HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 29/02/2555 ]
สศช.ชี้วัยรุ่นใช้'เฟซบุ๊ก'ผิดโชว์หวิวก่อปัญหาสังคมพณ.ขอ2พันล.ลุยจัดธงฟ้า
          สศช.แถลงจีดีพีสังคม เตือนช่วง เม.ย.นายจ้างฉวยโอกาสเลิกจ้าง หลังค่าแรง 300 บาทเริ่มใช้  ชี้ไทยแชมป์คุณแม่วัยใส ตั้งครรภ์ก่อนอายุ 20 ปี ด้านรมต.พาณิชย์รับลูก 1 ธงฟ้า 1 ชุมชน
          หลังจากเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจเยี่ยมตลาดมีนบุรี พร้อมทั้งประกาศนโยบาย 1 ธงฟ้า 1 ชุมชน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพให้ประชาชนนั้น
          เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายบุญทรงเตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการดำเนินการโครงการ 1 ธงฟ้า 1 ชุมชนจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด จะให้เป็นจุดรวมจำหน่ายอาหารราคาไม่เกิน 25-30 บาท จำนวน 10 เมนู และจำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันอีก20 ชนิด เป็นจุดจำหน่ายถาวรกระจายไปทั่วประเทศ ได้สั่งให้กรมการค้าภายในดำเนินการจัดทำรายละเอียดในสัปดาห์นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนสนใจเสนอตัวเข้ามาร่วมโครงการ เหมือนร้านค้าย่อยเล็กๆ หรือร้านโชห่วยก็ได้ ส่วนงานมหกรรมธงฟ้าจำหน่ายสินค้าราคาถูกก็ยังดำเนินการเหมือนเดิมเพราะเป็นงานจัดเฉพาะเวลาต้องการลดภาระประชาชน แต่ร้านธงฟ้าจะเป็นจุดขายถาวร
          นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างการจัดทำรูปแบบร้านธงฟ้า จะปรับปรุงจากมิตรธงฟ้าและมุมธงฟ้าเดิมเคยเปิดในห้างสรรพสินค้าและร้านค้า มาเป็นร้านธงฟ้าชุมชนแทน พร้อมกับประสานผู้ผลิตสินค้าและคัด
          เลือกสินค้านำมาจัดจำหน่ายไม่เกิน 20 ชนิด อาทิข้าวถุง น้ำตาลทราย ผงซักฟอก ยาสีฟัน สบู่ เครื่องดื่ม น้ำมันพืช เป็นต้น เลือกสถานที่จำหน่ายนำร่องในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดขนาดใหญ่ก่อน กรมเตรียมเสนอของบประมาณ 2,000 ล้านบาท บริหารจัดการโครงการช่วงเดือนมีนาคมกันยายน 2555 โครงการนี้จะลดค่าครองชีพเป็นทางเลือกให้ประชาชน สินค้าจำหน่ายทั้งอาหารและสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เลือกเฉพาะสินค้าประชาชนต้องการมากที่สุด
          นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าส่งปลีกไทย กล่าวว่า ร้านธงฟ้าถาวรชุมชนเป็นแนวคิดที่ดี แต่ทางปฏิบัติต้องให้สอดคล้องกับความเป็นจริงหากจะให้โครงการนี้สำเร็จรัฐต้องให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ เช่น ยกเว้นภาษี ปกติร้านค้ารายย่อยก็เสียภาษีไม่สูงอยู่แล้ว หรือนำงบประมาณการจัดการสูงเป็นพันล้านบาท ไปจัดหาสถานที่ขายในแหล่งชุมชน และให้ผู้สนใจเช่าในอัตราถูกในส่วนของสมาคมก็ยินดีให้การสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ค้ารายย่อย ขณะนี้สมาคมร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำโครงการส่งเสริมร้านค้าย่อย
          "เหมือนเป็นการขยายร้านโชห่วยทั่วประเทศ หากมีจำนวนมากพอก็จะทำให้ราคาสินค้าลดลงในระยะยาว เพราะที่ผ่านมาผู้ผลิตพึ่งพาค้าปลีกเป็นหลักทำให้ต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าชดเชยค่าใช้จ่ายและ
          ค่าเช่าพื้นที่จากเจ้าของสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี หากทำแค่ไม่กี่เดือนก็น่าเสียดายงบประมาณ นายกรัฐมนตรีต้องติดตามใกล้ชิด" นายสมชายกล่าว
          วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานความเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงไตรมาส 4 และภาพรวมในปี 2554 ว่าภาวะแรงงานไทยในช่วงไตรมาส 4/2554 อัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้น 0.9% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.6%คิดเป็นผู้ว่างงานประมาณ 245,890 คน มีแรงงานภาคเกษตรรอฤดูกาล 190,000 คน ภาวะการจ้างงานยังมีสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้จะเกิดภาวะอุทกภัยในหลายจังหวัดก็ตาม เนื่องจากช่วงเดือนตุลาคม 2554 ภาคการผลิตของไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาวะการจ้างงานจะมีมากในสาขาของการก่อสร้าง ภาคการค้าปลีกค้าส่ง
          นายอาคมกล่าวว่า สำหรับในปี 2555 ต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน คือ ความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานในช่วงครึ่งแรกของปีเนื่องจากการสิ้นสุดระยะเวลา 3 เดือนของโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง มาตรการรัฐบาลได้นำมาใช้ และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ใน 7 จังหวัดภาคกลาง จะมีความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี
          นายอาคมกล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ระบุว่า มีแรงงานกว่า 45,000 คนถูกสถานประกอบการ 122 แห่งเลิกจ้างแล้ว ยังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งยังรอกลับเข้าทำงานแต่ยังไม่มีความแน่นอนชัดเจน และยังมีสถานประกอบ
          การยังไม่สามารถเปิดกิจการได้รวม 284 แห่ง ทำให้ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้าทำงานสูงถึง 164,552 คนและสถานประกอบการบางส่วนอาจถือเป็นเหตุผลเลิกจ้างจากการขึ้นค่าแรงค่าต่ำเป็น 300 บาทในเดือนเมษายนนี้ อาศัยเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุผลในการประกาศปิดบริษัท เลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง
          อุตสาหกรรมเสี่ยงเลิกจ้างประกอบด้วย การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน อิเล็กทรอนิกส์สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องจักรทั่วไป โทรทัศน์และวิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ในบ้านเรือน เป็นต้น
          นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วงไตรมาส 4 และภาพรวมในปี 2554 พบว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอประเภทเรื่องเพศ หรือภาพความรุนแรงแพร่หลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการนำเอาความทันสมัยของเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม สะท้อนการขาดความเข้าใจถึงบรรทัดฐานที่ดีของสังคมของกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ในปี 2553 มูลนิธิกระจกเงาได้รับร้องเรียนและแจ้งเบาะแส 90 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเว็บเผยแพร่คลิปหลุด คลิปแอบถ่าย และในปี 2554 จากเว็บไซต์ฮอตไลน์รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบมากกว่า 324 ราย ตัวอย่างของการเผยแพร่คลิปวิดีโอ เช่น เด็กนักเรียนมัธยมต้นถอดเสื้อผ้า เด็กสวมชุดนักเรียนเต้นเลียนแบบ
          ไคโยตี้ในชุดเครื่องแต่งกายไม่เหมาะสม นักเรียนไทยระดับชั้นมัธยมต้นมีเพศสัมพันธ์ในชุดนักเรียนต่อหน้าเพื่อนๆ หรือนักศึกษาหญิงมีข่าวตบตีกันเพราะเรื่องแย่งผู้ชาย "ในภาวะการขยายตัวของเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เครือข่ายสร้างพื้นที่สำหรับการแสดงออกถึงตัวตนออกมาบนพื้นที่ส่วนตัว หรือเป็นการแบ่งปันข้อมูลและความคิดเห็นจึงมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี2554 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 96.3% กลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 18-24 ปี เป็นกลุ่มผู้ใช้ เฟซบุ๊กใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของผู้ใช้ทั้งหมด รองลงอายุระหว่าง 24-34 ปี ใช้ 28.6%"
          นางสุวรรณีกล่าวว่า ปัญหาการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิดนั้น มีผลกระทบต่อเนื่องตามมาต่อคุณภาพชีวิต และความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตเด็กและเยาวชนมากมาย เช่น ก่อให้เกิดอาชญากรรม การล่อลวง ละเมิดทางเพศ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรนำไปสู่ปัญหาการทำแท้ง หรือที่เรียกว่าคุณแม่วัยใส  ปัจจุบันมีมากขึ้นต่อเนื่อง และกลุ่มเด็กวัยรุ่นรวมถึงเยาวชนมักเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและซึมซับในสิ่งที่เห็นซ้ำๆ ทั้งในพฤติกรรมการเลียนแบบทางเพศ หรือการกระทำอาชญากรรม ที่
          เรียกว่า ก๊อบปี้ แคท (copycat) คลิปนักเรียนตบกันหรือแก๊งปาหิน บางครั้งได้แสดงให้เห็นถึงเด็กและเยาวชนยอมรับพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงเสมือนเป็นเรื่องธรรมดาและมีส่วนร่วม
          นางสุวรรณีกล่าวว่า การตั้งครรภ์ของหญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือที่เรียกว่า "แม่วัยใส"มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีสถิติสูงสุดในเอเชีย โดยอัตราการคลอดบุตรของหญิงไทยอายุกว่า 20 ปี เพิ่มจาก 13.55% ในปี 2552 เป็น13.76% ในปี 2553 สูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก  กำหนดไม่เกิน 10% ผลกระทบจากวัยรุ่นตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและไม่ตั้งใจ คือปัญหาสุขภาพต่อแม่เด็ก และเด็กที่เกิดมา รวมถึงปัญหาสังคมในเรื่องการทำแท้งเพิ่มขึ้น

pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved