HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 01/02/2560 ]
'กาชาด'เข้มบริจาคเลือด เพิ่มคัดกรองเชื้อไวรัสซิกา

  สภากาชาดไทยหวั่นเลือดปนเปื้อนเชื้อ'ไวรัสซิกา' เพิ่มข้อคัดกรองผู้บริจาคโลหิต 'หมอประเสริฐ'แนะ รพ.ทั่วประเทศปฏิบัติตาม ด้าน 'จุฬาฯ'เปิด'ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่' เฝ้าระวังเข้มข้น
          เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อภิปรายเรื่อง "ทำไมเราต้องกังวลไวรัสซิกา" ในงานเปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า สภากาชาดไทยได้เพิ่มข้อคัดกรองการบริจาคเลือด โดยให้ระบุว่าผู้บริจาคเลือดที่เคยไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ด้วย เนื่องจากพบว่า ผู้ที่รับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา มีโอกาสติดเชื้อด้วยประมาณร้อยละ 30 แต่ตัวเลขนี้ยังไม่แน่ชัด ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันจึงมีระบบการคัดกรองเลือดที่มากขึ้น และศูนย์รับบริจาคเลือดทุกแห่งของโรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องเพิ่มคัดกรองตรงนี้ด้วย
          "ไม่ใช่ว่าจะต้องวิตกกังวลจนไม่กล้าบริจาคเลือดกันหมด มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาขาดเลือดขึ้นอีก เพราะขณะนี้การบริจาคเลือดมีระบบการคัดกรองในระดับหนึ่ง แต่ตัวผู้บริจาคเองต้องตระหนักและให้ข้อมูลก่อนการบริจาคให้ชัดเจนด้วย เช่น เคยไปพื้นที่ระบาดมาก่อนหรือไม่ หรือเคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกเมื่อเร็วๆ นี้หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งเมื่อผ่านการคัดกรองเบื้องต้นแล้ว ศูนย์รับบริจาคเลือดจะเป็นผู้ตรวจสอบ ไม่ต้องกังวล" ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องมีการศึกษาต่อ คือ หากนำเลือดที่ติดเชื้อซิกาแล้วไปแช่ตู้เย็น ต้องใช้เวลานานกี่วัน เชื้อดังกล่าวจึงจะหมดและไม่แพร่ไปสู่ผู้รับเลือดรายอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป เชื่อว่าประเด็นนี้สภากาชาดมีมาตรฐาน
          ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคดีที่สุด คือการตัดพาหะอย่างยุงลายออก ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของราชการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน ยกตัวอย่าง การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ราชการไม่สามารถเข้าไปกำจัดยุงลายภายในบ้านได้ ทั้งที่คอนโดมิเนียมก็มีแหล่งเพาะพันธุ์จำนวนมาก เช่น กระถางต้นไม้ แจกันดอกไม้ เป็นต้น แต่คนที่จะสามารถกำจัดได้คือคนที่อาศัยอยู่ อีกปัญหาคือชาวบ้านจะไม่ค่อยทราบหรือสนใจเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคภัยที่ราชการมอบให้เท่าใดนัก ดังนั้น จึงต้องมีการสอดแทรกข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพ เช่น เรื่องโรคซิกา หรือการกำจัดลูกน้ำยุงลายไปในละครต่างๆ รวมถึงการปลูกฝังและสอนเรื่องนี้ภายในโรงเรียนด้วย
          ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้สถานการณ์ไวรัส ซิกาที่ทำให้เด็กหัวลีบเป็นอย่างไร ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่าง การพิจารณาและติดตามว่า เด็กหัวเล็ก เกิดจากเชื้อซิกาจริงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังยืนยันที่ 3 ราย


pageview  1205140    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved