HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 31/03/2560 ]
ตัดมาตรา10/1สนช.ถอยดองบรรษัทน้ำมันตั้งกก.ศึกษาเสร็จใน1ปีบิ๊กตู่วอนเชื่อใจทหาร10คปพ.เจอข้อหาหนักมติท่วม-ถอดถอน'ปึ้ง'

  สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยอมถอยตัดมาตรา 10/1 ปมตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโยกไปใส่ไว้ในข้อสังเกตแทน ขีดเส้น 60 วันตั้งคณะกรรมการศึกษารายละเอียดรูปแบบและวิธีการจัดตั้งให้เสร็จใน 1 ปี 'บิ๊กตู่'วอนเชื่อใจทหาร ไม่คิดหาประโยชน์ใส่ตัว ม็อบคปพ.บุกสภา ก่อนเคลื่อนชุมนุมหน้าทำเนียบ เจ้าหน้าที่งัดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะดำเนินคดี 10 แกนนำ ส่งศาลไต่สวน 3 เม.ย. มติสนช.ท่วมท้นถอดถอน'ปึ้ง'ตามคาด เว้นวรรคการเมือง 5 ปี ผงะ!หนูวิ่งพล่านในถาดข้าวแกงสโมสรรัฐสภา เลขาฯสั่งสอบด่วน
          'บิ๊กตู่'ยันทหารไม่คิดคุมพลังงาน
          เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมมอบนโยบายการบูรณาการความร่วมมือการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต กลุ่มเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุ ซึ่งตั้งเป้าหมาย "เด็กไทยเติบใหญ่มีคุณภาพ ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม มุ่งสู่ประเทศไทย 4.0" ภายในปี 2564
          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เหมือนมาทำสัญญาสงบศึก หรือสัญญาปรองดอง ทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าให้ได้ วันนี้ตนต้องไปสู้รบ ไม่ใช่สู้รบแบบปกติ แต่เป็นการอธิบายเรื่องพลังงาน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
          "ผมคิดว่าวันนี้ต้องหยุดได้แล้ว ผมเอาชีวิตผมยืนยันอยู่นี้ จะไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ให้ใครมาได้ประโยชน์ และยืนยันอีกครั้งว่าทหารไม่ได้มุ่งหวังเข้ามามีบทบาทในพลังงานใดๆ เลย ไม่มีในความคิดเลย ถ้าใครมีความคิดมา ผมก็ไม่อนุญาตอยู่แล้ว ขอให้เชื่อมั่นผมตรงนี้และขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการ บางครั้งการพูดจาเรื่อยเปื่อยทำให้เกิดปัญหา หลายอย่างพูดคุยในที่ประชุมวงเล็กเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่กลับเอามาพูดกันอีกก็พันกันไปหมด สับสนอลม่าน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
          วอนเชื่อมั่น-ฮึ่มม็อบอย่าใช้กฎหมู่
          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เราต้องรับฟังเสียงประชาชนที่เข้ามา อะไรที่ทำได้ก็ไปลองดูว่าทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ อะไรที่ผิดครรลองครองธรรม ทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ ตนไม่ทำ ขอให้ผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เชื่อมั่นตน และเข้าใจรัฐบาล เข้าใจรัฐมนตรีทุกคน ข้าราชการทุกคนต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการทำงานของรัฐบาล ถ้าเราไม่เริ่มต้นวันนี้ ถ้ายังขัดแย้งกันอยู่เช่นเดิม ประเทศก็ไม่มีอนาคต ไม่มีโอกาสแก้ไขปัญหา ตนไม่ได้ดูถูกใคร แต่คิดว่าหากสิ่งที่ทำวันนี้ไม่ได้สานต่อ ไม่ได้เริ่ม ทุกอย่างก็กลับไปที่เดิมหรือแย่กว่าเดิม ซึ่งตนเคยพูดมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ว่าเราเข้ามาเพื่อทำให้สิ่งที่กำลังจะล้มพยุงขึ้นให้ได้ก่อน เอาปัญหามาแก้ไขภายใน 2 ปีให้ได้ ส่วนปีที่ 3 จะดันให้ตั้งตรงขึ้นมาให้ได้
          ต่อมาเวลา 10.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในวันเดียวกันนี้ แต่ได้นำเอกสารรวม 6 แผ่นแจกให้กับผู้สื่อข่าวแทน เมื่อถามถึงกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ที่หน้ารัฐสภาอาจเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า "ถ้ามาแล้วทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดี ให้รู้บ้างว่าการจะแก้ปัญหาแบบเป็นระบบ ทำกันอย่างไร ไม่ใช่เอากฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายตลอด"
          แจกเอกสารแจงกม.ปิโตรเลียม
          สำหรับเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเสนอพ.ร.บ. ปิโตรเลียม เพื่อให้รองรับสัมปทานที่จะหมดอายุลงในเวลาอันใกล้ หลักการและเหตุผล ที่รัฐบาลเสนอครั้งแรก เพื่อให้ดำเนินการบริหารจัดการได้ทั้งระบบสัมปทานและ พีเอสซี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ(หากไม่มีกฎหมายฉบับนี้จะทำได้เพียงระบบสัมปทานแบบเดิมเท่านั้น) ต่อมารัฐบาลได้นำร่างดังกล่าวเสนอต่อสนช. ซึ่งในขั้นกรรมาธิ การ(กมธ.)ของสนช. ได้รวบรวมรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน ให้มีการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(เอ็นโอซี)" และสนช.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวกลับมาที่ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
          ทั้งนี้ ครม.ให้ความเห็นชอบ ให้เพิ่มหลักการได้ในขั้นกมธ. ซึ่งเดิมไม่มีในวาระแรกด้วย เหตุผลคือรัฐบาลและครม.ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่กมธ.ศึกษาเพิ่มเติมแล้ว กมธ.ก็ได้ทำงานต่อไป โดยมีเนื้อหาเอ็นโอซีในพ.ร.บ. ปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องพิจารณาต่อในวาระ 2-3 ตามหลักการและเหตุผลที่กล่าวมา ซึ่งการทำงานของกมธ.ก็รวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
          ขณะที่รัฐบาลต้องการให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านไปโดยปราศจากข้อขัดแย้ง ในกรณีจัดตั้งเอ็นโอซี โดยระบุอย่างชัดเจนว่าต้องมีการศึกษาในรายละเอียดก่อน และให้ดำเนินการได้ "เมื่อพร้อม" เท่านั้น จะเป็นเมื่อใดก็แล้วแต่การพิจารณาต่อไปของสนช.
          สั่งสอบคนโพสต์หมิ่นรัฐบาล
          ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่ารัฐบาล คสช. นายกฯ รองนายกฯ กมธ. ทหาร หวังจะมีผลประโยชน์ในเรื่องการให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ รัฐบาล คสช. นายกฯไม่ได้ทราบเรื่อง และหากมีก็ไม่อนุมัติอยู่แล้ว ส่วนที่มีผู้ยกเรื่องนี้ออกมาเป็นประเด็น ทางรัฐบาล ครม.จะให้ฝ่ายกฎหมายได้สอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับรัฐบาล คสช. ทหาร อย่างร้ายแรง มีการโพสต์ข้อความสร้างการดูหมิ่นเกลียดชังรัฐบาล
          ขอให้สังคม ประชาชนได้พิจารณาความน่าเชื่อถือจากข้อความดังกล่าว ซึ่งนายกฯยืนยันว่าจะไม่ให้มีใครได้รับผลประโยชน์ นอกจากประเทศและประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ดำเนินการ โดยการพิจารณาของสนช. และรัฐบาล คสช. จะไม่ให้หน่วยงานทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยเด็ดขาด กรณีที่มีข่าวว่าเตรียมเสนอรายละเอียดการจัดตั้งเอ็นโอซีเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยรัฐบาล ทหารนั้น รัฐบาลไม่เคยรับทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ทราบเพียงว่าหากกฎหมายผ่านจะมีเฉพาะการจัดตั้งเอ็นโอซีเมื่อพร้อม ซึ่งหมายความว่า หากมีการผ่านเรื่องเอ็นโอซีดังกล่าวก็ต้องมีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้อีกครั้ง
          'วิษณุ'ปัด-ยัดใส้หรือไม่
          ปัจจุบันการทำหน้าที่จัดการพลังงาน เป็นหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของชาติและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมถึงการควบคุมกำหนดการจัดหาพลังงานโดยระบบสัมปทาน(เดิม) หรือ PSC (ใหม่) อยู่แล้วว่าจะทำในระบบใด ไม่ใช่ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ที่จะดำเนินการในเรื่องธุรกิจพลังงาน เพื่อเสริมรายได้ผลตอบแทนของรัฐบาลและผู้ถือหุ้นเท่านั้น
          นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ระบุจะให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เนื่องจากร่างที่รัฐบาลเสนอไม่ได้ระบุให้กรมพลังงานทหารเข้าไปดูแลว่า ถูกแล้ว และไม่รู้จริงๆ ว่ามีการยัดไส้หรือไม่ ตนยังไม่เห็นร่างฉบับนั้นว่ากมธ.เขียนอย่างไร
          'บิ๊กป้อม'จับตากลุ่มเคลื่อนไหว
          นายวิษณุกล่าวว่า ปกติร่างกฎหมายที่รัฐบาลส่งถึงสภา ทางสภาจะพิจารณาตามหลักการที่อยู่ในร่าง หากจะเปลี่ยนแปลงจากหลักการ จะประสานผ่านวิปรัฐบาลเพื่อสอบถามว่าถ้าจะแก้ไข รัฐบาลจะขัดข้องหรือไม่ แก้แล้วจะดีหรือไม่ หากรัฐบาลขัดข้องแต่สภาจะเอาร่างนั้นก็ทำได้ เพราะเมื่อสภารับร่างไปแล้วถือเป็นอำนาจของสภา ซึ่งรัฐบาลเลือกตั้งก็ทำแบบนี้
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ติดตามการชุมนุมของกลุ่มต้านพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) หรือพีมูฟ ในวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มมือที่สามที่อาจเข้ามาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย โดยพล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.) ได้เชิญตำรวจสันติบาลและตำรวจนครบาลหารือเพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต้านพ.ร.บ.การปิโตรเลียม เพื่อจัดวางกำลังดูแลรักษาความเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงให้มอนิเตอร์ผลการประชุมสนช.ที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว
          พีมูฟบุกอ่านแถลงการณ์
          เวลา 09.00 น. กลุ่มพีมูฟราว 100-200 คน มารวมตัวกันหน้าทำเนียบรัฐบาล อ่านแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลให้เร่งเปิดประชุมกรรมการแก้ปัญหาความยากจนและคืนความสุขให้ประชาชน โดยเร่งเดินหน้าประกาศ พ.ร.บ. ที่ดิน ให้ตอบโจทก์การแก้ปัญหาไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ให้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่อย่างเร่งด่วน และขอให้รัฐบาลชะลอนโยบายที่ส่งผลกระทบชุมชนจนกว่าจะมีมาตรการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจ.ตาก รถไฟทางคู่ สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่
          ขณะที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง แกนนำพร้อมสมาชิกเครือข่ายปฏิฎิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด(คปบ.) ประมาณ 50 คน มาปักหลักเพื่อรอฟังผลการประชุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ แทนการเดินทางเข้าร่วมประชุมตามคำเชิญของรัฐบาล ซึ่งให้เครือข่ายส่งตัวแทน 20 คน กำหนดขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล
          รัฐรับข้อเสนอ-สลายตัว
          เวลา 16.45 น. นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมหารือเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา และเตรียมความพร้อมในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ และคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ว่า การประชุมครั้งแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งข้อเสนอที่เสนอมานั้นก็รับมาและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กอ.รมน. กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และอนุกรรมการในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขปส.ทั้ง 8 คณะ ไปพิจารณา แล้วจึงให้นำกลับมาเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งประมาณปลายเดือนพ.ค. ขณะที่กรณีปัญหาเขื่อนปากมูลนั้นบางปัญหาเป็นปัญหาที่ภาคประชาชนบุกรุกพื้นที่ป่า ต้องหาทางว่าทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนรุกล้ำเข้าไป ไม่เช่นนั้นก็แก้ปัญหากันไม่จบ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง ผลออกมาเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย ทำให้กลุ่มพีมูฟที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเดินทางกลับภูมิลำเนาทันที
          คปพ.จี้ถอนกม.-หนุนผุดเอ็นซีโอ
          ส่วนที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถ.อู่ทองใน เวลา 08.30 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ราว 200 คน นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และกลุ่มสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มายื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. .... และ ร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วาระ 2 และวาระ 3 เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไขเนื้อหาตามเสียงคัดค้านของประชาชน ที่ให้อำนาจบุคคลใช้ดุลพินิจจนอาจเกิดการทุจริต รวมถึงเสียงท้วงติงจากสำนักงานตรวจเงินตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)จึงถือว่าขาดความชอบธรรม ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล จึงจะคัดค้านจนถึงที่สุด
          พร้อมกำหนดให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติหรือเอ็นซีโอ ให้เรียบร้อยก่อนจะเปิดหรือ ให้สำรวจผลิตปิโตรเลียมในระบบแบ่งปั่นผลผลิต และต้องปฏิบัติตามผลการศึกษา ของกมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งที่ประชุม สนช.เคยลงมติเห็นชอบ หาก สนช.ยังผ่าน ร่างกฎหมายดังกล่าว คปพ.จะยื่นหนังสือให้นายกฯ ดำเนินการเพื่อยุติร่างดังกล่าว แต่หากไม่ได้รับคำชี้แจงจากนายกฯ จะปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลต่อไป
          'พีระศักดิ์'ยันไร้ใบสั่ง
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรักษาความปลอดภัยทั้งในและโดยรอบรัฐสภาเป็นไปอย่างเข้มงวด ใช้กำลังตำรวจ 3 กองร้อย จาก บก.น.1 บก.น 6 และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่นำแผงเหล็กปิดกั้นฝั่งถนนหน้าสวนสัตว์เขาดิน เพื่อให้กลุ่มมวลชนอยู่ในพื้นที่ที่จัดให้ ขณะเดียวกันทางแกนนำได้ทำหนังสือถึงสน.ดุสิต เพื่อขออนุญาตชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมแล้ว
          ต่อมาเวลา 12.00 น. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 ได้เดินออกไปรับหนังสือจากคปพ. และกล่าวว่า สนช.จะพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ด้วยความรอบคอบ ยึดผลประโยชน์ของประชาชน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีใบสั่ง และจะใช้ดุลยพินิจอย่างเต็มที่
          ตำรวจเจรจาให้เลิกชุมนุม
          ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่ม คปพ. และกลุ่มสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่รวมตัวบริเวณรัฐสภา เข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าเจรจาให้เลิกชุมนุมแล้ว และอยู่ระหว่างยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกชุมนุม หากศาลมีคำสั่ง ให้ประกาศเป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมต้องออกจากพื้นที่ทันที หากฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามแผนควบคุมฝูงชน
          ส่วนจะเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ต้องรอให้ทหาร เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษก่อน ซึ่งนายกฯ กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละพื้นที่ทราบว่าจะมีการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต และยังมีการฝ่าฝืน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย
          ม็อบเคลื่อนมาหน้าทำเนียบ
          จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเจรจากับคปพ. และเกิดการผลักดันกันเล็กน้อย ผู้ชุมนุมจึงออกจากหน้ารัฐสภาในเวลา 16.20 น. และเคลื่อนมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีพ.ต.อ.อุทัย กวินเดชาธร รองผบก.น.1 พร้อมกำลังตำรวจนครบาล 3 กองร้อย ควบคุมพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชายและหญิงจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย โดยมีพล.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบช.ส. และพล.ต.ต.สุรเชษฐ หักพาล ผู้บังคับการกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ มาดูแลสถานการณ์ ด้านทหารมี พ.อ.จิรโรจน์ ธูปเทียนรัตน์ ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากพล.ท. อภิรักษ์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผบ.กกล.รส. ให้มาติดตามดูแลสถานการณ์ด้วย
          ต่อมาเวลา 18.30 น. พล.ต.ท.โทสุวัฒน์ได้หารือกับนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำคปพ. เพื่อขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมจากหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยระบุว่าหากต้องการยื่นหนังสือก็พร้อมรับในทันที และจะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด แต่นายปานเทพยืนยันว่า กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะต้องการยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของคปพ. ซึ่งยอมรับว่าต้องใช้เวลาดำเนินการแต่ขอหลักประกันว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้เท่านั้น และขอให้ผบช.ส.นำหนังสือที่ยื่นไป เพื่อประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของทางกลุ่มด้วย และควรปล่อยตัวแกนนำคปพ. ที่ถูกควบคุมตัวด้วย
          แจ้งข้อหา 10 แกนนำ
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้เชิญ 10 แกนนำคปพ.เข้าพูดคุยที่บก.ทบ. ก่อนส่งตัวมาที่ ศปก.สน.ดุสิต เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ต่อมาเวลา 18.30 น. ที่หน้าอาคารรัฐสภา พนักงานเดินหมายศาลแพ่งได้มาปิดคำสั่งศาลแพ่งให้เรียกตัว 10 ผู้จัดการชุมนุม ไปไต่สวนที่ศาลแพ่งในวันที่ 3 เม.ย. เวลา 09.30 น. ในข้อหาละเมิดพ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ตามที่เจ้าหน้าที่สน.ดุสิต มายื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้ยกเลิกการชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 30 มี.ค. ประกอบด้วย นายหาญยิ่ง รัตนทุมมาพร จำเลยที่ 1 นายสรรพฤทธิ์ สันต์ทัศน์ธาร จำเลยที่ 2 นายกมล ตันธนะศิริวงศ์ จำเลยที่ 3
          นายอิฐบูรณ์ อันวงษา จำเลยที่ 4 นางบุษมาศ รักสนาม จำเลยที่ 5 พล.อ.กิตติศักดิ์ รัตนประเสริฐ จำเลยที่ 6 นางบุญถิ่น ศิริธรรม จำเลยที่ 7 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 8 พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี จำเลยที่ 9 และม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี จำเลยที่ 10 เบื้องต้นมี 2 คนเซ็นรับทราบหมายไปไต่สวนแล้ว ได้แก่ นายสรรพฤทธิ์ และพ.ท.พญ.กมลพรรณ
          ปธ.กมธ.ชี้แจงกลางสภา
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมสนช.เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.. เริ่มเวลา 14.00 น. ซึ่งก่อนการประชุม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ สำนักงานเลขาธิการสนช. เผยแพร่เอกสาร ชี้แจงขั้นตอนการผลักดันร่างกฎหมายฉบับ ดังกล่าว 9 ข้อ โดยเป็นเอกสารเนื้อหาเดียวกับที่นายกฯนำมาแจกจ่ายสื่อมวลชน
          ส่วนการประชุมสนช. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม โดยพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกมธ.ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีความพยายามเชื่อมโยงกล่าวหาต่างๆ นานา ผ่านสื่อทุกอย่าง ล่าสุดมีอดีตผู้ใหญ่ออกมาพูด ซึ่งตนไม่อยากให้สัมภาษณ์ตอบโต้ มีโทรศัพท์มาเป็นร้อยสาย ตนไม่รับเพราะคิดว่าเป็นคนของสภา จึงอยากมาพูดในสภาดีกว่า
          พล.อ.สกนธ์กล่าวว่า คิดว่าภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจ และที่กล้าออกมาคัดค้านรัฐบาลทหารเพราะคนเหล่านี้เชียร์ทหารให้ปฏิวัติ เป็นเพื่อนกับเรา แต่เราพยายามปรับแก้ให้เท่าที่เป็นไปได้ เพราะปัญหาเยอะมาก จะแก้ไขให้หมดทุกอย่างภายในชั่วข้ามคืนคงไม่ได้ เพราะหมักหมมมานาน มีหลายมิติ ขณะเดียวกัน ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายปตท. สิ่งที่ออกมาทั้งหมดเป็นเสมือนน้ำแข็งที่ลอยอยู่กลางน้ำ นายทุนก็กล่าวหาว่าเราเป็นซ้ายจัด ฟังภาคประชาชนมากเกินไป ภาคประชาชนก็โจมตี มีขบวนการสร้างความไม่พอใจเกิดขึ้น ทั้งที่เราเสนอเรื่องนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว
          ไม่เขลาทำร้ายประเทศ
          พล.อ.สกนธ์กล่าวว่า ตั้งแต่มีกฎหมายปิโตรเลียม ซึ่งมีแค่ระบบสัมปทานอย่างเดียว ทั้งที่ทั่วโลกเปลี่ยนไปหลายวิธีแล้ว และจากการศึกษาพบว่าระบบสัมปทานยังเหมาะสม อยู่ แต่ควรมีวิธีอื่นด้วย เช่นระบบแบ่งปันผลผลิตที่ทั่วโลกใช้กัน โดยเจ้าหน้าที่รัฐไปร่วมทำงานกับเอกชน เพื่อจะได้รู้ว่าพลังงานออกมาเท่าไร จะได้แบ่งปันตามสัญญาและเงื่อนไข และอีกวิธีคือสัญญาจ้างบริการ แต่ร่างที่รัฐบาลเสนอมา กำหนดให้เป็นสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่สมบูรณ์จึงรับไม่ได้ เพราะถ้าจะเลือกใช้ทั้งระบบ แบ่งปันผลผลิตและการจ้างบริการ จะต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่มาก จึงเสนอเป็นแผนระยะยาวไม่ใช่ทำทันที
          ที่ผ่านมามีการกล่าวหาว่าตนพยายามดึงกลับไปให้ทหาร โดยให้กรมพลังงานทหารมาเป็นแกนนำหลัก ซึ่งตนไม่เคยพูด เพราะตนรับราชการทหาร อยู่ในวงการปิโตรเลียมมาเป็นสิบปี คิดว่าคนจาก 3 ส่วนที่เข้ามาทำงานนี้ได้ มาจาก 3 ที่คือ กรมพลังงานทหาร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และปตท.สผ. แต่พยายามโยงว่าจะดึงกลับไปให้ทหารเหมือนในอดีต ซึ่งตนไม่เขลาพอจะทำร้ายประเทศ
          เซ็งโดนรุมกล่าวหา
          "มีความพยายามโยงการกระทำกับพวกผม 6 คนแบบนี้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ กมธ.ใช้เวลายาวนานพิจารณา เราได้ปรับแก้ร่างกฎหมาย เปลี่ยนชื่อระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้ ถูกต้องจากคำว่า สัญญาจ้างสำรวจและผลิต มาเป็นสัญญาจ้างบริการ ขณะเดียวกัน เรายังนำมติครม.มาเพิ่มเป็นมาตรา 10/1 ที่เป็นประเด็นอยู่ ซึ่งผมไม่ได้ขอขึ้นไป แต่รัฐบาลคงทราบจากหลายสื่อจึงคิดว่าสำคัญ เมื่อครม.ต้องการแบบนี้ ก็เป็นหน้าที่ผมต้องไปชี้แจงว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจำเป็นอย่างไร รูปแบบกำหนดว่าถ้ามีความพร้อมก็ค่อยตั้ง แต่มีความพยายามชี้ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ และกดดันให้ถอนร่างออก กล่าวหาอย่างโน้นอย่างนี้ จะดึงทหารเข้ามาเกี่ยว จึงได้ปรึกษากับเพื่อนกมธ.ทุกคนแล้วว่าจะไม่สนใจกับคำพูดเหล่านี้" พล.อ.สกนธ์กล่าว
          จากนั้นได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย ส่วนใหญ่อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายธานี อ่อนละเอียด นายสมชาย แสวงการ อภิปรายเห็นด้วยที่จะให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าควรนำไปบรรจุไว้ในข้อสังเกต เพราะการนำมาเขียนเพิ่มเป็นมาตรานั้นถือว่าผิดหลักการ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน และเห็นว่าควรเดินหน้าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไปเพราะเป็นประโยชน์
          กมธ.ยอมถอยตัดมาตรา 10/1
          ต่อมาเวลา 18.05 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุม เพื่อให้กมธ.และผู้อภิปรายหลอมรวมความคิดเห็น เนื่องจากมาตรา 10/1 ใช้เวลาอภิปรายนานมากแล้ว และเวลา 18.40 น. การประชุมเริ่มอีกครั้ง โดยพล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ อภิปรายว่า การเขียนกฎหมายเปิดไว้อย่างนี้ เปิดช่องสุ่มเสี่ยงให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบบรรษัทน้ำมันผิดเพี้ยนไป โดยอ้างกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น ขอเสนอให้ใส่ลงไปในข้อสังเกตว่าการตั้งบรรษัทน้ำมัน ต้องทำภายใน 1 ปี หากไม่ทำ สมาชิก 25 คนสามารถเข้าชื่อเสนอเป็นกฎหมายให้มีการจัดตั้งได้
          พล.อ.สกนธ์ ชี้แจงว่า เนื่องจากกมธ.ได้พิจารณาโดยรอบคอบและกำหนดเป็นมาตรา 10/1 ขอยืนตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเราผ่านขั้นตอนมามากมายแล้ว
          ด้านนายสมชาย แสวงการ เสนอตัดมาตรา 10/1 แล้วให้เอาไปใส่ไว้ในข้อสังเกตอย่างหนักแน่น ขณะที่พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรมว.พลังงาน ระบุว่า หากมีการเสนอเป็นข้อสังเกตในร่างพ.ร.บ. รมว.พลังงานพร้อมนำข้อสังเกตนี้ไปศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม จะใส่ใจ และฟังความเห็นเพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียในการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด
          ทำให้พล.อ.สกลธ์แจงว่า ทางกมธ.ยอมรับในข้อเสนอให้มาตรา 10/1 ไปอยู่ในข้อสังเกต เพื่อให้สภาเดินหน้าต่อไปได้
          ใส่ในข้อสังเกต-ตั้งกก.ศึกษา 1 ปี
          จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติร่างพ.ร.บ.ปิโตร เลียมป็นรายมาตรา ผ่านวาระ 2 และมีมติผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป และที่ประชุมได้เห็นชอบข้อสังเกต 10.5 การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยที่ร่างพ.ร.บ.นี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจัดจ้างบริการมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต
          รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้น ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว ครม.จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วันเพื่อพิจารณาศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปีต่อไป โดยที่ประชุมใช้เวลาพิจารณารวม 6 ชั่วโมง
          ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ.... และลงมติเห็นชอบวาระ 3 เพื่อรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ด้วยคะแนน 216 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 ก่อนที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่สอง สั่งปิดการประชุม
          'ปึ้ง'ไม่รอดคดีถอดถอน
          สำหรับการประชุมสนช.เพื่อลงมติถอด ถอนหรือไม่ถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักขณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.ต่างประเทศออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯโดยมิชอบ เริ่มเวลา 11.30 น. มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม
          โดยเป็นการลงคะแนนลับ ซึ่งมติที่จะถอดถอนได้ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกสนช.ทั้งหมด ซึ่งมี 250 คน หรือไม่น้อยกว่า 150 เสียงขึ้นไป ผลการลงคะแนนปรากฏว่าที่ประชุมมีมติถอดถอนนายสุรพงษ์ด้วยคะแนน 231 ต่อ 4 งดออกเสียง 3 ส่งผลให้นายสุรพงษ์ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี โดยจากนี้ไปสนช.จะแจ้งมติให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายสุรพงษ์ เลขาธิการครม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
          ทั้งนี้ การถอดถอนนายสุรพงษ์ครั้งนี้ถือ เป็นคดีถอดถอนสุดท้ายที่สนช.จะดำเนินกระบวนการถอดถอนตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนอีกต่อไป และการถอดถอนนายสุรพงษ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นคะแนนสูงที่สุด จากเดิมนายนริศร ทอง ธิราช อดีตส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ถูกถอดถอนด้วยคะแนน 221 เสียง
          'แม้ว'ฟ้องคอลัมนิสต์หมิ่น
          เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อร.ต.อ.กง ไม่เศร้า รองสว.(สอบสวน) กก 3 บก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับ เปลว สีเงิน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา14 (1) (5) และมาตรา 15
          นายชุมสายกล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 27 มี.ค. ได้เขียนบทความในคอลัมน์ปลายซอย ที่ลงในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ โดยกล่าวหานายทักษิณมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป และกล่าวหาว่าข้าราชการทำตามคำสั่งของนายทักษิณที่ไม่ประเมินและเรียกเก็บภาษี ทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวได้ยุติไปแล้ว จึงไม่สามารถทำได้ รวมถึงจะแจ้งความดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ปราชญ์ สามสี" ซึ่งเป็น ผู้เริ่มเขียนข้อความกล่าวร้ายดังกล่าว
          นายชุมสายกล่าวว่า ขอฝากให้หน่วยงานที่ควบคุมองค์กรสื่อออกมาควบคุมการทำ งาน การนำเสนอข่าวของสื่อด้านต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ด้วย และอยากฝากเตือนถึงต้นสังกัดของทุกสำนักข่าวว่า หากพบว่าปล่อยปละละเลยให้เขียนหรือให้สัมภาษณ์ ส่งต่อข้อความใส่ร้ายต่อนายทักษิณ และเข้าข่ายการกระทำความผิด จะดำเนินคดีกับผู้เขียน ผู้ให้สัมภาษณ์ ต้นสังกัด รวมทั้งผู้ส่งต่อข้อความจนคดีถึงที่สุด
          ผงะ!หนูไต่ถาดข้าวแกงรัฐสภา
          ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ช่วงสาย วันที่ 30 มี.ค. แอพพลิคเคชั่นไลน์กลุ่มข้าราชการสำนักงานเลขาฯวุฒิสภาหลายกลุ่ม มีการแชร์ภาพที่ถ่ายจากร้านข้าวแกงในสโมสรรัฐสภา เป็นหนูสีดำตัวเขื่องกำลังกินอาหารบนถาดกับข้าวในตู้ขายอาหาร ทำให้ข้าราชการในกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่แสดงความรู้สึกขนลุก ขยะแขยง น่ากลัว เพราะหนูตัวใหญ่มาก บางคนอุทานว่าเพิ่งไปกินอาหารที่สโมสรรัฐสภา และตั้งข้อสงสัยหนูมาอยู่บนถาดอาหารได้อย่างไร เพราะร้านอาหารต้องสะอาด ภาชนะต้องมิดชิด และ ยังมีการแชร์ภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวของข้าราชการด้วย เมื่อผู้สื่อข่าวส


pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved