
รัฐตั้งเป้า ปี 64 ลดผู้ป่วยเชื้อดื้อยา 50% เหตุพบคนไทยใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น

 หลายปีที่ผ่านมาปัญหา "เชื้อแบคทีเรียดื้อยา"ทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลในอดีตกลับกลายเป็นใช้ไม่ได้ผล ขณะเดียวกัน ทั่วโลกต่างเกรงว่าปัญหาอาจแพร่ขยายรุนแรงขึ้น เนื่องจากยังไม่มีการวิจัย พัฒนา หรือคิดค้นยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ เพื่อต่อต้านเชื้อดื้อยาเหล่านี้ได้เลย
          ความกังวลดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดขึ้นในปัจจุบัน ทั่วโลกมีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คาดว่าไม่เกิน 35 ปีข้างหน้า ยอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอาจพุ่งสูง ถึง 10 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่า ทวีปเอเชียจะ มีผู้เสียชีวิตมากกว่าทวีปอื่นๆ คือราว 4.7 ล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.5 พันล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอยู่ที่ปีละ 19,000-38,000 คน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
          นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial medicines) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ยาปฏิชีวนะ" (Antibiotics) หรือที่รู้จักในชื่อ "ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย" มีความสำคัญต่อวงการสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากเป็นยาหลักที่ใช้รักษาโรคหลายชนิดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคปอดบวม วัณโรค ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคหนองใน โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ฝีหนอง และแผลติดเชื้อ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นและอย่างไม่เหมาะสมทั้งโดยบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และภาคการเกษตร ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ภายในร่างกายดื้อยาและสามารถแพร่กระจายสู่คนรอบข้างได้  ขณะที่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีการคิดค้นยาปฏิชีวนะใหม่ๆ เพื่อกำจัดเชื้อดื้อยาเหล่านี้ ทำให้การรักษาผู้ป่วยมีความยากลำบากยิ่งขึ้น
          ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาสูงเช่นกัน เนื่องจากเป็นประเทศที่ผู้คนสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะได้ง่าย ประกอบกับความเชื่อที่ผิดๆ ว่า เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยแล้วเพียงรับประทานยาเหล่านี้เข้าไปอาการจะดีขึ้น ทั้งที่แท้จริงแล้วสาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเจ็บป่วยของผู้คนทั่วไปไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่น แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการรับยาปฏิชีวนะเข้าสู่ร่างกายในลักษณะการใช้งานแบบผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์มีเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติ ซึ่งเชื้อเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย นอกเสียจากในภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความอ่อนแอ เมื่อร่างกายได้รับยาปฏิชีวนะในปริมาณที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ได้ จึงเป็นการกระตุ้นเชื้อเหล่านี้ให้เข้มแข็งขึ้น
          สุดท้ายหากปล่อยปัญหานี้ให้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โรคที่เคยรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะไม่สามารถรักษาได้ เมื่อเชื้อกระจายตามกระแสโลหิตเข้าสู่ร่างกายก็จะนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ยิ่งกว่านั้น หากเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาเหล่านี้เพิ่มขึ้น คนติดเชื้อดื้อยามากขึ้น จะก่อให้เกิดการสูญเสียในวงกว้างอย่างแน่นอน เนื่องจากเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาไร้พรมแดน สามารถแพร่กระจายข้ามประเทศได้ และส่งผลทั้งในภาคสาธารณสุขและภาคการเกษตร ดังนั้น ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นวิกฤตร่วมของทุกประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามที่ คาดการณ์ไว้ องค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและ เกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์การสหประชาชาติเห็นว่าประเด็นเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสุขภาพโลกที่สำคัญ และควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็น รูปธรรม
          นพ.วันชัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญต่อนโยบายขององค์การอนามัยโลกมาโดยตลอด และได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 เสร็จเรียบร้อย ซึ่งแผนดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์โลกในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อจัดการปัญหาเชื้อดื้อยามีเป้าประสงค์ 5 ประการ คือ 1.ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลงร้อยละ 50 , 2.ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์ลงร้อยละ 20 , 3.ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ลงร้อยละ 30 , 4.สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเรื่องเชื้อดื้อยาและ ตระหนักถึงการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และ 5.วางระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศให้มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล
          ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องการการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สมาคมวิชาชีพ และภาคประชาสังคม ที่ต้องร่วมมือในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ปัจจุบัน จึงได้มีการดำเนินการควบคุมการใช้ยาต้านจุลชีพตามสถานพยาบาลของรัฐให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ควบคู่กับการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตร โดยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนากลไกระดับนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
          สำหรับบทบาทของ อย. ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง คือ การควบคุมเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพของยาต้านจุลชีพ รวมทั้งการควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพอย่าง เหมาะสม ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ยา ทั้งนี้  อย. มีการดำเนินงานแบบ phasing โดยเริ่มจากจัดระเบียบก่อน คือ ยาต้านจุลชีพ ทั้งหมดต้องไม่อยู่ในหมวดยาสามัญประจำบ้าน ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอต้องไม่มีส่วนผสมชองยาปฏิชีวนะ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี รวมทั้ง ยาต้านจุลชีพในกลุ่มยา ใช้ภายนอกและใช้เฉพาะที่ และ ได้เริ่มดำเนินการในระยะต่อไปที่ยากขึ้น คือ การจัดระเบียบสำหรับยาต้านจุลชีพที่สำคัญที่ ต้องสงวนไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็น เช่น ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา วัณโรคดื้อยา ไม่ควรนำมาใช้ อย่างพร่ำเพรื่อในการรักษาโรค ทั่วไป เช่น หวัด เจ็บคอ ท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เกิดจากไวรัสและสาเหตุอื่น จึงไม่จำเป็นMOD 6*10 CMYK ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และเป็นโรคที่หายเองได้
          "หากมีการดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดแล้ว แต่ยังพบว่าแนวโน้มผลกระทบจากเชื้อดื้อยายังไม่ลดลง อย. เองก็พร้อมจะใช้วิธีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุมเข้มการใช้ยาปฏิชีวนะในทุกภาคส่วนต่อไป อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ การเสริมสร้างความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ"เลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้าย


pageview  1204958    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved