HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 19/04/2555 ]
มข.วิจัยเทคนิคช่วยคลอด ลดอัตราเสี่ยงแม่-เด็ก

การคลอดในภาวะเร่งด่วน เกิดขึ้นได้ในหลายกรณี อาทิ ภาวะอัตราการเต้นของหัวใจทารกช้ากว่าปกติ ทำให้ทีมสูติแพทย์ต้องช่วยทำคลอดเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของทารก ในอดีตวิธีการช่วยคลอดใช้อุปกรณ์เรียกว่า "ฟอร์เซ็บ" มีลักษณะคล้ายคีม 2 อัน โดยสอดใส่เข้าไปในช่องคลอด ทั้ง 2 ข้าง เพื่อคีบเอาศีรษะทารกออกมา การใช้อุปกรณ์นี้มักพบผลเสียที่เกิดขึ้นกับแม่ คือ เกิดการฉีกขาดของช่องคลอดเป็นบริเวณกว้าง
          ปัจจุบันสูติแพทย์นิยมใช้อุปกรณ์ช่วยคลอดชื่อว่า "เครื่องดูดดึงสุญญากาศ" หรือ "Vacuum" มีลักษณะเป็นถ้วยสุญญากาศใช้ช่วยคลอดในระยะที่ 2 ร่วมกับการเบ่งของแม่ ผู้พัฒนาเครื่องได้แนะนำการใช้เครื่อง Vacuum ว่า ต้องลดความดันอากาศลงเริ่มที่ 0.2 บาร์ ทุกๆ 2 นาที จนถึง 0.8 บาร์ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 8-10 นาที จึงจะสามารถดึงศีรษะทารกได้
          วิธีการนี้ขัดแย้งกับการใช้งานจริงเพราะในกรณีฉุกเฉินที่ต้องทำการช่วยคลอดอย่างเร่งด่วน หากต้องรอเวลานานถึง 8 หรือ 10 นาที อาจเกิดอันตรายต่อแม่และทารกได้ เหตุนี้จึงเป็นที่มาของการวิจัยเทคนิคการใช้เครื่องดูดดึงสุญญากาศ ผลงาน ศ.นพ.ภิเศก ลุมภิกานนท์ สูติแพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมกับ   นพ.บรรพจน์ สุวรรณชาติ สูติแพทย์ และรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์
          นพ.บรรพจน์ กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ว่า การช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดดึงสุญญากาศ หรือ เครื่อง Vacuum ตามที่ผู้พัฒนาเครื่องได้แนะนำไว้ว่าต้องลดความดันทีละ 0.2 บาร์ ซึ่งต้องใช้
          เวลาประมาณ 8-10 นาที จึงจะสามารถใช้งานได้ แต่ในสภาวะคับขัน ถ้าจะรอนาน 8-10 นาที ปัญหาที่ตามมาคือ เด็กเสี่ยงต่อการเป็นอันตรายสูง เลยเกิดคำถามว่าจริงๆ แล้ว วิธีการช่วยคลอดโดยใช้เครื่อง Vacuum ตามแบบเดิมนั้นจำเป็นต้องทำแบบนี้เสมอไปหรือ
          ไม่ แต่เนื่องจากว่าข้อมูลผลงานวิจัยที่จะมารับรองวิธีการใหม่จากทั่วโลก มีอยู่เพียงแค่ผลงานวิจัยเรื่องเดียว มีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะมารองรับ คณะแพทยศาสตร์ มข. และสภาวิจัยแห่งชาติ จึงสนับสนุนงบประมาณให้เราทำการวิจัยในโรงพยาบาลเครือข่ายทั้ง 6 แห่ง ควบคุมปัจจัยต่างๆ อย่างดี ผลที่ออกมาพบว่า การลดความดันอย่างค่อยเป็นค่อยไป กับการลดความดันอย่างรวดเร็วไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของประสิทธิภาพ ความสำเร็จความปลอดภัยที่มีผลต่อแม่และทารก แถมยังใช้เวลาน้อยกว่าเกือบ 5 นาที
          ส่งผลดีต่อการช่วยชีวิตแม่และทารกสำหรับการคลอดในภาวะคับขันได้เป็นอย่างดี นี่คือความสำเร็จของผลงานวิจัยที่เกิดจากการสังเกตปัญหาจากการทำงานปกติทั่วไปจนกลายเป็นกระบวนการศึกษาวิจัยที่มีประสิทธิภาพ
 


pageview  1204965    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved