HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/03/2560 ]
ครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย-อายุยืน

  เป็นที่ทราบกันดีว่าสัดส่วนของวัยประชากรสูงอายุในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยความทันสมัยและคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นช่วยให้ประชากรวัยสูงอายุสุขภาพดีและมีอายุยืนยาว ในขณะที่ประชากรวัยเด็กที่ถือเป็นวัยแรงงานในอนาคตกลับมีจำนวนลดลงและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นว่าหนุ่มสาวสมัยนี้อยู่เป็นโสดกันมากขึ้น เรียนสูงขึ้น เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น แต่งงานกันน้อยลง หรือแต่งงานช้าลงทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยากและไม่อยากมีบุตร ปัจจัยเหล่านี้ทำให้อัตราการเกิดเริ่มลดลง โดยในปี 2558 จำนวนการคลอดบุตร เฉพาะสัญชาติไทย อยู่ที่ 6.8 แสนรายต่อปี ซึ่งความจริงต้องไม่ต่ำกว่า 7.5 แสนรายต่อปี เพื่อทดแทนประชากรเดิมที่ตายปีละกว่า 6 แสนราย ทั้งนี้หากอัตราการเพิ่มของประชากรไทยยังคงลดลงต่อเนื่อง แน่นอนว่าจะส่งผลต่อจำนวนแรงงานในอนาคตที่ลดลง ประชากรและรายได้ของวัยแรงงานในอนาคตไม่เพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลรายได้ของกลุ่มผู้สูงอายุ และสัดส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุก็จะเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าคนไทยพร้อมหรือยัง ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้
          นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยถึงวาระแห่งชาติเรื่องการส่งเสริมการเกิด ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 5 เรื่อง "ปฏิรูปสังคมสูงวัย สร้างเด็ก เกิดใหม่ให้มีคุณภาพ" ว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยแนวโน้มเริ่มต่ำกว่าระดับทดแทน คือ 1 ครอบครัวเฉลี่ยมีลูก 1.6 คน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่พอกับการทดแทนพ่อแม่ ถ้าจะให้เพียงพอกับการทดแทน อัตราเจริญพันธุ์รวมจะต้องอยู่ที่ 2.1 เพื่อทดแทนพ่อ 1  แม่ 1 ทดแทนการสูญเสียอีก 0.1 แปลว่า ครอบครัวหนึ่งควรมีลูกมากกว่า 2 คน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เอง ก็ได้มี นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยตั้งเป้าไว้ว่าอัตราเจริญพันธุ์รวมต้องไม่ต่ำกว่า 1.6 และในแผนได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนากฎหมาย นโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและสร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะส่งผลให้การเกิดทุกรายเกิดด้วยความพร้อม เกิดรอดปลอดภัยทั้งแม่และลูก ตลอดจนพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อเอื้อให้ครอบครัวพร้อมจะมีลูก ให้หญิงได้รับการดูแลตั้งแต่ระยะก่อนสมรส ระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด รวมไปถึงจัดสวัสดิการในด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ครอบครัวในการเลี้ยงดูลูกด้วย
          "เป็นเรื่องของความสมัครใจในประเด็นที่ว่าทำไมต้องมีลูก สำคัญที่สุดคงเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ นอกจากในแง่การดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ไทยแล้ว จะเป็นเรื่องของความสามารถในการทำงาน ความสามารถในการสร้างผลผลิตของประเทศ หากกลุ่มที่จะต้องเข้ามาแบกรับภาระการทำงานของประเทศในอนาคตไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวมได้"
          ด้าน รศ.ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วย ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA) กล่าวเสริมว่า 10 ปีที่ผ่านมา หญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี ตั้งครรภ์จำนวนสูงมากและสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พร้อม ขาดความรู้ในการป้องกันทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แต่ในปัจจุบันอัตราคลอดของหญิงวัยรุ่นได้ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคุมกำเนิดที่ได้ผลดี ขณะที่ผู้หญิงวัยทำงานหรือวัยแรงงาน เมื่อ 50 ปีที่แล้วมีลูก 5-6 คน แต่ปัจจุบันภาวะเจริญพันธุ์กลับลดลงมาจนถึงจุดที่ต่ำกว่าระดับทดแทน เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่างทางสังคมที่ทำให้คนอยากมีลูกน้อยลง หากปล่อยให้จำนวนประชากรวัยเด็กลดลงต่อเนื่องอย่างนี้ อีกไม่ถึง 30 ปี จะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการมีนโยบายต่างๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทเพื่อรักษาอัตราการเกิดทดแทนการตายจึงเป็นสิ่งสำคัญ และการสร้างแรงจูงใจจะให้คนมีลูกเพิ่มขึ้นจะไม่ได้ผลหากไม่ได้เกิดจากการสร้างทางเลือกที่มีสภาพเอื้อให้บุคคลสามารถตัดสินใจเรื่องการมีครอบครัวและลูกได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ จากนโยบายส่งเสริมการมีลูกที่มีคุณภาพ คงจะต้องมีการต่อยอดเรื่องการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตครอบครัวด้วย
          อนึ่ง การรณรงค์ความคิดให้สะท้อนถึงสภาพปัญหา เกิดการเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้เข้ากับบริบทแต่ละช่วงอายุเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การเกิด-เติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นวัยแรงงานและผู้สูงวัยที่มีคุณค่า สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตต่อไป


pageview  1204937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved