HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 10/04/2555 ]
เฝ้าระวังลูกวัยรุ่นต้านเสพยาช่วงสงกรานต์

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ น.พ.กฤษกร สุขวัฒน์วิบูลย์จิตแพทย์ด้านสุราและยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่าจะมียาเสพติดระบาดเพิ่มขึ้นในหมู่วัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลแห่งความสนุกสนาน อาจมีการดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด ซึ่งทำให้เกิดความมึนเมา ประสาทหลอน ขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จนทำอะไรลงไปโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ เช่น วัยรุ่นชายอาจเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทชกต่อยอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือวัยรุ่นหญิงอาจคึกคะนองถอดเสื้อผ้าเต้นเปลือยกาย บางครั้งอาจโดนล่อลวงไปข่มขืน

น.พ.กฤษกรขยายความว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่คึกคะนองเวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนฝูงต้องการยอมรับจากเพื่อนๆอิทธิพลของกลุ่มจะมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจของวัยรุ่น ยิ่งการดื่มสุราทำให้ขาดสติยับยั้งชั่งใจ บวกกับต้อง การสนุกสนานเพิ่มเติม จึงใช้สารเสพติดหลายชนิดร่วมกัน เช่น ยาไอซ์ ยาอี โคเคน กัญชา หรือยานอนหลับชนิดต่างๆ

หากพบว่าลูกเมาสุราหรือใช้สารเสพติด ควรรอให้อาการหงุด หงิดหรืออาการเมายาของลูกสร่างก่อนจึงค่อยพูดจากันดีๆ ไม่ดุด่า แต่รับฟังถึงปัญหาและสาเหตุของการเสพสารเสพติด พูดคุยกับลูกแบบตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้ลูกอธิบายว่าเพราะอะไรเขาถึงไปดื่มหรือเสพเพื่อจะได้เข้าใจสาเหตุจะได้สอนหรืออธิบายช่วยกันหาทางแก้ไขป้องกัน เพราะการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือด้านร่างกายไม่เกิดประโยชน์อะไร

แต่ถ้าในกรณีที่ลูกยังอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสารเสพติดแล้วมีอาการรุนแรง อาละวาด วุ่นวาย ทุบตี หรือทำร้ายคนรอบข้าง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อระงับเหตุและรีบพามาบำบัดรักษาโดยเร็ว

การพูดคุยรับฟังกันในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก บางครอบครัวทำงานหนัก พอถึงบ้านแทบจะไม่ได้คุยอะไรกันเลย ช่วงวันหยุดเทศกาลเป็นโอกาสดีที่จะได้คุยกัน รับฟังกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเพิ่มความผูกพันกันในครอบครัว

"ถ้าเป็นไปได้ในช่วงเทศกาล ครอบครัวน่าจะได้อยู่เฉลิมฉลองกันภายในครอบครัว หรือถ้าบุตรหลานจะออกไปกับเพื่อนๆต้องสอนให้พวกเขาทราบถึงอันตรายของสุรายาเสพติดเพื่อจะได้ระมัดระวัง"

จิตแพทย์ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันวัยรุ่นไทยเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายมาก เพราะมีทุกที่ทุกจังหวัด บางครั้งวัยรุ่นบอกว่าแค่เดินออกไปปากซอยก็หาซื้อได้แล้ว

พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตและดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมของลูก เช่น แต่เดิมเคยสนุกสนานร่าเริง กลับกลายเป็นไม่พูด ไม่สุงสิงกับใคร เก็บตัวเงียบ การเรียนตก หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น ไม่นอนกลางคืน เดินไปมา หรือพูดคนเดียว อาจเป็นไปได้ว่าเป็นผลกระทบจากฤทธิ์ของสารเสพติด

ปัจจุบันการบำบัดรักษาแบ่งออกได้ 2 ขั้นตอน คือการบำบัดรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากฤทธิ์ของสุรายาเสพติดจากนั้นพูดคุยถึงสาเหตุ ปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยไปพึ่งพิงสุรายาเสพติด สร้างแรงจูงใจในการบำบัดรักษา อาจมีเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ทราบถึงข้อเสียของการใช้สารเสพติด มีการปรับพฤติกรรม รวมถึงการให้ครอบครัวมีส่วนร่วมบำบัดรักษาด้วยอีกทางหนึ่ง

สำหรับผู้ที่ต้องการรับคำแนะนำและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกยาเสพติด ติดต่อแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาลมนารมย์เพื่อนัดหมายได้ที่โทร.0-2725-9595 หรือ www.manarom.com

--จบ--


pageview  1205101    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved