HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/04/2560 ]
โรคระบาดศัตรูที่มองไม่เห็น

    ความเสี่ยงภัยร้ายแรงที่อาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิต อยู่ใกล้แค่เอื้อมจริงๆ หากเรายังนิ่งเฉย ไม่เตรียมหาทางหนีทีไล่หรือมาตรการป้องกันไว้ก่อน ก็อาจจะต้องมีผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมากอีกได้
          ความเสี่ยงภัยที่กำลังพูดถึง คือความเสี่ยงต่อภัยคุกคามจากโรคระบาดร้ายแรงต่างๆ ที่ทั้งมีและยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาให้หายขาด
          ปรากฏการณ์ความเสี่ยงที่ว่าได้แผลงฤทธิ์ให้มนุษย์เราได้เห็นมาแล้วหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
          ไม่ว่าจะเป็นการลุกลามระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ไข้หวัดหมู เชื้ออีโบลา ไข้ซิกา หรือไข้หวัดนก เป็นต้น
          ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในวงการสาธารณสุขเชื่อว่าปัจจุบันมนุษย์เราตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคระบาดรุนแรงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่เราได้สัมผัสกับประสบการณ์เลวร้ายของการระบาดขนาดใหญ่และกินพื้นที่วงกว้างของโลกอย่างเชื้อโรคระบาดที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น
          เอาให้เห็นภาพชัดจากการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งใหญ่ล่าสุดในแอฟริกาตะวันตก ช่วงระหว่างปี 2014-2016 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 28,000 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตกว่า 11,000 ราย
          ขณะที่จนถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานพบการติดเชื้อไข้ซิกาใน 84 ประเทศ จากที่มีการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1940 และเกิดระบาดครั้งแรกที่ไมโครนีเซียในปี 2007 ซึ่งยังคงพบการระบาดอยู่จนถึงขณะนี้
          ในทุกๆ ครั้งที่เกิดการระบาดติดเชื้อในระดับที่รุนแรงและเป็นวงกว้างอย่างคาดไม่ถึง นั่นทำให้โลกเราตกอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมากต่อภัยคุกคามดังกล่าว
          ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการระบาดครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น เชื้อโรคร้ายจะสร้างความตกตะลึงให้แก่โลกมากขึ้นไปกว่านี้
          และนั่นจึงเป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องเตรียมตัวรับมือไว้ให้พร้อม
          จิมมี วิตเวิร์ธ อาจารย์จากภาคสาธารณสุขระหว่างประเทศ แห่งลอนดอน สคูล ออฟ ไฮจีน แอนด์ ทรอปิคอล เมดิซีน ชี้ว่า พวกโรคติดเชื้อ ไม่สนใจเรื่องพรมแดน อย่างที่เราได้เห็นองค์การอนามัยโลก (ฮู) ออกมาร้องเตือนแทบทุกเดือนว่ามีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่โน่นที่นี่ทั่วทุกมุมของโลก
          นี่เป็นสัญญาณที่ทำให้ตัวเขาเชื่อว่าการใช้ชีวิตของคนเราในปัจจุบันตั้งอยู่บนความเสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้น
          แม้เราจะมีความพร้อมรับมือกับสิ่งไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้นมากกว่าแต่ก่อน โดยมีองค์กร เครือข่าย ตลอดจนความร่วมมือของนานาประเทศร่วมกันวางมาตรการรับมือกับสิ่งคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
          ทว่า โลกเราก็ยังเผชิญกับเดิมพันหรือภัยท้าทายที่มีเพิ่มระดับมากขึ้นไปอีกเช่นกัน
          สิ่งท้าทายประการแรกที่ผู้เชี่ยวชาญมองเห็นคือ การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการขยายตัวของชุมชนเมือง ที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ากลายมาเป็นโอกาสเอื้ออำนวยให้เชื้อโรคต่างๆ ระบาดลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยผ่านอากาศ ยุงที่เป็นพาหะนำโรค หรือน้ำที่สกปรก
          เดวิด เฮย์มานน์ หัวหน้าศูนย์เพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขโลก จากสถาบันนักคิด แชแธมเอาส์ บอกว่า การที่ในแต่ละเมือง แต่ละชุมชนมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมาก นั่นจะยิ่งทำให้ระบบสุขอนามัยในพื้นที่ดังกล่าวเกิดความตึงตัว ซึ่งนี่จะเป็นแหล่งที่ 2 ที่จุดการระบาดของโรคได้รวดเร็วขึ้น
          และแหล่งที่ 3 คือความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ชาวนาต้องเพาะปลูกเพื่อให้ได้อาหารเพิ่มขึ้นและต้องเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เอื้อให้สัตว์เหล่านั้นอยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น และนั่นก็ทำให้มนุษย์เราติดต่อรับเชื้อโรคต่างๆ จากสัตว์ได้ง่ายขึ้น
          การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดคลื่นความร้อนและภาวะอุทกภัยตามมา ก็ยังเป็นอีกต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางน้ำ อย่างเช่น อหิวาตกโรค และยังเป็นแหล่งเพาะพาหะนำโรคอย่างยุงสายพันธุ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
          การสัญจรไปมาทั่วโลกที่มีผู้คนเดินทางกันมากขึ้น เป็นอีกความท้าทายที่ทำให้เราตกอยู่ในความเสี่ยงต่อโรคระบาด
          เฮย์มานน์ชี้ว่าเชื้อโรคเดินทางไปรอบโลกได้ง่าย โดยอยู่ในร่างกายของมนุษย์ที่เดินทางไปไหนต่อไหน
          เชื้อโรคเหล่านี้มีระยะฟักตัวของมัน ที่จะยังไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อแสดงอาการของโรค เมื่อไปติดต่อสัมผัสกับผู้อื่น ก็จะทำให้ผู้นั้นได้รับเชื้อโรคเข้าไปได้โดยไม่รู้ตัว
          อย่างโรคซาร์สที่เกิดการระบาดหนักในช่วงปี 2003 ซึ่งเชื่อว่าเริ่มจากกรณีการติดเชื้อของชายชาวฮ่องกงที่เดินทางไปจีนและกลับมาเยี่ยมครอบครัวที่ฮ่องกง จนทำให้คนในครอบครัวและพนักงานโรงแรมที่เขาเข้าพักติดเชื้อโรคซาร์ส
          ก่อนที่ชายรายนี้และหนึ่งในญาติของเขาจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
          ภาวะขัดแย้งก็เป็นอีกความท้าทายที่เฮย์ มานน์ชี้ว่า หากประเทศใดตกอยู่ใกล้ขอบเหวแห่งความขัดแย้งรุนแรง ประเทศไร้เสถียรภาพ ระบบสาธารณสุขในประเทศก็ตกอยู่ในภาวะอ่อนแอตามไปด้วย ความสามารถของอำนาจรัฐหรือรัฐบาลที่จะจัดการรับมือกับโรคระบาดก็จะไร้ประสิทธิภาพไปด้วย อย่างการระบาดของโรคอีโบลาในประเทศเซียร์ราลีโอน กินี และไลบีเรีย ในช่วงปี 2014 ก็ได้เห็นระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้ล้มเหลวทำอะไรไม่ได้มาแล้ว
          การขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ก็เป็นปัญหาที่ซ้ำเติมสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเช่นกัน
          ขณะที่ยุคโลกไร้พรมแดนที่ข่าวสารต่างๆ สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ก็ถูกมองว่าเป็นความท้าทายสำคัญ
          ข้อดีในด้านหนึ่งคือเมื่อพบข้อมูลการระบาดในที่หนึ่งที่ใด ก็สามารถบอกต่อรับรู้กันได้อย่างทั่วถึงเพื่อให้พื้นที่อื่นเตรียมรับมือและป้องกันได้ แต่ก็เป็นดาบสองคมที่หากมีการเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลกันไปอย่างผิดๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกและหวาดกลัวกันไปเกินกว่าเหตุได้
          สิ่งท้าทายเหล่านี้เป็นข้อคิดสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญให้เราได้ตระหนักรู้และเตรียมหาทางรับมือให้ดี ไม่ใช่ปล่อยวัวหายแล้วล้อมคอก ให้โรคลุกลามระบาด มีคนตายเป็นเบือ ถึงรู้ตัวค่อยจัดการ!


pageview  1205025    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved