HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 23/01/2557 ]
'เด็กก้าวร้าว'
 ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร
          จิตเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์
          พฤติกรรมขนาดไหนที่ควรมองว่า ก้าวร้าว? ก่อนจะพิจารณาว่าเด็กก้าวร้าวหรือไม่ ต้องทำความเข้าใจให้ชัดก่อนว่าคำว่า "ก้าวร้าว" ในความหมายของบิดามารดา คืออะไร เพราะบางครั้งอาจเป็นเพียงพฤติกรรมของเด็กที่ปกติ เช่น เถียง หรือแสดงความคิดเห็น และต้องประเมินว่าความก้าวร้าวนั้นรุนแรงระดับใด เช่น ก้าวร้าวทางคำพูด หรือ ก้าวร้าวทางพฤติกรรม และส่งผลกระทบโดยตรงกับใคร เช่น บิดามารดา หรือ บุคคลภายนอก
          ในการแยกเด็กที่ก้าวร้าวออกจากเด็กที่เล่นรุนแรงตามปกตินั้น ประเด็นสำคัญคือ ควรพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือ ละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือไม่ ถ้ามี ก็จำเป็นต้องมีการควบคุมดูแล และสอนให้รู้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
          เด็กที่ก้าวร้าวอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวช เช่น เด็กสมาธิสั้นอาจมีพฤติกรรมที่เล่นรุนแรงและขาดการยั้งคิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้ หรือเด็กอาจจะเป็นโรคเกเร (conduct disorder) ซึ่งมีความก้าวร้าวโดยเจตนาและตั้งใจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือ บาดเจ็บ หรือเด็กมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการซึมเศร้าในเด็กอาจ ไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะเศร้า, หดหู่ หรือเก็บตัว แต่อาจแสดงออกมาในลักษณะหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห และระบายอารมณ์อย่างรุนแรง
          นอกจากนี้ การเลี้ยงดูอาจมีส่วน เช่น ใช้ความรุนแรงในครอบครัว โต้เถียง ทะเลาะ หรือทำร้ายร่างกายกัน ทำให้เด็กอาจนำไปเป็นแบบอย่าง หรือ ในเด็กที่ถูกทารุณกรรม ถูกทำร้ายร่างกาย หรือ ถูกลงโทษอย่างรุนแรง อาจจะได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง
          ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจที่มาของปัญหาก่อน เพราะโดยทั่วไปมักเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ควรประเมินเหตุปัจจัยรอบด้าน ปรับการเลี้ยงดู เช่น ผู้ปกครองวางตัวอย่างสงบ ไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม โดยทั่วไปการลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวนั้นไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น
          ดังนั้น บิดามารดาควรควบคุมสถานการณ์ให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น กอดหรือจับให้เด็กหยุด แล้วให้เด็กสงบอารมณ์ของตนเองลง หลังจากที่เด็กสงบแล้ว ควรพูดคุยกับเด็กถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจ หรือทำให้แสดงความก้าวร้าวออกมา ให้เด็กได้โอกาสระบายออกเป็นคำพูด และพ่อแม่ได้แสดงความเข้าใจ
          แม้จะไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนั้น แต่หากเป็นเด็กวัยรุ่นและมีอาวุธ อาจต้องพึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมเด็ก และส่งเข้ารับการประเมินในโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขอาการก้าวร้าวนั้น

pageview  1206015    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved