HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 27/01/2557 ]
'เจ็ท แล็ก-นอนผิดเวลา'กระทบสุขภาพรุนแรง
 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ในเมืองเซอร์เรย์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ นำโดย ไซมอน อาร์เชอร์ ค้นพบผลกระทบรุนแรงที่คนเราได้รับจากอาการ "เมาเครื่องบิน" หรือ "เจ็ท แล็ก" และ "การนอนผิดเวลา" ในตอนกลางคืน หรือการนอน หลับผิดเวลาไปจากปกติทั่วไปว่า พฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการทำงานของยีนส์ในร่างกายมากกว่า 1,000 ยีนส์ หลายตัวในจำนวนนี้เป็นยีนส์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ป้องกันและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในระหว่างเวลากลางคืนนั่นเอง
          การค้นพบดังกล่าวช่วยอธิบายว่าเพราะเหตุใดเมื่อต้องนั่งเครื่องบินนานๆ ข้ามโซนเวลา ซึ่งทำให้ระยะเวลากลางวันยาวนานกว่าปกติ คนทั่วไปจึงมีอาการทางร่างกาย ตั้งแต่เวียนหัว ไปจนถึงคลื่นเหียนอาเจียน และมีปัญหาเรื่องความทรงจำอีกด้วย
          การทดลองของทีมวิจัยทีมนี้ พบว่ายีนส์หลายร้อยตัวในร่างกาย จะทำหน้าที่ของมันตามจังหวะเวลาของการตื่นและหลับตามปกติที่ทุกคนทำอยู่สม่ำเสมอ หรือที่เรียกว่า "นาฬิกาชีวภาพ" ในร่างกายคนเรานั่นเอง การตื่นอยู่ยาวนานกว่าปกติ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของยีนส์เหล่านี้ แม้ว่ายีนส์ในร่างกายส่วนที่เหลือจะปรับตัวทำหน้าที่ของมันตามช่วงเวลาการนอนหลับพักผ่อนใหม่ก็ตาม
          ทีมวิจัยทดลองกับกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครชายและหญิง 22 คน อายุระหว่าง 22-29 ปี ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ภายในพื้นที่บังคับ ซึ่งปรับแสงสว่างให้ยืดยาวออกไป เพื่อให้ช่วงเวลาจากเช้าจรดค่ำและไปถึงเช้าอีกวันยืดออกไปเป็น 28 ชั่วโมง แทนที่จะเป็น 24 ชั่วโมงตามปกติ และยืดระยะเวลาการตื่นของกลุ่มตัวอย่างออกไปอีก 12 ชั่วโมง แต่ยังคงยอมให้นอนหลับนานตามที่ร่างกายของแต่ละคนต้องการ ทั้งนี้ เพื่อแยกผลกระทบจากการอดนอน ออกจากอาการที่เกิดจากการจำลองภาวะ เจ็ท แล็ก กับผู้ที่ต้องทำงานในกะดึกซึ่งต้องเปลี่ยนเวลานอนไปจากเวลานอนปกติทั่วไป
          ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างเลือดของกลุ่มตัวอย่างไว้ก่อนหน้าการทดลอง และกลับมาเก็บซ้ำอีกครั้งหลังกลุ่มตัวอย่างผ่านการทดสอบดังกล่าวไป 3 วัน
          ผลการตรวจสอบพบว่า ก่อนการทดลอง กลุ่มตัวอย่างมีกิจกรรมของยีนส์รวม 1,396 ตัวที่ทำหน้าที่ ตามปกติเป็นจังหวะไปตาม "นาฬิกาชีวภาพ" ในร่างกายของคนเราที่มีสุขภาพดี แต่หลังจากผ่านการทดลอง 3 วัน ยีนส์ที่ยังคงทำหน้าที่ไปตามจังหวะเวลาเดิมหลงเหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนยีนส์อีก 180 ตัวได้รับผล กระทบจากภาวะดังกล่าวในทางลบ คือเริ่มเพิ่มและลดกิจกรรมของตนเองในจังหวะที่ผิดปกติไป ไม่คงที่เหมือนก่อนหน้านี้
          ทีมวิจัยพบว่า ภาวะดังกล่าวนอกจากก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเจ้าตัวในทางลบอย่างรุนแรงอีกด้วย เพราะทำให้จังหวะเวลาการทำงานของยีนส์ผิดเพี้ยนไปหมด จอห์น โฮเกเนชผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระบุว่า การทำงานผิดจังหวะเวลาดังกล่าว ส่งผลกระทบให้การออกฤทธิ์ของยาบางชนิดไม่ได้ผล แม้จะได้รับยาในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามปกติก็ตาม ตัวอย่างเช่นยาสำหรับลดคอเรสเตอรอล ที่จะทำงานได้ดีถ้าหากกินในตอนกลางคืนเพราะเอ็นไซม์ที่เป็นเป้าโจมตีของยาจะหลั่งออกมามากในตอนกลางคืน จะไม่ได้ผลเพราะเอ็นไซม์ไม่ได้หลั่งออกมาตามปกติอีกต่อไป ภาวะแบบเดียวกันเกิดขึ้นกับยาจำพวกแอสไพริน โดสต่ำๆ ที่ใช้ในการลดความดันโลหิตเช่นกัน
          ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้วิจัยพบว่า ผู้ที่เกิดอาการเจ็ท แล็ก บ่อยๆ หรือ นอนผิดเวลาบ่อยๆ จะชราภาพเร็วกว่าบุคคลทั่วไป เนื่องจากภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อยีนส์ที่ทำให้เกิดการชราภาพทำงานมากขึ้น ลดความแตกต่างระหว่างการทำงานในช่วงกลางวันกับกลางคืนลง ทำให้คนเราแก่ลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง

pageview  1206036    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved