HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 07/01/2557 ]
อันตรายของหูจากเสียงดัง
 นพ.ชัยยศ เด่นอริยะกูล
          หัวหน้ากลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลกลางสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
          หูของคนเรามีหน้าที่ในการรับฟังเสียงและควบคุมการทรงตัว  ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ คือ หูชั้นนอก ที่นับตั้งแต่ใบหู ช่องหู ไปจนถึงแก้วหูหรือ      เยื่อบุแก้วหู ส่วนที่สองคือ หูชั้นกลางประกอบด้วย แก้วหู ช่องหูชั้นกลางที่มีกระดูกหูเล็กๆ 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกรูปค้อน ทั่งและโกลน ช่วยในการส่งและขยายเสียง  ส่วนสุดท้ายคือ หูชั้นใน ที่เป็นอวัยวะรูปก้นหอยและอวัยวะรับรู้ การทรงตัว
          เสียงที่เราได้ยินนั้น มาในรูปของพลังงานคลื่นที่สั่นสะเทือนผ่านอากาศเข้ามาในช่องหู แล้วเกิดการสั่นต่อเนื่องมา กระทบแก้วหู การสั่นสะเทือนนี้จะส่งผ่านกระดูกหู 3 ชิ้นดังกล่าว ที่อยู่ต่อเนื่องกัน เข้ามาใน อวัยวะรับเสียงรูปก้นหอยของหูชั้นใน แล้วจึงแปลงสัญญาณของคลื่นเสียงไปเป็นกระแสประสาท ส่งผ่านเส้นประสาทรับการได้ยินสู่สมอง  แปลความเป็นการรับรู้ของเสียงต่างๆ และข้อมูลคำพูดที่ทำให้เราเข้าใจต่อไป
          ลักษณะของเสียงแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ ความดัง  ความถี่  และคุณภาพของเสียง   ในเรื่องของความดัง ได้แก่ เสียงดัง   เสียงเบา  เสียงกระซิบ เป็นต้น ในเรื่องของความถี่ซึ่งก็คือ เสียงสูงเสียงต่ำ เสียงทุ้มเสียงแหลม  และในเรื่องของคุณภาพเสียง  คือ เสียงเพราะ เสียงแก้ว เสียงเครื่องดนตรี ชนิดต่างๆ เป็นต้น การได้ยินเสียงเป็นสุนทรียภาพอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ การได้รับฟังเสียงดนตรีที่มีห้วงทำนองเสียงสูงเสียงต่ำพอเหมาะ  เสียงนักร้องที่ร้องเพลงได้ไพเราะ เนื้อหาโดนใจ ร่วมกับความดังของเสียงที่พอดี นับว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์เลยก็ว่าได้  แต่ในทางตรงกันข้าม เสียงที่ดังหนวกหู น่ารำคาญ ก็ก่อให้เกิดความหงุดหงิด เป็นทุกข์ได้เช่นกัน และนอกจากนั้นเสียงดังเกินไปก็ก่อให้เกิดโทษ และเป็นอันตรายต่อหูได้ด้วย
          ในการวัดระดับความดังของเสียง มีหน่วยที่เรียกว่า "เดซิเบล (DECIBEL)"   ตามปกติคนเราจะเริ่มได้ยินเสียงที่ระดับความดัง 10 - 20 dB  ถ้าจะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น  เราสามารถเปรียบเทียบระดับความดังได้ดังนี้
          ระดับเสียงที่  30 dB จะเป็นเสียงกระซิบเบาๆระดับเสียงที่  40 - 60 dB จะเป็นเสียงพูดสนทนาที่ใช้อยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
          ระดับเสียงที่  80 dB เริ่มรู้สึกหนวกหู เทียบได้กับเสียงกลางถนนขณะการจราจรติดขัด
          ระดับเสียงที่  80 - 90 dB  จะเป็นประมาณในโรงงานที่มีเครื่องจักรเสียงดังทำงานอยู่
          ระดับเสียงที่  90 - 100 dB  เสียงเครื่องขุดเจาะถนนกำลังทำงาน
          ระดับเสียงที่  100 - 120 dB เป็นเสียงดังของเครื่องบิน ขณะบินขึ้น
          องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ว่าเสียงที่เริ่มมีอันตรายต่อหู คือ เสียง ที่มีความดังระดับ 80 - 90 dB ขึ้นไป ส่วนช่วงเวลาก็มีความสำคัญเช่นกันเพราะพบว่า ถ้า ต้องทำงานในที่มีเสียงดังระดับ  80 - 90 dB จะต้องทำงานนั้นได้ไม่เกิน วันละ 7 - 8 ชม. เพราะถ้าเกินกว่านี้จะเกิดอาการหูอื้อ นานไปจะทำให้ประสาทหูถูกทำลายจากเสียงดังได้  ดังนั้นยิ่งอยู่ในที่เสียงดังมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องจำกัดเวลาให้น้อยลงเท่านั้น การอยู่ในที่จำกัดที่เสียงดังมากๆ เช่น DISCO THEQUE  บริเวณใกล้ๆ ลำโพง ประมาณ 1 - 2 ชม. พอคุณออกมาจากที่นั่น คุณจะรู้สึกหูอื้อ  แน่น หนักๆ ในหู  ร่วมกับมีเสียงดังหึ่งๆ ในหู  นั่นเป็นอาการล้าของการทำงานของประสาทหู คุณอาจจะมีอาการอยู่ ไม่นานแล้วก็หายไปได้เอง  แต่ถ้าบางคนที่อยู่ในที่เสียงดังอย่างมาก  ก็อาจจะอื้อได้นานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวันๆ เช่น  มีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหูอื้อ จากกรณีที่ได้ไปฝึกวิชาทหาร แล้วเผอิญมีการซ้อมคลานในสนามที่มีเสียงระเบิดจำลองแต่ดังมาก หูอื้อ เป็นมา  3 - 4 วัน ก็ยังไม่หาย แสดงว่าประสาทหูได้รับอันตราย แต่ยังสามารถซ่อมแซมหรือรักษาตัวเองได้ แต่ถ้าคุณอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานานๆ การทำลายของประสาทหูจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ก็จะกลายเป็นการทำลายของประสาทหูแบบถาวร  ซึ่งจะไม่สามารถรักษาได้หายขาด
          ดังนั้นการป้องกันและตระหนักถึงอันตรายจึงเป็น สิ่งที่ดีที่สุด  ยิ่งในกรณี "ม็อบนกหวีด" กำลังมาแรง การเป่านกหวีดคนเดียวเสียงดังไม่มีอันตรายหรอกครับ แต่ถ้าคุณไปอยู่ในกลุ่มฝูงชนที่มีการเป่านกหวีดทุกคนแล้วอะไรจะเกิดขึ้น และถ้ายิ่งไปนั่งฟังกลางม็อบวันละหลายๆ ชั่วโมง  ผมว่าคุณก็อาจจะหูอื้อได้นะครับ สิ่งที่ดีก็คือ คุณน่าจะต้องเตรียมเครื่องป้องกันเสียงดัง เช่น จะเป็นสำลี ฟองน้ำอุดหู หรือ ซาวน์เบาท์ ที่เป็นเครื่องครอบหู ทำหน้าที่กรองเสียงบางส่วนไม่ให้ดังเกินไป จนทำอันตราย ประสาทหูได้ เท่านี้คุณจะอยู่ในม็อบนกหวีด ได้ด้วยความสบาย ไม่มีอาการหูอื้อรำคาญหูมารบกวนคุณนะ ผมขอบอก

pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved