HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 24/03/2559 ]
นักวิจัยสหรัฐ คิดค้น “แผ่นแปะมหัศจรรย์” ใช้สำหรับคุม”เบาหวาน”

ทีมนักวิจัยในสหรัฐอเมริกานำโดย เจิ้น กู่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา ประสบความสำเร็จอีกขั้นในการคิดค้นอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพื่อให้ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจและฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด

ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกิดจากการทำงานบกพร่องของเซลล์ชนิดหนึ่งคือ “เบตาเซลล์” ซึ่งมีมาในตับอ่อนและทำหน้าที่ผลิตอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้สม่ำเสมอ ด้วยการนำน้ำตาลส่วนเกินไปผ่านกระบวนการเพื่อเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์ทางอื่น เมื่อเบตาเซลล์ทำงานบกพร่อง จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดมีมากหรือน้อยเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆได้อย่างเช่น อาการ ไฮโปกลีเคเมีย (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ), ตาบอด, โคม่า เรื่อยไปจนถึงขั้นหนักคือเสียชีวิตได้

หลักการทำงานของแผ่นแปะเพื่อรักษาระดับน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ก็คือการสร้างแผ่นพลาสเตอร์สำหรับแปะบนผิวหนังของผู้ป่วย ภายในแผ่นดังกล่าวบรรจุเบตาเซลล์ที่มีชีวิตไว้ ในขณะเดียวกันพื้นผิวด้านล่างของแผ่นแปะก็จะมีเข็มขนาดเล็กเท่ากับขนตาของคนเรา ซึ่งเล็กมากจนไม่รู้สึกเจ็บหรือรำคาญ ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเบตาเซลล์พิเศษที่อยู่ในแผ่นกับกระแสเลือด นอกจากนั้นทีมวิจัยยังติดตั้ง “กลูโคส ซิกแนล แอมพลิฟายเออร์” ไว้ในแผ่นสำหรับตรวจจับระดับน้ำตาลในกระแสเลือด แล้วสื่อสารไปยังกลุ่มเบตาเซลล์ให้ผลิตอินซูลินเพิ่มออกมาฉีดเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ป่วย

ข้อดีของการใช้แผ่นแปะที่ติดตั้งเบตาเซลล์ ก็คือ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพื่อให้อินซูลินอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันการให้อินซูลินมากหรือน้อยเกินไปไปในตัว ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่าแผ่นสมาร์ทอินซูลิน ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยเดียวกันนี้ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม แผ่นเบตาเซลล์ดังกล่าวหนึ่งแผ่นสามารถใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดในหนูทดลองได้ผลในช่วงระยะเวลาเพียง 10 ชั่วโมง ทำให้ทีมวิจัยจำเป็นต้องหาวิธีการเพิ่มระยะเวลาควบคุมดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้น โดยทดลองแปะแผ่นเบตาเซลล์อีกแผ่นไว้ควบคู่ไปด้วยกัน (แต่ให้ทำงานทีละแผ่น) เพื่อยืดระยะเวลาออกเป็น 20 ชั่วโมง

เจิ้น กู่ หัวหน้าทีมวิจัยยอมรับว่า แผ่นเบตาเซลล์แม้จะมีความปลอดภัยสูง แต่ยังอยู่ในระยะทดลองขั้นต้นในสัตว์ทดลองเท่านั้น

จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนทดลองอีกยาวนานเพื่อให้แน่ใจว่าจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในมนุษย์ต่อไป


pageview  1205081    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved