HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 22/02/2555 ]
อึ้ง!สถิติเด็กชายหญิงแปลงเพศพุ่ง
          ผลวิจัยชี้แนวโน้มน่าตกใจ วัยรุ่นและเด็กที่คิดว่าตนเองผิดเพศได้รับการสนับสนุนให้รับการรักษาเพื่อแปลงเพศมากขึ้นทั้งจากหมอและพ่อแม่ จุดประเด็นความกังวลเรื่องจริยธรรม
          จำนวนของวัยรุ่นและแม้กระทั่งเด็กที่คิดว่าตนเองเกิดมาผิดเพศที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่และหมอในการให้การรักษาเพื่อแปลงเพศแม้ว่าจะยังน้อย แต่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอ้างอิงจากผลการศึกษาวิจัย 3 ฉบับ ที่ตีพิมพ์ในวารสารกุมารเวชศาสตร์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์
          เรื่องดังกล่าวจุดประเด็นให้มีการตั้งคำถามเชิงจริยธรรม และผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเรียกร้องให้ระมัดระวังในการใช้ยาสกัดกั้นการเจริญพันธุ์และฮอร์โมนในเด็ก
          เด็กนักเรียนเกรด 2 วัย 8 ขวบรายหนึ่งในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ถือเป็นคนไข้กรณีตัวอย่าง แม้จะเกิดมาเป็นผู้หญิงแต่เด็กน้อยประกาศตั้งแต่เมื่ออายุได้ 18 เดือนว่า "หนูเป็นเด็กผู้ชาย" และติดอยู่กับความเชื่อนั้นมาตลอดครอบครัวของเธออยู่ในสภาวะตกตะลึงสุดขีด แต่ถึงตอนนี้พวกเขายอมรับว่าเด็กคนดังกล่าวเป็นผู้ชายและแม่ของเธอเปิดเผยว่ากำลังรอสัญญาณของวัยเริ่มเจริญพันธุ์เพื่อที่จะให้การรักษา
          ดร.นอร์แมน สแป๊ก ผู้อำนวยการคลินิกระบุเอกลักษณ์ทางเพศแห่งโรงพยาบาลเด็กบอสตันผู้เขียนรายงานการวิจัย 1 ใน 3 ชิ้นบอกว่า กุมารแพทย์จำเป็นต้องรู้ว่าเด็กประเภทนี้มีอยู่และควรจะได้รับการรักษา
          การสลับบทบาททางเพศและการเสแสร้งว่าเป็นเพศตรงข้ามบางครั้งบางคราวเป็นเรื่องปกติสามัญในเด็ก แต่เด็กเหล่านี้ต่างออกไป พวกเขารู้สึกอย่างมั่นใจว่าเกิดมาในร่างกายที่ผิด บางคนถูกวินิจฉัยว่าป่วยทางจิตประเภท "มีความผิดปกติในเอกลักษณ์ทางเพศ" ซึ่งสแป๊กเป็นหนึ่งในแพทย์กลุ่มที่เชื่อว่าเป็นการเรียกชื่อที่ไม่เหมาะสมผลการศึกษาวิจัยใหม่ระบุว่าพวกเขาเหล่านี้อาจมีความแตกต่างทางสมองที่คล้ายคลึงกับเพศตรงข้ามมากกว่า ซึ่งมีเด็กที่มีอาการแบบนี้ราว 1 ใน10,000 โดยประมาณ
          ดร.มาร์กาเร็ต มูน สมาชิกคณะกรรมาธิการชีวจริยศาสตร์ของวิทยาลัยกุมารแพทย์อเมริกันบอกว่า การให้การรักษาเพื่อแปลงเพศกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จุดประเด็นให้เกิดความกังวลด้านจริยธรรม และแรงจูงใจของพ่อแม่กลุ่มนี้ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด
          ดร.มูนบอกว่าเด็กบางคนอาจถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิตเมื่อพวกเขาเพียงแค่รู้สึกไม่พอใจอย่างมากกับบทบาททางเพศในเรื่องที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย หรือบางคนอาจจะแค่เป็นเกย์ แต่ถูกบีบบังคับให้รับการรักษาเพื่อแปลงเพศจากพ่อแม่ที่อาจจะรู้สึกดีกว่าที่จะมีลูกข้ามเพศมากกว่าเป็นรักร่วมเพศ
          "เป็นเรื่องอันตราย ที่จะให้การรักษาที่ไม่สามารถย้อนคืนกลับได้อย่างรวดเร็วเกินไป"ดร.มูนกล่าว
          อย่างไรก็ตาม แพทย์กลุ่มที่ให้การรักษาแบบนี้บอกว่าการรั้งรอไม่รักษาอย่างทันท่วงทีกลับจะเป็นอันตรายมากกว่า เนื่องจากเด็กเหล่านี้มักจะเลือกหนทางที่จะเปลี่ยนกายวิภาคด้วยตนเองขณะที่รายงานการศึกษาวิจัยอีก 2 ชิ้นที่เผยแพร่ออกมาระบุว่าบางส่วนต้องพบกับการข่มเหงทั้งทางกายและวาจา ซึ่งนำไปสู่ความเครียด อาการซึมเศร้า และความพยายามฆ่าตัวตายในท้ายที่สุดซึ่ง ดร.สแป๊กระบุว่า ปัญหาดังกล่าวจะหายไปในเด็กที่ได้รับการรักษาเพื่อแปลงเพศและยินยอมให้ใช้ชีวิตเป็นเพศตรงข้าม
          สมาคมต่อมไร้ท่อสนับสนุนการรักษาเพื่อแปลงเพศด้วยวิธีการใช้ฮอร์โมน แต่ระบุว่าไม่ควรจะให้ก่อนวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งแนวทางแนะนำให้ใช้ยาสกัดกั้นการเจริญพันธุ์จนกระทั่งอายุ 16 หลังจากนั้นให้ใช้ฮอร์โมนเพื่อแปลงเพศตลอดชีวิต แต่ต้องสังเกตผลกระทบทางสุขภาพอย่างใกล้ชิดด้วย นอกจากนี้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตร่วมอยู่ในกระบวนการด้วย (เอพี)

pageview  1205126    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved