HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 14/01/2557 ]
'5ต'...ขจัด...'ความเครียด'
   ฟัง ดู ข่าวการเมืองบ่อยๆ ทำให้คุณมีอาการเหล่านี้ หรือไม่?
          วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว มีการใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง โดยยับยั้งตนเองไม่ได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ
          ถ้ามีแสดงว่า...ความเครียดเริ่มมาเยือน
          ภาวะเครียด เป็นเรื่องของจิตใจที่เกิดจากความ ตื่นตัว เตรียมเผชิญกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่น่าพึงพอใจ หรือคาดไม่ถึง เป็นเรื่องที่เราเองคิดว่าหนักหนาสาหัสเกินกำลังความสามารถที่จะแก้ไขได้ ทำให้เกิดความรู้สึกหนักใจ กังวล ไม่สบายใจ หรือแม้แต่คับข้องใจ และส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น หากว่าความเครียดนั้นมีมากและคงอยู่เป็นระยะเวลานาน แต่ความเครียดที่ไม่มากนัก จะเป็นแรงกระตุ้นที่ดี ช่วยให้คนเราเกิดแรงฮึดมุมานะที่จะเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แต่หากมีความเครียดมาก ไม่รู้จักผ่อนคลาย และปล่อยไว้นานเข้าอาจมีปัญหาความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจได้ในที่สุด
          ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตอธิบายว่า ความเครียดมีสาเหตุจาก 3 ด้าน ได้แก่ สาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น ความกลัวว่าจะไม่ได้ดั่งหวัง กลัวจะไม่ประสบความสำเร็จ หนักใจกังวลใจในงานที่ได้รับมอบหมาย หรือแม้แต่กลัวกังวลสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สาเหตุที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การเปลี่ยนช่วงวัย แต่งงาน การตั้งครรภ์ การเข้าทำงานเปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนที่เรียน สาเหตุจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น การเจ็บไข้ต่างๆ โรคที่รุนแรง และเรื้อรัง หรือโรคที่คาดว่า ถึงแก่ชีวิต
          โดยกลุ่มความเครียดที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงและเข้ากระแสสถานการณ์บ้านเรา ที่ทุกคนต้องระวังตัวเองและคนรอบข้างคือ กลุ่มอาการเครียดจากการเมือง (Political Stress Syndrome : PSS) สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต อธิบายว่า กลุ่มอาการเครียดจากการเมือง ไม่ใช่โรคที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่มีความสนใจปัญหาทางการเมือง ติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น
          ที่สำคัญคือ ความคิดคาดการณ์ที่นำไปสู่ความรู้สึกวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต (Anticipatory Anxiety) เช่น กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง โดยเฉพาะคนที่คลั่งไคล้การเมือง คอยติดตามข่าวสารและได้รับข้อมูลการวิเคราะห์เจาะลึกอยู่เนืองๆ ทั้งข้อมูลที่ผ่านและไม่ผ่านการกลั่นกรอง
          นักศึกษาปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ "ความขัดแย้งทางการเมือง" ผลกระทบ ต่อสุขภาพจิตของคนไทย เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการแก้ไขปัญหาความเครียดโดยมี นักวิชาการแขนงต่างๆ ซึ่ง คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาล จิตแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ข้อเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาความเครียด 5 ต.ประกอบด้วย
          1) แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก ด้วยการให้การเคารพความคิดแบบประชาธิปไตย ที่มีความแตกต่างหลากหลายด้าน
          2) ติดตาม แต่อย่าติดใจ โดยหากผู้ใดมีจิตใจโน้มเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน ก็ควรรับฟังข้อมูลของอีกฝ่าย
          3) ตรองแต่อย่าตรม โดยการไตร่ตรองเรื่องต่างๆ แต่ไม่ควรรับข้อมูลด้านเดียว
          4) ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก เนื่องจากการได้รับข้อมูลต่างๆ อาจทำให้เกิดความตึงเครียดได้ ควรทำจิตใจให้เป็นปกติ คิดแบบมีเหตุมีผล
          5) ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตูม โดยพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้าน เตรียมความพร้อมไว้สำหรับรับข้อมูล และแบ่งแยกว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด
          อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนแบบโฟกัสกรุ๊ป ต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่ชุมนุม กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด ประกอบด้วย กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และครอบครัวที่นำบุตรหลานเข้าร่วมชุมนุมจำนวน 160 คน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 พบว่าในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องการเห็นบ้านเมืองสงบเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างประชาชนในพื้นที่ชุมนุมกับประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมหรือต่างจังหวัด จะพบว่าประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมจะเครียดและวิตกกังวล กลัวความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมมากกว่าประชาชนในพื้นที่ชุมนุม
          วิเคราะห์ได้ว่า ประชาชนในพื้นที่ชุมนุมได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกับคนในอุดมการณ์เดียวกัน เป็นเหมือนการมาพบเพื่อน ได้พูด ได้ระบาย ได้รับฟังปัญหาร่วมกัน ขณะที่ประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมหรือต่างจังหวัด ส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อหรือสังคมออนไลน์ที่อาจรับแบบซ้ำไปซ้ำมา เห็นทั้งภาพและเสียงที่อาจถูกตัดต่อที่กระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกให้เกิดความเครียดหรือความวิตกกังวลขึ้นได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ซึ่งในเชิงจิตวิทยาสังคม ประชาชนมีต้นทุนความสนใจทางการเมืองสูงอยู่แล้วจากสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และการที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากนัก เพราะมีการปรับตัวและอดทนกับความเครียดจากสถานการณ์บ้านเมืองได้ดีขึ้นโดยปกติ
          เมื่อคนต้องเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤต ระดับความเครียดย่อมถูกยกระดับให้สูงขึ้น แต่เมื่อสามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติ
          ดังนั้น ผู้อ่านจึงต้องเฝ้าระวัง สังเกตตนเองและคนรอบข้างว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
          อาการทางกาย คือ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอ หรือตามแขน ขา นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม อึดอัดในช่องท้อง แน่นท้อง ปวดท้อง อึดอัดในช่องท้อง ชา ตามร่างกาย
          อาการทางใจ วิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาหงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออกสมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่านหรือหมกมุ่นมากเกินไป
          ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการโต้เถียงกันกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัวโดยใช้อารมณ์ตั้งแต่ปานกลาง ถึงรุนแรง โดยไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้ มีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อนจนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง
          หากมีอาการเหล่านี้ในทั้ง 3 กลุ่มอาการ กรมสุขภาพจิต มีข้อแนะนำให้ 1) หันเหความสนใจไปเรื่องอื่น 2) ลดความสำคัญของปัญหาลงมาชั่วขณะ ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วน ตามหลักอื่นๆ บ้าง 3) หาทางระบายออกโดยเลือกผู้ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน 4) ออกกำลังกายและพักผ่อน 5) ฝึกวิชาผ่อนคลายตัวเอง เช่น ฝึกสติและสมาธิ ฝึกโยคะ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น การกำหนด ลมหายใจเข้า-ออก และ 6) หันหาวิธีการที่ทำให้สงบ อาจจะใช้ศาสนามาช่วยขัดเกลาจิตใจ เพื่อปล่อยวาง
          ทั้งนี้ อาการดังกล่าวจะหายไปได้เอง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง หรือละความสนใจในเรื่องอื่นบ้าง หากมีอาการทั้งหมดเกินกว่า 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หรือขอรับบริการปรึกษา ได้ที่คลินิกคลายเครียด ในสถานบริการสุขภาพจิตทั่วประเทศ สะดวกทางโทรศัพท์ก็ที่สายด่วน 1323 หรือฝากข้อความได้ที่โทรศัพท์อัตโนมัติ หมายเลข 1667 ทาง e-mail address : counseling_sty@hotmail.com
          ส่วนผู้เขียนขอยึดหลักธรรมนำใจ ทุกอย่าง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป...นะครับ

pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved