HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/12/2556 ]
'วัยทอง'วัยที่'เธอ'และ'คุณ'ต้องรู้
  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
          ประชากรวัยทอง คือ ประชากรทั้งชายและหญิงที่มีอายุในช่วงของวัยทำงานตอนปลาย ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ สำหรับหญิงอยู่ในช่วงอายุ 45-59 ปี ชายอยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ซึ่งจำนวนประชากร วัยทองของประเทศไทยในปี 2552 มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 16 ล้านคน หรือร้อยละ 26 ของประชากรทั้งประเทศ ที่จะมีผลต่อเนื่องไปถึงจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ
          ผลการศึกษาภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพในหญิงและชายวัยทองของสำนักส่งเสริมสุขภาพกรมอนามัย ปี 2554 พบว่า หญิงและชายวัยทองยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์พบในผู้หญิงวัยทอง ร้อยละ 39.9 และผู้ชายวัยทอง ร้อยละ 68.3 ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในหญิงวัยทองมีเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 2.7 โดยพบมากในผู้ชายวัยทอง ร้อยละ 40.6 พฤติกรรมไม่ออกกำลังกาย พบว่า ผู้หญิงวัยทองไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 23.6 ผู้ชายวัยทองไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 15.3 ด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารยังพบว่าส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มันจัด เค็มจัด และหวานจัด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาวะสุขภาพทำให้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับ Metabolic
          syndrome ได้ โดยข้อมูลด้านภาวะสุขภาพพบว่า หญิงและชายวัยทอง ร้อยละ 41.3 มีโรคประจำตัว โดยพบมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกและข้อ นอกจากนี้ ในหญิงวัยทอง ยังตรวจพบภาวะอ้วนลงพุง ร้อยละ 57.4 ส่วนชายวัยทอง พบร้อยละ 28.9 ซึ่งจากการประเมินอาการวัยทองพบว่า หญิงวัยทองร้อยละ 27.8 มีความสี่ยงต่อการมีอาการวัยทอง ในขณะที่ชายวัยทอง ร้อยละ 36.7 มีอาการวัยทองเมื่ออายุเพิ่ม มากขึ้น
          สำหรับอนามัยวัยทอง ใน "ผู้หญิง" เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการ เจริญพันธุ์ คือ "รังไข่" ฝ่อลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้หญิงที่ต้องทำความเข้าใจ ว่ามันเป็นเหตุการณ์หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเท่านั้น ไม่ใช่เป็น "โรค" ที่ผู้หญิงต้องเป็นหรือเกิดขึ้นเช่นนี้ทุกคน และวัยนี้เอง "รังไข่หมดหน้าที่จึงฝ่อลง" ผลฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่า เอสโตรเจน (Estrogen) จะน้อยลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
          ที่สำคัญคือ ประจำเดือนจะมาปริมาณน้อยลง จำนวนวันสั้นลงและห่างออก เช่น เคยมา 5-7 วัน จะมาแค่ 1-2 วัน เคยมาห่างกัน แต่ลดลง รอบเดือน 28 วัน ก็จะขยายเป็น 30, 32, 35, 40...วัน จนกระทั่งหมดไป และไม่มาเลยเกิน 12 เดือน นั่นคือ "วัยหมดระดู" นั่นเอง อีกคำหนึ่งที่ใช้เสมอในทางการแพทย์ คือ "วัยทอง"
          "วัยทอง" หรือ "วัยหมดระดู" หรือประจำเดือน จะทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงจิตใจ กลุ่มอาการที่พบได้บ่อยๆ คือ ปวดหัว ปวดเมื่อยตึงตามตัว ร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย โมโหฉุนเฉียวเป็นบางครั้ง อารมณ์แปรปรวน เป็นลักษณะอาการที่พบได้ตามธรรมชาติ และปกติไม่ได้เป็น "โรค..ภัยไข้เจ็บ" เลย แต่ต้องวัดความดันโลหิตด้วย จะพบว่าค่าปกติหรืออาจสูงเล็กน้อย อย่าตกใจใดๆ เลย โดยเฉพาะตัวท่านผู้หญิง ต้องทำความเข้าใจตัวเอง รู้ตัวเอง อย่าบันดาลโทสะ พาล ทะเลาะกับคนข้างเคียงโดยเฉพาะคู่สามีของเรา
          คุณผู้ชาย (สามี) ต้องรู้และเข้าใจด้วยว่า "คุณเธอ" กำลังเข้าสู่โหมด "เลือดจะไปลมจะมา" กลุ่มอาการดังกล่าวถ้าหอบมาเป็นพายุใส่เรา ก็ทำความเข้าใจให้อภัย อย่าโกรธตอบ จะพลอยทำให้มีปัญหาครอบครัวได้ง่ายๆ หลีกเลี่ยง เข้าใจ อภัยเสีย..ปัญหาจะ "สงบ" ได้เลย ไม่นำไปสู่ "บ้านแตก"
          และปัญหาสุขภาพอีกอย่างหนึ่งที่จะตามมาในระยะยาวหลังหมดระดู คือ โรคกระดูกพรุน เปราะบาง โรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ หากรู้แล้ว ก็อย่าเพิ่งตกใจมากมาย เพราะเรากำลังจะต้องเรียนรู้ ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อจะได้ทราบถึงวิธีการที่จะดูแลตนเอง
          สำหรับสตรีวัยนี้ต้องเพิ่มการเอาใจใส่ เรื่อง "3 อ" วัคซีนชีวิต หนีไม่พ้น
          คือ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักอย่าให้มากเกินไป กินอาหารให้เป็นเวลา ควรกินอาหารที่มีกากใย เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ ข้าวกล้อง ควร
          เลือกกินปลาเล็กๆ กุ้งฝอย กุ้งแห้ง เพราะย่อยง่ายได้แคลเซียม หรือบางรายให้กินแคลเซียมเพิ่มเติม เสริมสร้างกระดูกด้วยการดื่มนมพร่องมันเนย จะช่วยป้องกันกระดูกโปร่งบาง อย่าลืมผัก ได้แก่ ใบชะพลู ใบยอ ยอดแค สะเดา มะขามฝักอ่อน
          สิ่งสำคัญมากๆ คือ "การออกกำลังกาย" อย่างสม่ำเสมอทุกวัน หรืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมง อาจจะเป็นการเดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก
          ควรตรวจร่างกายเป็นประจำปี รวมทั้งต้องเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เพื่อเป็นข้อคิดในการดำเนินชีวิต
          สิ่งสำคัญคือจิตใจ ขอให้ทำจิตใจให้แจ่มใส คิดบวก ยิ้มง่าย บ่อยๆ หากเป็นไปได้คือ ปฏิบัติธรรม ด้วยวิปัสสนากรรมฐาน นั่ง นอน เดินจงกรม ตามที่ได้เคยไปฝึกเรียนมาจากวัดหรือสำนักที่ท่านชอบพอหรือศรัทธา
          นอกจากโรคกระดูกพรุนแล้ว อยากฝากให้ใส่ใจดูแลสุขภาพของคุณผู้หญิง การตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และมะเร็งปากมดลูก 2 โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิง 2 อันดับแรกที่พบมากที่สุด
          แม้มะเร็งจะเป็นโรคร้าย แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้คุณผู้หญิงทุกคนไปรับบริการได้ที่สถานบริการของรัฐทุกแห่ง ตั้งแต่ระดับ ตำบล อำเภอ และจังหวัด อีกโรคที่วัยนี้หนีไม่พ้น คือ โรคฟัน ทั้ง "ฟันสึก เสียวฟัน" เป็นปัญหาที่เกิดได้ทุกคน หมายถึงการเคลือบฟันที่มีการสึก หรือเหงือกมีการร่น ทำให้เนื้อฟันสัมผัสกับอาหาร หรือสิ่งกระตุ้นโดยตรง ผลทำให้เกิดอาการ "เสียวฟัน" บางคนเสียวฟันรุนแรงไม่สามารถกินอาหารได้อย่างเป็นสุข
          แต่ปัญหาเสียวฟันนี้เราสามารถป้องกันได้ ด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธี ด้วยอย่าแปรงฟันแรงเกินไป แปรงฟันผิดวิธี ลดการกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด หรือเปรี้ยวจัด เพราะอาจจะทำให้ฟันสึก หากมีปัญหามากหรือรุนแรงให้ไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพและขูดหินปูนรอบๆ แนวเหงือก
          นโยบาย Good Health Start Here ก็มิได้ละเลย "วัยทอง" โดยได้มีการจัดตั้ง "คลินิกวัยทอง" เพื่อส่งเสริมสุขภาพดูแลร่างกายด้วย "3อ" "2ส" ป้องกันโรคที่จะเกิด คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัมพาต ไตวาย และโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งดูแลการใช้ชีวิตประจำวันด้วย
          "คลินิกวัยทอง" นอกจากให้บริการความรู้ด้านสุขภาพแล้ว ยังบริการตรวจสุขภาพทั่วไป ทั้งความดันโลหิตสูง วัดการเต้นของหัวใจ ตรวจหาน้ำตาลในเลือด และให้คำปรึกษาดูแลสุขภาพ สุขภาพจิต ตรวจความจำ การหลงลืม ตรวจภาวะความคิด ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ตรวจภาวะการพูดด้วย
          ผู้เขียนจึงมีความยินดีเชิญชวน "หญิงวัยทอง" อ้อ "ชายวัยทอง" ด้วย... ใส่ใจ เข้าใจสุขภาพ ดูแลสุขภาพด้วย 3อ 2ส ด้วยตนเอง "สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง" เพราะวัยทองต้องเตรียมตัว กาย ใจ ให้แข็งแรง ก่อนเข้าสู่ "วัยชรา" หากมีข้อสงสัย ขอคำปรึกษาได้ที่ "คลินิกวัยทอง" สายด่วน 1675 ณ โรงพยาบาลทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุข ยินดีต้อนรับ...นะครับ

pageview  1205835    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved