HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/04/2560 ]
'สบส.'แจ้งทั่วปท.มาตรฐานเดียวกันรับป่วยวิกฤต72ชม.

 ศูนย์คุ้มครองสิทธิฉุกเฉินเผยประชาชนสนใจถามข้อมูล'ป่วยฉุกเฉินวิกฤต'คึกคัก
          เมื่อวันที่ 2 เมษายน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยถึงนโยบายรัฐบาล "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้ทุกแห่ง เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินในระยะ 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า จากการติดตามโครงการ 1 วันที่ผ่านมา มีการติดต่อสอบถามมายังศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โทร 0-2872-1669 มีผู้สอบถามเข้ามา 56 ราย เข้าเกณณ์ฉุกเฉินวิกฤต 25 ราย ไม่ข้าเกณฑ์ 31 ราย และนอกนั้นอีก 120 รายซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วย แต่ต้องการทราบข้อมูลรายละเอียด
          "ประชาชนให้ความสนใจมาก เข้าใจว่าหลายคนต้องการทราบข้อมูล หากจำเป็นต้องใช้จะได้เกิดความมั่นใจมากขึ้น แต่ผมไม่ได้อยากให้ใครใช้โครงการนี้ เพราะการเข้ารับบริการตามโครงการย่อมหมายถึงวิกฤตฉุกเฉินจริงๆ และเสี่ยงสูญเสียชีวิต สูญเสียครอบครัว และอีกมากมาย สิ่งสำคัญอยากให้คนไทยทุกคนมีสำนึกในการป้องกันตัวเองดีกว่า ไม่ใช่มุ่งใช้แต่โครงการนี้ เพราะเป็นแค่ปลายเหตุ แต่อยากให้คนไทยป้องกันดูแลสุขภาพตัวเอง ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ การขับรถ การขับขี่ สวมหมวกกันน็อก หรือแม้แต่ภาวะเจ็บป่วยวิกฤต ตอนนี้ข่าวอาจพูดถึงโครงการนี้มาก แต่ไม่อยากให้โปรโมตจนทำให้คนไม่ตระหนักถึงการ ดูแลตัวเอง" ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว
          ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าวว่า สพฉ.ได้จัดทำข้อมูลเผยแพร่ข้อควรรู้ก่อนใช้สิทธิยูเซปให้ประชาชนศึกษาก่อนเพื่อทำความเข้าใจ อาทิ 1.กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน (กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) และในอนาคตจะขยายไปยังกองทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดความครอบคลุม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 2.ผู้ที่จะใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 3.ขั้นตอนในการใช้สิทธิ ประชาชนทุกคนควรตรวจสอบสิทธิพื้นฐานของตนเองในเบื้องต้นว่าเป็นสิทธิอะไร และกรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ และเป็นโรงพยาบาลนอกคู่สัญญากับกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิให้แจ้งโรงพยาบาลให้รับทราบว่า ขอใช้สิทธิยูเซป
          4.ในกรณีที่มีข้อถกเถียงเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินว่า เข้าขั้นวิกฤตหรือไม่ กรณีนี้ โรงพยาบาลเป็นผู้คัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางที่ สพฉ.กำหนด ในกรณีมีปัญหาในการคัดแยกให้ปรึกษา ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ ตลอด 24 ชั่วโมง 5.รูปแบบการทำงานของ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯ 7. หากมีข้อโต้แย้งเรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เมื่อแจ้งมาที่ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิฯจะประเมินภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วยภายใน 15 นาที
          ทั้งนี้ สำหรับอาการที่อยู่ในเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตมี 6 กลุ่ม คือ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6.หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
          นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ซึ่งมีกฎหมายลูก 3 ฉบับ ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป ประกอบด้วย 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินและการระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมการช่วยเหลือเยียวยาและจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น และ 3.หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
          นพ.วิศิษฎ์กล่าวต่อว่า เพื่อปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ สบส. ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) หน่วยงานภาครัฐ /รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ขึ้นทะเบียนกับ สบส.จำนวน 347 แห่ง ปฏิบัติตามกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำการให้บริการรักษาพยาบาล
          นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับ กำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องจัดให้มี ผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้พ้นขีดอันตราย ภายใน 72 ชั่วโมงแรก หากมีความจำเป็น หรือหากผู้ป่วยหรือญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาจากสถานพยาบาลอื่น สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นได้ และต้องจัดให้มีการส่งต่อตามมาตรฐานวิชาชีพ และขีดความสามารถของโรงพยาบาลนั้นๆ ห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยเด็ดขาด โดยให้โรงพยาบาลส่งหลักฐานเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งมีทั้งหมด 12 หมวด 2,970 รายการไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่าย และแจ้งไปยังกองทุนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิของผู้ป่วยภายใน 30 วัน เพื่อดำเนินการจ่ายค่ารักษาให้แก่ โรงพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยภายใน15 วัน
          "กรณีมีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยก ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมงไปแล้วให้โรงพยาบาลส่งตัวผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วย เพื่อเข้าสู่ระบบปกติของการรักษาพยาบาลจากกองทุนสุขภาพต่างๆ แต่หากผู้ป่วยประสงค์จะรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเดิม ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือปฏิเสธการรักษา ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วย จะมีความผิดตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ด้าน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส.ได้เตรียมพร้อมและประสานกับโรงพยาบาลคู่สัญญาทั้งหมดให้เตรียมเตียงรองรับ เมื่อ ผู้ป่วยพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้ว และต้องส่งคืนโรงพยาบาลตามสิทธิก็ต้องพร้อมรับเสมอ หาก ไม่รับต้องไปจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น เชื่อว่าโรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา สำหรับกรณีการจ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตใน 72 ชั่วโมง จะเป็นไปตามมติ ครม.เรื่องอัตราค่าใช้จ่ายที่ตกลงร่วมกัน โดย ผู้ประสานงานจะเป็น สปสช. ทำหน้าที่ เคลียริ่งเฮาส์ติดตามข้อมูล ขณะที่ผู้จ่ายเงินให้กับโรงพยาบาลจะเป็นกองทุนตามสิทธิของ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ส่วนผู้ประกันตนก็จะมี สปส.เป็นผู้จ่ายให้


pageview  1204841    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved