HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/12/2556 ]
'น้ำสีม่วง'แค่ด่างทับทิมฤทธิ์แสบคันผิวหนัง-ตา
 นักวิชาการชี้'น้ำสีม่วง'ไม่ใช่อาวุธเคมี ยันแค่'ด่างทับทิม'ผสม 'โซเดียมไธโอซัลเฟต' ฤทธิ์เป็นกรดอ่อนเข้มกว่าน้ำส้มสายชู เล็กน้อย แต่ทำให้ผิวหนังแสบคัน ระคายเคืองเยื่อบุตา
          เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พญ.ฉันทนา ผดุงทศ นักวิชาการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และปรากฏมีการใช้น้ำสีม่วงฉีดพ่นผู้ชุมนุม ซึ่งเชื่อว่าเป็นการนำน้ำผสมแก๊สน้ำตานั้น จากการสอบถามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และการค้นหาข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) และองค์กรอาวุธเคมีระดับสากล สรุปว่า น้ำสีม่วงเป็นสารเคมีที่ใช้ในการสลายการชุมนุม เพื่อง่ายต่อการระบุตัวผู้ชุมนุม เนื่องจากสีจะติดตามตัวและเสื้อผ้าล้างออกยาก ทั้งนี้ สารเคมีที่ใช้คือ โพแทสเซียม เปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate) หรือด่างทับทิม ผสมกับโซเดียม ไธโอซัลเฟต (Sodium thiosulphate) สารเคมี 2 ชนิดนี้ เมื่อทำปฏิกิริยากันแล้วจะทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุตา ทางเดินหายใจ และเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำจะกลายเป็นกรดกำมะถันอ่อนๆ เมื่อสัมผัสผิวหนังจะมีอาการแสบคัน ยืนยันว่าน้ำสีม่วงไม่ใช่อาวุธเคมี หากจะเทียบความเข้มข้น จะสูงกว่าน้ำส้มสายชูเล็กน้อย แต่ยังไม่ใช่ฝนกรด
          "สำหรับอาวุธเคมีคือ สารที่ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายอย่างรุนแรง จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต แต่การใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมนั้น ไม่ได้หวังมุ่งเอาชีวิต สำหรับอาวุธเคมีแบ่งตามพิษที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ได้แก่ 1.Choking agent หรือ สารเคมีทำให้เกิดอาการปอดบวมน้ำ เช่น คลอรีน ฟอสจีน 2.Blister/Vesicants หรือสารเคมีที่ทำให้เกิดแผลพุพองที่ผิวหนังคล้ายถูกไฟไหม้ เช่น ก๊าซมัสตาร์ด 3.Blood agent หรือสารเคมีที่ทำให้เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้น้อยลง เช่น ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ 4.Nerve agent หรือสารเคมีที่ทำให้ไม่สามารถส่งกระแสประสาทได้ เกิดอาการอัมพฤกษ์ต่างๆ เช่น ออร์กาโนฟอสเฟต (ซาริน โซมาน) 5.กรดหรือด่างอย่างแรง เช่น กรดกัดแก้ว และ 6.พิษจากสิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อโบทูลินั่ม (หน่อไม้ปี๊บ)
          พญ.ฉันทนากล่าว และว่า จากข้อมูลวิชาการพบว่า แก๊สน้ำตามีหลายกลุ่มแต่ที่นิยมใช้ คือ Chloroacetophenone (CN) และ Chlorobenzyidenemalononitrile (CS) โดย CN จะเป็นสารเคมีในกลุ่มของแข็งไม่ใช่ก๊าซ และไม่ละลายน้ำ ส่วน CS สามารถละลายน้ำได้แต่น้อยมาก แต่จะสามารถละลายได้ดีในตัวทำละลายสารอินทรีย์ การจะทำให้สารเคมีออกฤทธิ์ต้องใช้วิธียิงและทำให้ระเบิดในลักษณะของดอกไม้ไฟและไม่สามารถนำไปผสมน้ำเพื่อฉีดพ่นได้ ทั้งนี้ วิธีสลายการชุมนุมที่เป็นไปตามหลักสากลมีหลายวิธี แต่ต้องมีจุดประสงค์คือ กันคนออกจากพื้นที่เท่านั้น

pageview  1205920    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved