HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/03/2560 ]
'สพฉ.'เตรียมเล่นงานรพ.แจกน้ำมัน-แลกส่งผู้ป่วย

   สพฉ.ส่งฝ่ายกฎหมายตรวจสอบโรงพยาบาล แจกคูปองน้ำมันให้ จนท.กู้ชีพแลกป้อนผู้ป่วย นำโลโก้หน่วยงานไปแอบอ้างทำเสียชื่อ 
          เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ให้ความเห็นกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมออกประกาศกระทรวงเพื่อแก้ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง ว่า รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลสิทธิการรักษาสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในสิทธิทุกระบบ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เมื่อจะมีออกประกาศกระทรวงเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือผู้ป่วยกลุ่มสีแดงออกมา จึงมองว่าเป็นเรื่องดีมาก ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลกำไรอะไร ถือเป็นเรื่องที่ดีในเรื่องการรักษามากกว่า
          "ที่ผ่านมาปัญหาในการรับผู้ป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน คิดว่ามาจากการไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนและมีค่าตอบแทนต่ำมาก เมื่อมีประกาศดังกล่าวออกมา มีกติกาใหม่ว่าจะมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นแกนกลางในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรับผู้ป่วยฉุกฉิน 72 ชั่วโมง และหากเกิน 72 ชั่วโมง และต้องการรับการรักษาต่อจะคิดค่ารักษาในราคาปกติ จะทำให้ระบบการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินดีขึ้น  อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการส่งต่อยังมีโดยตลอด เนื่องจากโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินมักเตียงเต็ม จึงทำให้ต้องรักษาต่อในโรงพยาบาลที่รับเข้ามา และต่อไปก็คิดว่าปัญหาจะยังคงอยู่ แต่เชื่อว่าการมีประกาศดังกล่าวออกมา จะทำให้ทั้งโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของรัฐ กระตือรือร้นในการรักษามากขึ้น" นพ.ปิยะกล่าว
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างประกาศ สธ.และหลักเกณฑ์กระทรวงที่เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ. พิจารณา และรอประกาศใช้นั้น ประกอบด้วย 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศ สธ. เรื่องกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน 2.ประกาศ สธ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น และ 3.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
          ทั้งนี้ ฉบับที่ 3 น่าสนใจมากที่สุด คือหลักเกณฑ์ วิธีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จากปัจจุบันมีปัญหาในแง่โรงพยาบาลเอกชน ไม่ค่อยยอมรับกับอัตราค่ารักษา เนื่องจากมองว่าราคาต่ำกว่าต้นทุนของโรงพยาบาล แม้จะดูแลด้วยหลักมนุษยธรรม แต่หากรับจำนวนมากก็ไม่สามารถรองรับได้ หลายแห่งจึงไม่เข้าร่วมโครงการเพราะเป็นการเปิดให้ร่วมในลักษณะสมัครใจ สำหรับอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ซึ่งปรับปรุงล่าสุดแบ่งออกเป็น 12 หมวดกว่า 3 พันรายการ คือ 1.หมวดค่าห้องและค่าอาหาร อาทิ เตียงผู้ป่วยสามัญร่วมกับค่าอาหาร ราคา 400 บาทต่อวัน หอผู้ป่วยวิกฤตร่วมกับค่าอาหาร 1,600 บาทต่อวัน 2.หมวดค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค
          3.หมวดค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด 4.หมวดค่าเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา 5.หมวดค่าบริการโลหิตและส่วนประกอบของโลหิต 6.หมวดค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์ 7.หมวดค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาทางรังสีวิทยา 8.หมวดค่าตรวจวินิจฉัยโดยวิธีพิเศษอื่นๆ 9.หมวดค่าทำหัตถการ 10.หมวดค่าบริการวิสัญญี 11.หมวดค่าบริการวิชาชีพ และ 12.หมวดค่าบริการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยตรง โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีการประเมินทุก 6 เดือน
          นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงกรณีโลกออนไลน์ส่งต่อข้อมูล กรณีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแจกคูปองน้ำมันให้กับมูลนิธิที่นำผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุทุกกรณีมาส่งให้กับโรงพยาบาลว่า สพฉ.รับทราบข่าวแล้ว โดยในคูปองที่มีการส่งต่อกันในโลกออนไลน์มีการใส่โลโก้และตัวการ์ตูนของ สพฉ.เข้าไปด้วย ขอชี้แจงว่า สพฉ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแจกคูปองดังกล่าว การที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้นำโลโก้และตัวการ์ตูนของ สพฉ.ไปพิมพ์บนคูปอง เข้าข่ายการแอบอ้างที่ส่งผลเสียต่อ สพฉ. ซึ่งฝ่ายกฎหมายจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการแอบอ้างแบบนี้อีก
          เลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ทำงานผ่านระบบของสายด่วน 1669 มีมาตรฐานรองรับการทำงานที่เป็นระบบ โดยเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ.ผ่านการฝึกฝนที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะวิธีในการคัดแยกผู้ป่วย หากพบว่าเป็นผู้ป่วยวิกฤตเจ้าหน้าที่จะนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที เจ้าหน้าที่ที่ขึ้นทะเบียนกับ สพฉ.จะไม่มีใครนำผู้ป่วยไปส่งให้กับโรงพยาบาลที่จ่ายอามิสสินจ้างในลักษณะดังกล่าว โดย สพฉ.มีหลักเกณฑ์ในการจ่ายผลตอบแทนให้กับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ออกปฏิบัติงานในแต่ละครั้ง จะเป็นเงินจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นไปตามระเบียบและมีมาตรฐาน ไม่ได้นั่งโต๊ะแจกจ่ายให้หน่วยกู้ชีพทั้งหมด แต่จ่ายให้กับหน่วยแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูลของ สพฉ.เท่านั้น
          "หลักเกณฑ์คู่มือแนวทางการจ่ายเงินกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะมีการจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ 100-1,000 บาท ให้กับชุดปฏิบัติการฉุกเฉินที่ปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยและชุดปฏิบัติการฉุกเฉินว่าเป็นระดับสูง กลาง ต้น หรือเบื้องต้น ขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่าบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในระบบสายด่วน 1669 สามารถให้บริการประชาชนด้วยระบบที่ได้มาตรฐาน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เราจะรีบตรวจสอบอย่างเร่งด่วนและอยากขอร้องโรงพยาบาลเอกชนที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว หยุดพฤติกรรมนี้เพราะจะส่งผลต่อโอกาสที่ผู้ป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาที่เป็นธรรมและทันท่วงทีด้วย" นพ.อัจฉริยะกล่าว
          ด้านนายสุเทพ ณัฐกานต์กนก รองประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ้ง นครราชสีมา ในฐานะประธานฝ่ายกู้ชีพ หน่วยกู้ภัยสว่างเมตตาธรรมสถาน เขต 6 ให้ความเห็นกรณีโรงพยาบาลเอกชนแจกคูปองน้ำมันเจ้าหน้าที่กู้ชีพ เพื่อให้นำผู้ป่วยมาส่ง ว่า ทุกครั้งเมื่อรถพยาบาลออกไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินนำส่งต่อไปโรงพยาบาล ศูนย์สั่งการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 จะเป็นผู้สั่งการ เมื่อถึงที่หมายเป็นขั้นตอนการประเมินระดับสีเหลือง สีแดง โดยวิทยุสื่อสารสอบถามอาการเบื้องต้น เช่น ลักษณะบาดแผล ระดับความรู้สึก เพื่อแจ้งให้ชุดปฏิบัติการที่มีขีดความสามารถเพียงพอ เช่น รถพยาบาลระดับสูงสุด (Advance life support-ALS) รถพยาบาลระดับกลาง (Basic life supportBLS) หรือชุดปฏิบัติการระดับต่ำสุด (First responder-FR) ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครสังกัดมูลนิธิการกุศล ที่ผ่านการอบรมหลักการแพทย์ฉุกเฉินดำเนินการต่อไป
          "การนำส่งโรงพยาบาลทุกกรณีต้องผ่านความเห็นชอบของศูนย์สั่งการ 1669 ยกเว้นผู้ป่วยมีสติและสามารถพูดจาโต้ตอบได้ หรือมีญาติอยู่ในที่เกิดเหตุเลือกสถานพยาบาลเอง ซึ่งเป็นความพอใจส่วนตัว ซึ่งทุกครั้งที่มีการประชุมร่วมผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกลุ่มจิตอาสาจำนวนร่วม 200 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ห้ามเห็นแก่อามิสสินจ้าง ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกลงโทษขั้นเด็ดขาด" นายสุเทพกล่าว


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved