HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/04/2555 ]
คร.เตือนเจ้าของสวนยาง นำต่างด้าวตรวจมาลาเรีย

 เมื่อวันที่22 เมษายน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า คร.ได้กำหนดให้วันที่ 23-27 เมษายน 2555 เป็นสัปดาห์รณรงค์ป้องกันอย่าให้ยุงกัด เพื่อ
          กำจัดการแพร่โรคมาลาเรีย ซึ่งจะตรงกับ "วันมาลาเรียโลก" ในวันที่ 25 เมษายนของทุกปี ปีนี้คำขวัญวันมาลาเรียโลก 2555 คือ "Sustain Gains, Save Lives: Invest in Malaria" หรือ "คงไว้ซึ่งชัยชนะ รักษาไว้ซึ่งชีวิต ร่วมลงทุนพิชิตโรคมาลาเรีย" คำขวัญนี้ย้ำถึงรอยเชื่อมต่อของการดำเนินงานด้านมาลาเรียที่มีการทุ่มเทอย่างมาก ว่าแผนที่โรคมาลาเรียจะเล็กลงเรื่อยๆเหมือนทศวรรษที่ผ่านมา หรือว่าจะเพิ่มขนาดขึ้น
          นพ.พรเทพกล่าวว่า แต่ละปีจำนวนประชากรที่ติดเชื้อมาลาเรียทั่วโลกมีประมาณ 300 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านราย ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เกิดขึ้นในแอฟริกา ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และในทวีปแอฟริกาก็มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ส่วนสถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทย ปี 2554 พบผู้ป่วยทั้งหมด 33,408 ราย โดยแยกเป็นผู้ป่วยคนไทย 15,396 ราย ผู้ป่วยชาวต่างชาติ 18,012 ราย แยกเป็นรายจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ จังหวัดตาก ผู้ป่วยไทย 2,676 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 9,484 ราย จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ป่วยไทย 1,250 ราย ผู้ป่วย ต่างชาติ 1,733 ราย จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ป่วยไทย 816 ราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ป่วยไทย 811 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 524 ราย และจังหวัดยะลา ผู้ป่วยไทย 714 ราย ตามลำดับ ล่าสุด สถานการณ์ในปี 2555 นี้ นับตั้งแต่ 1 มกราคม-31 มีนาคม พบ ผู้ป่วยทั้งหมด 3,043 ราย โดยแยกเป็นผู้ป่วย คนไทย 1,483 ราย ผู้ป่วยชาวต่างชาติ 1,560 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดตาก ผู้ป่วยไทย 296 ราย ผู้ป่วย ต่างชาติ 736 ราย รองลงมาคือจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ป่วยไทย 144 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 254 ราย
          อธิบดี คร. กล่าวอีกว่า สำหรับโรคมาลาเรีย จะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ส่วนแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง ส่วนมากพบในจังหวัดชายแดนประเทศไทยที่มีบริเวณเป็นภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติหรือเขาชันมีลำธาร โดยยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรีย กัดและปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดคน ซึ่งเป็นวิธีตามธรรมชาติที่พบมากที่สุด หลังจากนั้นประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออกรู้สึกสบายแล้ว กลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ หากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่นมาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ ขอแนะนำประชาชนที่เป็นเจ้าของสวนยางพาราที่นำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานแปลกหน้าเข้ามากรีดยางหรือทำงานอื่นๆขอให้พาแรงงานเหล่านั้นไปรับการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียก่อน สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0-2590- 3333


pageview  1205149    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved