HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/12/2556 ]
เมื่อคุณต้อง ถอนฟัน
 ศ.ณัฐเมศร์ วงศ์สิริฉัตร
          อ.ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
          คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
          แม้จะมีปัญหาสุขภาพปากและฟันอย่างหนักหน่วง แต่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่มักจะไม่อยากให้คนไข้ต้องถอนฟัน นอกจากจะเจอกับปัญหาที่เกินจะเยียวยาที่ทันตแพทย์จำเป็นต้องทำเพื่อให้คนไข้หายจากสภาวะการเป็นโรคฟัน นอกจากทันตแพทย์แล้ว คนไข้เองก็มองว่าการถอนฟันเป็นสิ่งที่น่าสะพึงกลัวอยู่ไม่น้อย
          สภาวะฟันที่ต้องถอน
          1.ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองปลายรากฟันและมีอาการบวมบริเวณหน้าอย่างมาก ไม่สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมด้านอื่นๆ เช่น การรักษาคลองรากฟัน
          2.ฟันที่มีโรคปริทันต์รอบๆตัวฟันที่รุนแรงอาจจะร่วมกับการเป็นหนองปริทันต์
          3.ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุในลักษณะฟันหักหรือขากรรไกรหักผ่านฟันซึ่งทันตแพทย์พิจารณามาแล้ว  ไม่สามารถเก็บไว้ได้
          4.ฟันคุดหรือฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากตามปกติ
          5. ฟันที่มีพยาธิสภาพ เช่น เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก
          6. ฟันเกินที่ขึ้นมาในลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบ
          7. ฟันลักษณะอื่นๆ เช่น ฟันที่มีรูปร่างผิดปกติหรือฟันที่ขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติที่ไม่ได้ใช้งาน
          การเตรียมตัวก่อนถอนฟัน
          1. เตรียมร่างกายให้พร้อมเช่น พักผ่อนหลับนอนให้เต็มที่2. จิตใจพร้อมที่จะถอนฟัน หากท่านกลัวหรือเครียดมากควรบอกทันตแพทย์หากมีโรคประจำตัวควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วย
          3. รับประทานอาหารแต่พอประมาณ อย่าปล่อยให้หิวมากเกินไปเพราะอาจจะทำให้เป็นลมได้ง่ายในขณะถอนฟัน
          4. ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไปเพราะอาจเกิดปัญหาภายหลังถอนฟันได้ เช่น ทางเดินหายใจอุดตันจากการสำลักอาหารซึ่งเป็นปัญหาแทรกซ้อนได้
          วิธีการถอนฟันทำอย่างไร
          ก่อนที่จะทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะตรวจประวัติทางการแพทย์และประวัติทางทันตกรรมอย่างถี่ถ้วน และจะถ่ายภาพรังสีทำให้เห็นถึงลักษณะตัวฟันและรากฟัน ที่อยู่ในกระดูกและสิ่งที่ผิดปกติที่อยู่ในกระดูกขากรรไกร จากข้อมูลที่ได้ทันตแพทย์ จะสามารถวินิจฉัยหรือพิเคราะห์ความยุ่งยากของการถอนฟัน และตัดสินใจว่าจะส่งตัวคุณไปหาผู้เชี่ยวชาญ หรือศัลยแพทย์ช่องปากหรือไม่
          1. ก่อนทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะทำให้เกิดการชาบริเวณรอบๆ ฟันที่จะถูกถอน
          2. ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือทำให้ฟันหลวมออกจากเหงือก
          3. ขั้นสุดท้ายทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือหนีบจับฟันออกมาก็จะเห็นลักษณะฟันที่ต้องถูกถอนได้
          ผู้มีโรคประจำตัวควรทำอย่างไร
          ก่อนทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะทำการสัมภาษณ์ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย วัดความดันโลหิต  ตรวจนับชีพจร  ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เช่น  โรคหัวใจ  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง หรือโรคเลือด  ควรบอกให้ทันตแพทย์ทราบอย่างละเอียด  โดยเฉพาะผู้ที่มี ประวัติโรคเลือดออกง่าย หยุดยาก  ควรถอนฟันภายในโรงพยาบาลเพราะอาจจะต้อง เตรียมพร้อมล่วงหน้าก่อนถอนฟันเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดภายหลังการถอนฟัน

pageview  1205930    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved