HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/03/2555 ]
ยากำพร้าที่ไม่กำพร้ากับโอกาสของคนทุกสิทธิ

 "ยากำพร้า" หรือที่รู้จักกันว่า กลุ่มยาต้านพิษ เป็นยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกันหรือรักษาโรคที่พบได้น้อยหรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่องหรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนยาต้านพิษมาไว้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
          ช่วงแรกจัดสรรงบ 5 ล้านบาท สำหรับการจัดหา การสำรองยา 6 รายการ ประกอบด้วย 1.ไดเมอร์แคปรอล (Dimercaprol inj, (BAL)) สำหรับรักษาภาวะเป็นพิษจากสารหนู ปรอท ตะกั่ว 2.ยาโซเดียมไน ไตรต์  (Sodium nitrite inj.) สำหรับรักษาภาวะพิษจากไซยาไนต์ (cyanide) 3.ยาโซเดียมเทียซัลเฟต (Sodium thiosulfate inj.) รักษาภาวะพิษจากไซยาไนต์ 4.ยาเมธิลีนบลู (Methylene blue inj.) รักษาภาวะ methemoglobinemia หรือภาวะที่ได้รับอันตรายจากยาหรือสารพิษ 5.กลูคากอน (Glucagon inj.) สำหรับการยับยั้งเบต้า และยาต้านแคลเซียม กรณีได้รับแคลเซียมเกิน และ 6.ยาซัคซิเมอร์ (Succimer cap. (DMSA)) รักษาภาวะพิษจากสารหนู, ปรอท, ตะกั่ว
          ต่อมาในปี 2554 มีเพิ่มอีก 4 รายการ ประกอบด้วย 1.โบทูลินั่มแอนตี้ท็อกซิน(Botulinum antitoxin) สำหรับรักษาผู้ป่วยได้รับพิษจากโบทูลินั่ม ท็อกซิน (Botulinum toxin) ซึ่งเป็นพิษจากการรับประทานอาหารประเภทหน่อไม้ปี๊บ เนื้อดิบ ถั่วเน่า 2.ดิพทีเรีย แอนตี้ท็อกซิน (Diphtheria antitoxin) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคคอตีบ 3.ดีจ็อกซิน สเปซิฟิค แอนตี้บอดี้ แฟร็กเมนท์ (Digoxin-specfic antibody fragment inj.) สำหรับรักษาภาวะเป็นพิษจากดีจ็อกซิน (Digoxin) และพืชที่มีคาร์ดิแอค ไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside) เช่น รำเพย และ 4.แคลเซียม ไดโซเดียม อีดีเตท (Calcium disodium edetate) สำหรับรักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว สังกะสี แมงกานีส เป็นต้น
          โดยสารพิษที่พบบ่อยในคนไทย ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบการปนเปื้อนทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในเด็กเล็ก ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)  ได้สำรวจเมื่อช่วงปี 2554 ในเด็กอายุ 1-2 ปี จำนวน 151 คน โดยสำรวจใน ต.แม่จันทร์ และ ต.อุ้มผาง พบว่ามีสารตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน คือ 10 ไมโครกรัม/เดซิลิตร มากถึงร้อยละ 60 แต่ปัญหา คือ ยังไม่ทราบที่มาของสารตะกั่วที่ตรวจพบ นอกจากนี้ พิษจากหน่อไม้ปี๊บ ที่เรียกว่า เชื้อคลอสตริเดียมบูโทลินั่ม ก็เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม โดยพิษดังกล่าวจะทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง อ่อนเปลี้ย อาจถึงขั้นเสียชีวิตเช่นกัน
          นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ระบุว่า สปสช.จึงใช้งบราว 20 ล้านบาทในแต่ละปีเพื่อจัดสรรยากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจากข้อมูลการใช้ยาปีงบประมาณ 2554 พบมากที่สุด อยู่ในกลุ่มยาโซเดียมไนไตรต์ และยาโซเดียมเทียซัลเฟต สำหรับรักษาผู้ได้รับสารพิษไซยาไนด์จำนวน 15 ราย ซึ่งเท่ากับยาเมธิลีนบลู 15 ราย รองลงมาประปราย คือ กลุ่มยาไดเมอร์แคปรอล รักษาภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว จำนวน 1 ราย และรักษาภาวะเป็นพิษจากสารทองแดง อีก 1 ราย ส่วนสถานการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีการใช้ยาซัคซีเมอร์ กรณีสารตะกั่วที่อุ้มผาง 12 ราย
          "ยากลุ่มนี้แม้มีอัตราการใช้ต่ำ แต่ไม่สามารถใช้ยาอื่นทดแทนได้ ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนจำเป็นต้องมีการสำรองไว้ใช้ในประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเป็นเครือข่ายสำรองยา 100 แห่งทั่วประเทศ เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้ยาสามารถสืบค้นแหล่งสำรองยาให้เกิดการเข้าถึงยาได้ อย่างรวดเร็ว ทันต่อการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือคนในประเทศเท่านั้น ในต่างประเทศเราก็ให้ความช่วยเหลือในแง่มนุษยธรรม อย่างในพม่าก็มีการส่งยาดิพทีเรีย แอนตี้ท็อกซิน สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคคอตีบให้เช่นกัน เนื่องจากไม่มีการสำรอง แต่ไทยมีจึงช่วยโดยไม่คิดมูลค่า" นพ.วินัยกล่าว
          จากความสำคัญของยาต้านพิษ แว่วว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการเพิ่มรายการกลุ่มยากำพร้าอีก โดยอยู่ระหว่างรอข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาในการนำเสนอเพื่อเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ก่อนเข้าสู่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาต่อไป
 


pageview  1204937    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved