HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/01/2557 ]
สวีเดนประสบความสำเร็จปลูกถ่ายมดลูกผู้หญิง
 สตรีในประเทศสวีเดน 9 ราย ประสบความสำเร็จในการรับการปลูกถ่ายมดลูกที่ได้รับการบริจาคมาจากญาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะกระทบต่อจริยธรรม และเร็วๆ นี้สตรีกลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการเพื่อการตั้งครรภ์ด้วยมดลูกใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่าย
          สตรีที่เข้ารับการปลูกถ่ายมดลูกเหล่านี้เป็นสตรีที่เกิดมาโดยไม่มีมดลูก บางคนก็ต้องตัดทิ้งเพราะเป็นมะเร็ง ทั้งหมดอายุประมาณ 30 กว่าปี ที่เข้าร่วม การทดสอบครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ว่าการปลูกถ่ายมดลูกจะทำให้ผู้หญิงคนนั้นสามารถตั้งครรภ์เองได้หรือไม่
          ทั้งนี้ การปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น หัวใจ ตับ ไต มีการผ่าตัดปลูกถ่ายกันมานานแล้วหลายสิบปี และแพทย์เองก็เริ่มมีพัฒนาการที่จะปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแขน ใบหน้า และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการปลูกถ่ายมดลูก ซึ่งเบื้องต้นต้องการให้เป็นการปลูกถ่ายชั่วคราวเท่านั้น เพื่อให้สตรีสามารถคลอดบุตรได้ แต่กลับเริ่มสร้างความห่วงกังวลให้เกิดขึ้นในหลายภาคส่วน
          ก่อนหน้านี้ ประเทศตุรกีและซาอุดีอาระเบียเอง ก็เคยมีความพยายามที่จะผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกมาแล้ว แม้จะประสบความสำเร็จในการปลูกถ่าย แต่ไม่สามารถทำให้สตรีที่ได้รับการปลูกถ่ายมดลูกคลอดลูกได้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งในอังกฤษ ฮังการี และอีกหลายประเทศ ก็มีแผนที่จะทดลองในลักษณะเดียวกัน แต่ที่ประเทศสวีเดน ถือว่าอยู่ในขั้นที่ก้าวหน้ามากที่สุดในขณะนี้
          นายแพทย์แมทส์ แบรนสตอร์ม อธิการบดี คณะสูติ-นรีเวชวิทยา มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการปลูกถ่ายมดลูกในสตรี ให้สัมภาษณ์กับเอพีไว้ว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกให้กับสตรีครั้งนี้เป็นวิธีการผ่าตัดแบบใหม่ ไม่มีตำรามากางให้ดูว่าต้องทำอย่างไร
          และในเดือนกุมภาพันธ์นี้ นายแพทย์แบรนสตอร์มและทีมงานก็จะประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นครั้งแรก เพื่อดูว่ามดลูกที่ได้รับการปลูกถ่ายนั้นเป็นอย่างไร และเตรียมที่จะรายงานทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
          ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้แสดงความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับจริยธรรม ในการใช้มดลูกที่ได้รับการบริจาคมาจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อกระบวนการ การทดลองที่ไม่ได้ช่วยชีวิตมนุษย์แต่อย่างใด แต่ จอห์น ฮาร์ริส ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวจริยธรรม จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กลับบอกว่า เขากลับมองไม่เห็นปัญหาตราบเท่าที่การบริจาคมีการแจ้งข้อมูลทุกอย่าง และยังได้เปรียบเทียบกับการบริจาคไตว่า ปัจจุบันก็มีไตเทียมแล้ว แต่เราก็ยังยอมรับกันได้กับการบริจาคและยังรณรงค์ให้คนเสี่ยงที่จะบริจาคไตด้วย
          แบรนสตอร์มบอกว่า มดลูกที่ได้รับการบริจาคทั้ง 9 มดลูกนั้นอยู่ในสภาพที่ดี หลังการผ่าตัดมดลูกยังอยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง โดยมีสตรีรายหนึ่งที่รับการปลูกถ่ายมดลูกมีการติดเชื้อหลังรับการผ่าตัด ขณะที่บางคนมีอาการต่อต้านมดลูกใหม่เล็กน้อย แต่ไม่มีใครถึงกับต้องดูแลเป็นพิเศษหลังการผ่าตัด และทั้งหมดกลับบ้านได้ในเวลาไม่กี่วันหลังผ่าตัด
          อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยทั้งชื่อของผู้บริจาคและผู้รับบริจาคมดลูก และการปลูกถ่ายมดลูกก็เริ่มมีมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 และจริงๆ แล้ว มีการปลูกถ่ายมดลูก 10 คน แต่มีสตรีคนหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดด้วยเหตุผลทางด้านการแพทย์
          การปลูกถ่ายมดลูกสำเร็จครั้งนี้ยังได้สร้างความหวังให้กับผู้หญิงที่ไม่สามารถมีลูกเองได้เพราะไม่มีมดลูกหรือเป็นมะเร็ง เนื่องจากหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสวีเดน การอุ้มบุญหรือการให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนนั้น เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย การที่สตรีคนใดไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ จึงถือเป็นเรื่องเศร้าสำหรับบางครอบครัวที่อยากมีบุตรหลาน
          ต่อจากนี้ก็เพียงแค่รอดูว่า สตรีเหล่านี้จะสามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรเองได้หรือไม่ เป็นอีกความหวังครั้งใหญ่ของผู้หญิงบนโลกนี้ทีเดียว

pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved