HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/12/2556 ]
เลือด...ของเหลวมหัศจรรย์แห่งชีวิต (43) ดัชนีบ่งชี้การแข็งตัวของเลือด
  ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยาคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล www.mt.mahidol.ac.th
          สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ฉบับนี้เรายังคงอยู่กันที่ช่วงท้ายของดัชนีบ่งชี้การแข็งตัวของเลือดในรายการตรวจวิเคราะห์ที่เรียกว่า APTT และ APTT ratio นะครับ รายการ APTT นี้ เป็นการตรวจการแข็งตัวของเลือดที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายใน (Intrinsic system) ซึ่งนิยมใช้ในการติดตามผลการรักษาโดยใช้สารที่ชื่อว่า Heparin โดย Heparin เป็นสารต้านการแข็งตัวของเลือดที่ถูกใช้เพื่อการรักษาภาวะต่างๆ เช่น การเกิดก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงปอด โดยสาร Heparin จะออกฤทธิ์ยับยั้งปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด (Clotting factors) ที่เรียกว่า Factor XII, XI และ IX (อ่านกันในลักษณะตัวเลขโรมันนะครับ) นอกจากนี้ รายการตรวจ APTT นี้ยังถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความบกพร่องของ Factor VIII และ IX หรือในบางกรณีอาจพบได้ว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากการขาดหรือความบกพร่องของ Clotting factors แต่อาจเกิดจากการมีสารที่สามารถยับยั้งการแข็งตัวของเลือด เรียกในทางการแพทย์ว่า Coagulation inhibitors ก็เป็นไปได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ในเชิงลึกกันต่อไป
          เอาล่ะครับ ขอย้อนกลับมาที่รายการตรวจ APTT กัน รายการตรวจ APTT นี้ มักถูกสั่งตรวจร่วมกับรายการที่ชื่อว่า PT ซึ่งเป็นการตรวจการแข็งตัวของเลือดอันเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก (Extrinsic system) ที่เราได้คุยกันไปใน 2 ฉบับ ที่ผ่านมา โดยค่าปกติของ APTT อยู่ที่ 30-40 วินาที ในขณะที่ค่า PT จะอยู่ที่ 10-13 วินาที ดังนั้น หากพบว่าค่า PT ปกติ แต่ค่า APTT ผิดปกติ จะแสดงถึงความผิดปกติของปัจจัยภายใน เช่น การบกพร่องของ Factor VIII และ IX ในทางกลับกัน หากค่า PT ผิดปกติ แต่ค่า APTT ปกติแทน ก็จะหมายความว่า มีความผิดปกติของปัจจัยภายนอก ได้แก่ Fibrinogen, Prothrombin, Factor V, VII หรือ X นะครับ ในกรณีที่ 3 ก็คือ หากทั้งค่า PT และ APTT ผิดปกติยาวนานด้วยกันทั้งคู่ ก็แสดงว่า เป็นความผิดปกติในระบบที่เป็น Common pathway ซึ่งเป็นระบบร่วมระหว่าง Extrinsic และ Intrinsic pathways โดยอาศัยการใช้ปัจจัยร่วม เช่น Factor I, II, V และ X
          สำหรับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในกรณีที่พบค่า APTT ยาวนานกว่าปกตินั้น มักพบในโรคที่ท่านอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง ที่เรียกว่า โรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia) ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก เกิดจากการขาด Clotting factors ชนิด Factor VIII, IX และ XI โดยฮีโมฟิเลียนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ในหลายกรณีจะมีภาวะโรคตั้งแต่แรกเกิด เป็นๆ หายๆ ไปเรื่อย โดยจะพบจ้ำเลือด หรือจ้ำเขียวตามตัวหรือแขนขา และในหลายกรณีจะตามมาด้วยการมีเลือดออกในข้อและในกล้ามเนื้อ สำหรับโรคฮีโมฟิเลียนี้ที่พบบ่อยสามารถจำแนกออกเป็นชนิดต่างๆ คือ ฮีโมฟิเลียชนิดเอ (Hemophilia A) และบี (Hemophilia B) โดยชนิดเอเกิดจากการขาด Factor VIII ซึ่งมีอาการรุนแรง  ในขณะที่ฮีโมฟิเลียชนิดบีเกิดจากการขาด Factor IX แต่อาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดเอ นอกจากนี้ ยังมี อีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ้าง เรียกว่า ฮีโมฟิเลียชนิดซี เกิดจาก การขาด Factor XI ซึ่งพบอาการไม่ค่อยรุนแรง
          รายการตรวจต่อไปมีชื่อว่า APTT ratio รายการตรวจนี้มักถูกสั่งตรวจเพื่อติดตามประสิทธิภาพการรักษาโดยใช้สาร Heparin ในการต้านการแข็งตัวของเลือด โดยเป็นการคำนวณค่าของ APTT ของผู้ป่วยในหน่วยเป็นวินาที หารด้วยค่าเฉลี่ย (Mean) ของกลุ่มคนปกติประมาณ 20-30 คน ซึ่งค่าอัตราส่วน (Ratio) นี้จะอยู่ประมาณ 1.5-2.5 เท่า โดยค่า APTT ที่มีการกำหนดไว้สำหรับผู้ที่ได้รับสาร Heparin จะมีค่าประมาณ 45-70 วินาที ดังนั้น หากลองนำค่าเหล่านี้มาคำนวณกัน ตัวอย่างเช่น ค่าของ APTT ที่ได้จากผู้ป่วยประมาณ 70 วินาที เมื่อนำมาหารด้วยค่าเฉลี่ยของคนปกติซึ่งมีค่าประมาณ 30 วินาที จะมีอัตราส่วนเท่ากับ 2.33 เท่า อนึ่ง สำหรับการวิเคราะห์ค่า APTT ratio นี้ จะคล้ายคลึงกับค่า PT (INR) ที่เราได้คุยกันไปในฉบับเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งใช้ในการควบคุมประสิทธิภาพการรักษาโดยการใช้ยา Warfarin นั่นเองล่ะครับ
          ใน 3 ฉบับที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เราได้เรียนรู้กันไปเกี่ยวกับรายการตรวจวิเคราะห์ทางเทคนิคการแพทย์กันในหมวดที่ว่าด้วยดัชนีบ่งชี้การแข็งตัวของเลือดกันมาจนหมดแล้วนะครับ ช่วงนี้ก็มีพายุลูกใหม่ๆ เข้ามาส่งผลต่อการมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทยกันอย่างต่อเนื่อง ก็ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพนะครับ
          ในโอกาสนี้ ผมใคร่ขอแสดงความเสียใจกับประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้รับความเสียหายและผลกระทบร้ายแรงจนเกิดความสูญเสียอย่างน่าตกใจจากผลพวงของพายุไห่เยี่ยน โดยผมอยากส่งแรงใจพร้อมไปกับแรงใจของท่านผู้อ่านทุกท่านส่งไปให้กับชาวประเทศฟิลิปปินส์เพื่อขอให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้นะครับ

pageview  1205920    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved