HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/01/2557 ]
'โรคเรื้อน'ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
   ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งในปี 2557 ตรงกับวันที่ 26 มกราคม ถือเป็น        วันรณรงค์วันโรคเรื้อนโลก  แม้ว่าปัจจุบันพบคนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อนน้อยลง แต่การย้ายถิ่นฐานที่อยู่ของแรงงานต่างชาติ การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายของโรคได้มากขึ้น
          นพ.โกวิท คัมภีรภาพ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปี 2555 มีผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนขึ้นทะเบียนรักษาทั่วประเทศ จำนวน 555 คน คิดเป็นอัตราความชุกของโรค เฉลี่ย 0.09 คนต่อจำนวนประชากร 10,000 คน จากพื้นที่ทั่วประเทศไทย ผู้ป่วยใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติ 20 คน ทั้งหมดเป็นสัญชาติพม่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรักษาแล้วสะสมทั่วประเทศรวม 172,934 คน โดยในปี 2557 นี้ กรมควบคุมโรคจะรณรงค์เจาะกลุ่มเป้าหมาย 72 อำเภอ ใน 33  จังหวัดที่ยังมีข้อบ่งชี้ว่ามีการระบาดของโรคอยู่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การกำจัดโรคเรื้อนไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน
          โรคเรื้อนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเรื้อรังที่ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย โรคเรื้อนเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คือ Mycobacterium leprae คล้ายกับเชื้อวัณโรค โรคเรื้อนมีระยะฟักตัว 2-12 ปี เชื้อโรคเรื้อนมักทำลายผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย จึงทำให้เกิดผื่นผิวหนังและการทำลายของเส้นประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยโรคเรื้อนมักมีอาการเริ่มแรก คือ มีผื่นสีขาวหรือสีแดง ผื่นจะแห้งเป็นขุย และชา หยิกไม่เจ็บ เส้นประสาทที่อยู่ใกล้กับผื่นอาจบวมโตขึ้น อาจมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงตามบริเวณมือและเท้าที่เส้นประสาทนั้นหล่อเลี้ยง ถ้าไม่ได้รักษาโรคจะลุกลามเกิดผื่นนูนแดงทั่วตัว ผื่นไม่ปวด ไม่ชา ไม่คัน เส้นประสาทโตหลายเส้น มือชาขึ้นมาถึงศอก เท้าชาขึ้นมาถึงเข่า ถ้าป่วยเป็นโรคเรื้อนมาหลายปี อาจทำให้ขนคิ้วร่วง จมูกยุบ กล้ามเนื้อมือเท้าลีบ เกิดบาดแผลตามมือเท้าที่ชา
          ผื่นผิวหนังในผู้ป่วยโรคเรื้อนอาจดูคล้ายโรคกลาก, เกลื้อน, ลมพิษ, ผื่นแพ้ยา แต่ผื่นโรคเรื้อนมักเป็นมานานหลายปี และมีอาการชา ไม่คัน ถ้าพบความผิดปกติต่อไปนี้ให้นึกถึงโรคเรื้อน ได้แก่ มีผื่นผิวหนังชา หยิกไม่เจ็บ มีก้อนบวมตามใบหน้าและใบหู มือเท้าชา เป็นบาดแผลที่ไม่เจ็บปวดได้ง่าย
          โรคเรื้อนรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะหลายชนิด โดยปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเรื้อนให้หายขาดได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เพิ่งเริ่มเป็นและยังไม่มีความพิการ เมื่อรักษาแล้วจะหายไม่เหลือร่องรอยของโรคเรื้อน คนที่มีอาการน่าสงสัยหรือเป็นโรคเรื้อนสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทุกแห่ง และคนที่เป็นโรคเรื้อนก็สามารถอยู่กับครอบครัวได้ตามปกติ เพราะผู้ที่เป็นโรคเรื้อนเมื่อได้กินยารักษาในสัปดาห์แรกก็จะไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นแล้ว
          คำแนะนำสำหรับคนในครอบครัวของผู้ป่วยนั้น ทำได้ดังนี้ 1.ถ้าหากรับประทานยาแล้วมีอาการผิดปกติหรือมีอาการแทรกซ้อน เช่น เกิดผื่นบวมแดงที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น หรือปวดตามเส้นประสาท ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2.ผู้ป่วยสามารถที่จะอยู่ร่วมกับทุกคนในครอบครัวได้ตามปกติ และสมาชิกทุกคนในครอบครัวควรให้ความเห็นใจ ให้กำลังใจ และคอยเตือนให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอและระมัดระวังในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันความพิการอยู่เสมอ 3.ผู้ป่วยต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรค และทุกคนที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยจะต้องตรวจสุขภาพผิวหนังปีละ 1 ครั้ง สังเกตอาการเริ่มแรกของโรคเรื้อน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค
          หากทำความเข้าใจเรื่องโรคเรื้อนอย่างถ่องแท้ จะเห็นว่า ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

pageview  1205456    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved