HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/05/2560 ]
ระดมทีมแพทย์พัฒนาศักยภาพการแพทย์ฉุกเฉิน

สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ระดมทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เร่งพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยเน้นป้องกันเพื่อลดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน-เสียชีวิต-พิการ
          ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยร่วมกับ สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สถาบันประสาทวิทยา และสมาคมนักกำหนดอาหาร จัดเวทีระดมความคิดในโครงการส่งเสริมและป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เข้าร่วมงานกว่า100 คน
          ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยฉุกเฉินเสี่ยงเสียชีวิต พิการ กะทันหันเพิ่มขึ้น ยอดผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลกว่า25 ล้านคนต่อปี ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลก(WHO) รายงานว่า 68%ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ หรือโรคเรื้อรังโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันเป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดงานครั้งนี้ที่เป็นการระดมสมองจากบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และรับฟังความเห็นคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงสื่อต่างๆ ที่ทางโครงการฯได้จัดเตรียมให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน หากสามารถทำให้แพทย์พยาบาลเปลี่ยนการมุ่งเน้นเฉพาะที่การรักษา ให้เป็นการส่งเสริมป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นได้ ก็จะช่วยลดการเสียชีวิตความพิการ หรือความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยได้
          ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ กล่าวว่า สำหรับแนวคิดของโครงการนี้ประกอบด้วย 4 กรอบ คือ 1.การทำให้มีสุขภาพดี 2.หากมีโรคประจำตัวหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินใด ผู้ป่วยหรือญาติสามารถดูแลและควบคุมโรคประจำตัวหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3.หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรง ผู้ป่วยหรือญาติ ควรทราบวิธี ช่องทางในการสอบถามวิธีการแก้ไขเบื้องต้น หรือติดต่อขอรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม4.การเตรียมบุคลาการทางการแพทย์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างเหมาะสมเมื่อพบผู้ป่วยประสบเหตุ
          "การที่รัฐบาลพยายามสร้างกลไกการรักษาด้วยนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิได้ทุกที่ฟรี 72 ชั่วโมง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประชาชนไม่ต้องสำรองเงินจ่าย แต่การดำเนินการนั้นจำเป็นจะต้องมีความรัดกุมเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการใช้ระบบที่ฟุ่มเฟือยไม่ถูกต้อง และมีความครอบคลุม"ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ กล่าว
          นายแพทย์สมชาย  กาญจนสุต อุปนายก สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยวัตถุประสงค์ที่เป็นผลสำเร็จ 3 ประการของการบริการได้แก่ 1.ความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ 2.คุณภาพของการดูแลรักษา และ 3.ความครอบคลุมเพื่อให้ผู้เจ็บป่วยสามารถได้รับการดูแลรักษาที่ทันต่อเหตุการณ์ไม่เสียชีวิตไปก่อน และได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่เสมือนแพทย์ได้ดูแลเอง อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ตลอดเวลา และได้รับการนำส่งไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ปฏิบัติงานในระบบควรจะมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการนี้ โดยมีการสำรวจ ประเมินคุณภาพในพื้นที่ที่รับผิดชอบจะทำให้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างตรงทิศทางและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551
          "ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวกำหนดระบบของหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินทุกหน่วยให้มีการทำงานและมีเป้าหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในโครงการนี้จะมีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ระดับต่างๆให้มีความรู้และทักษะช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในชื่อหลักสูตร Comprehensive Life Support (CLS)หวังว่าเวทีครั้งนี้จะช่วยสร้างศักยภาพบุคลาการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้เกิดงานบริการที่รวดเร็ว ทันเวลา ถูกต้องทุกขั้นตอนตามหลักวิชาการ" นายแพทย์สมชาย กล่าว


pageview  1205152    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved