HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 13/01/2557 ]
ขนมกรุบกรอบชอบก็ต้องฝืนอด
 ว่ากันเรื่องการตลาด ผู้ผลิตมีทั้งผลิตตามและนำเทรนด์ผู้ซื้อ บางอย่างที่ไม่จำเป็นไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่คิดว่ามันขายได้ และคนต้องชอบก็จะทำมาป้อนตลาด อย่างขนมห่อ ขนมซองแต่งรส กลิ่น สี ที่วางขาย เกลื่อนตลาด ว่ากันเรื่องคุณค่าทางอาหารบอกได้เลยว่าแทบจะไม่มี
          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย.เป็นห่วงเรื่องนี้มาก หลังมีการแชร์ในโลกออนไลน์ว่ามีเด็กรับประทานสาหร่ายทอดกรอบทุกวัน จนทำให้ม่านตาเสียเลนส์ตาเสื่อม และไตพัง ทางแพทย์แจ้งว่าบริโภคเกลือและโซเดียมกลูตาเมตมากเกินไป
          คุณหมอจึงเตือนไปยังผู้ปกครองให้แนะนำบุตรหลานถึงการบริโภคขนมกรุบกรอบ อาทิ มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ สาหร่ายทอดกรอบ สาหร่ายปรุงรส เนื่องจากมีการใส่เกลือโซเดียมและผงชูรสเพิ่มรสชาติความอร่อย
          ปริมาณโซเดียมในสาหร่ายทอดกรอบมีเฉลี่ย 100 มก.ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (เทียบเท่าเกลือ 50 มก. )แม้แต่อาหารสำเร็จรูปที่มีรสจัดก็มีโซเดียมสูงอยู่แล้ว การทานอาหารที่มีโซเดียมสูงจะทำให้แขน ขาบวมเหนื่อยง่าย เนื่องจากการคั่งของเกลือและน้ำในอวัยวะต่างๆ รู้สึกแน่นหน้าอกความดันโลหิตสูง รวมทั้งเกิดผลเสียทำให้ไตทำงานหนักและไตเสื่อมเร็วขึ้น
          นพ.บุญชัย บอกว่า หน่วยบริโภคโซเดียมที่ควรได้รับต่อวันไม่เกิน 2,400 มก.(เทียบเท่าเกลือแกงละเอียด 1 ช้อนชา) นอกจากนี้ ยังอาจได้รับโซเดียมจากผงชูรสเครื่องปรุงรส ผงปรุงรสอีกทางหนึ่งด้วยเรียกว่าการทานขนมกรุบกรอบทำให้เรารับโซเดียมทั้งขึ้นทั้งล่อง ถือว่าเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ
          ขณะนี้ อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแสดงข้อมูลโภชนาการในรูปแบบจีดีเอ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม โดยกำหนดให้แสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมันและโซเดียม เทียบเป็นค่าร้อยละของปริมาณสูงสุดที่ควรได้รับในแต่ละวัน บนด้านหน้าฉลากกับอาหารขบเคี้ยว 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว ข้าวเกรียบ หรือ อาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้
          และอยู่ระหว่างขยายให้ครอบคลุมอาหารกลุ่มอื่น อาทิ ช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์ขนมอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารจานเดียวแช่แข็ง อาหารขบเคี้ยวอื่นๆเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน สามารถเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสม 
          ทั้งนี้ ขอเตือนไปยังผู้ผลิตที่ผลิตภัณฑ์ขนมกรุบกรอบดังกล่าว หากตรวจพบสารปนเปื้อนเกินที่กฎหมายกำหนดจะจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หากตรวจพบสารปนเปื้อนในปริมาณที่อาจเป็นอันตราย เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved