HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 29/11/2556 ]
Good Health Start Here อนามัย'วัยทำงาน'เริ่ม'วันนี้'ดีวันหน้า
 อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
          "วัยทำงาน" ถือเป็นวัยที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนผลผลิตของเศรษฐกิจ และเป็นที่พึ่งของคนในครอบครัว ดังนั้น จึงควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของตัวเองอย่างจริงจัง
          ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชากร พ.ศ.2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบประเด็นน่าสนใจในเรื่องพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของคนวัยทำงาน (15-59 ปี) ทั้งในเรื่องการกินและการอยู่ โดยพฤติกรรมเสี่ยงแรกที่ถูกละเลยคือเรื่อง "การกิน" โดยพบว่า คนในวัยทำงานมีการบริโภคอาหารหลักครบทั้ง 3 มื้อ น้อยกว่าวัยเด็กและผู้สูงอายุ
          พฤติกรรมเสี่ยงที่สองคือ การออกกำลังกาย คนวัยทำงานออกกำลังกายน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ แม้จะมีการรณรงค์ให้ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกันอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยพบว่าคนวัยทำงานเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ออกกำลังกาย
          พฤติกรรมเสี่ยงต่อมาคือ การดื่มสุราและสูบบุหรี่ แม้จะรู้ถึงโทษและพิษภัยว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ก็ยังเลือกที่จะดื่มสุราและสูบบุหรี่
          Good Health Start Here "สถานีสุขภาพ" ฉบับนี้ จึงขอเริ่มสถานี (Station 3) ว่าด้วยสุขภาพคนวัยทำงาน หลังผ่าน Station 1 และ 2 มาแล้ว.โดย Station 1 ว่าด้วยการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก โดยคาดหวังให้ "ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย" เด็กเจริญเติบโตสมตามวัย สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสติปัญญาดี อารมณ์ดี เข้ากับสังคมได้ดี วัยนี้สมองและร่างกายเจริญเติบโตเร็ว Station 2 ยังแบ่งเป็น 2A, 2B เพื่อการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน วัยเรียน และวัยรุ่น เป็นช่วงการกล่อมเกลาการเรียนรู้ สั่งสมอารมณ์ สติปัญญา เรียนรู้จากพ่อแม่ ครู อาจารย์ เพื่อนๆ การเรียนการศึกษา เป็นหัวใจของการพัฒนา "คน" ตามที่เสด็จพ่อ รัชกาลที่ 5 ท่านทรงกล่าวว่า "การให้การศึกษา คือ การสร้างชาติ"
          และผู้เขียนเสนอว่า สาธารณสุขทำให้เด็ก 100 คนคลอดเกิดอย่างมีคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการควรต้องมีนโยบายเด็ก 100 คน ต้องได้รับโอกาสเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็น "บัณฑิต" ทั้ง 100 คน นั่นก็คือ "Health for All - All for Education" ประเทศไทยเราจะได้เจริญด้วยทรัพยากร "มนุษย์" มี "คนดี คนเก่ง มีคุณธรรม จริยธรรม" เป็นมันสมองของชาติไทยต่อไป
          Station 3 ว่าด้วย "อนามัยวัยทำงาน" คือ ช่วงวัยตั้งแต่อายุ 15-60 ปี เป็นช่วงยาวมาก มีความสำคัญ ถ้าเด็กไทยจบเป็น "บัณฑิต" เป็นคนมี "คุณภาพ" ใฝ่รู้ ใฝ่หางานทำทุกอย่าง ไม่เลือกงาน...สร้างงานให้ตัวเอง อดทน ประหยัด มัธยัสถ์ เพื่อมี "รายได้" ของตัวเอง นอกจากรัฐบาลเองโดยกระทรวง "แรงงาน" มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นการเพิ่มคุณค่า เพิ่มรายได้ของส่วนบุคคล (GNP) นำไปสู่รายได้มวลรวมของประเทศชาติ (GDP) ดีและสูงขึ้นตามลำดับด้วย ตามที่มีคนพูดว่า "ประชาชนมั่งคั่ง ประเทศชาติมั่นคง"
          ด้วยเรื่องสุขภาพวัยทำงาน หัวใจสำคัญยังอยู่ที่ "3 อ." คือ "ยาวิเศษ" และเป็น "วัคซีนชีวิต" ตามที่ ผู้เขียนได้รณรงค์ในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ด้วย "ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี" เพราะฉะนั้น การมีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานความสำคัญยิ่ง ไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องการศึกษา...หากเช่นนี้แล้ว การอดทนมานะในการ "ทำงาน" ของสุขภาพ เหมือน "รถยนต์" ที่ต้องการน้ำมันเชื้อเพลิง ดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อเป็นต้นทุนของพลังงาน ในการนำพา "ร่าง" และ "ปัญญา" ขับเคลื่อนรถทั้งคัน เดินหน้าบรรทุก "คนโดยสาร" หรือ "สินค้า" เพื่อได้เงินตรา คือ "รายได้" เจือจานชีวิตและครอบครัวของเราด้วย "พอเพียง" ในการดำรงชีวิต
          "คน" เราจะมีสุขภาพดีได้นั้น อยู่ที่การ "กิน" คนเราเคยพูดเป็นคำพังเพยเสมอว่า "เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องตายเรื่องเล็ก"
          "กิน" อย่างไรถึงจะเรียกว่าถูกหลักโภชนาการนั้นสำคัญ อดีตที่ผ่านมาประเทศไทยเรายากจน คนไทยอดีตจะเป็นคนหรือเด็กเกิดขาดสารอาหารมากมาย เพราะกินไม่เป็น กินไม่ถูก กินไม่พอ ไม่รู้จักกิน ไม่มีจะกิน ต่างๆ เหล่านี้ งานนี้ต้องยกเครดิตให้หมอ พยาบาล นักสาธารณสุข หมออนามัย ในอดีตทำงานร่วมกับทุกกระทรวง เป็นนโยบายของรัฐบาล ในการขจัดเด็กขาดสารอาหารให้หมดไป ใช้เวลาถึง 30 ปี แต่ในยุคดิจิตอล "ยุคใหม่" คนหรือเด็กส่วนใหญ่จะ "อ้วน" เนื่องจากกินเกินพอ กินอาหารไม่สมดุล หนักไปทางแป้ง ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด เรียกว่า "อาหารขยะ" พวกนี้ลงท้ายจะมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเป็น "เพื่อน" และจบลงด้วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต เส้นเลือดสมองอุดตันหรือแตก โรคไตวาย เป็น "ญาติสนิท" กับเราจนกว่าจะตายจากกัน
          เพราะฉะนั้น เราควรต้องกินอาหารให้หลากหลาย กินให้สมดุล กินให้พอดี นั่นคือ "หลักการสำคัญ"
          กินอย่างไรจึงจะพอดีไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ความพอดีของแต่ละคนขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และกิจกรรมประจำวัน
          ถ้ากิจกรรมน้อย แต่กินมากก็จะอ้วนขึ้นเรื่อยๆ หรือบางคนระวังตัวมากเกินไปเพราะกลัวอ้วน ก็อาจจะกินน้อยมากไป จนทำให้น้ำหนักตัวลดลงหรือผอมเกินไป ภาวะโภชนาการจะดีไม่ดีนั้นดูง่ายๆ จาก "ดัชนีมวลกาย" ซึ่งคำนวณหาได้ง่ายๆ โดยใช้สูตร น้ำหนักตัวเป็น "กิโลกรัม" หารด้วยส่วนสูงเป็น "เมตร" ยกกำลังสอง
          ค่าปกติคือ 18.5-24.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร แต่ถ้าค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.5 ก็ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ถ้าค่ามากกว่า 25 ถือว่าเกินมาตรฐาน และถ้ามากกว่า 30 ก็ถือว่า "อ้วน" แล้ว นอกจากรูปร่างจะไม่น่าดูแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากมายที่กล่าวแล้วข้างต้น
          ดังนั้น เราควรฝึกการชั่งน้ำหนักให้เป็นประจำ ทุกบ้านควรมีเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความดันโลหิตสูง เพราะมีประโยชน์และสำคัญต่อชีวิตเรา ราคาก็พอซื้อหาเมื่อเทียบกับคุณค่าของการมีสุขภาพดี ถ้าน้ำหนักเกินมาตรฐานก็ต้องลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ งดของจุบจิบระหว่างมื้อ แต่ถ้าน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ต้องเพิ่มปริมาณอาหารแต่ละมื้อ หรือเพิ่มอาหารระหว่างมื้อ เพื่อให้ได้ปริมาณ "พลังงาน" แก่ร่างกายเพียงพอ
          หลักในการกินอาหารให้มี "สุขภาพดี" สำหรับคนทำงาน มีหลักง่ายๆ 6-7 ข้อดังนี้คือ1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้เกิดความสมดุล ไม่มากหรือน้อยเกินไป ที่สำคัญคือไม่ให้ "อ้วน"
          2.ควรกินอาหารเนื้อสัตว์พอประมาณ โดยเน้นเนื้อปลา เนื้อสัตว์เล็กๆ และหันมาสนใจอาหารที่มาจากถั่วเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง ถั่วงอก ถั่วหัวโต โดยนำมาทำในรูปต้มจืด
          3.กินอาหารที่มีไขมันไม่มาก ไขมันที่ได้จากอาหารนั้น อาจสอดแทรกมาจากเนื้อปลา ไก่ เนื้อหมู และน้ำมันที่มาจากการทอดหรือการผัด ถ้าเผื่อกินแบบไทยๆ มีผักนึ่งบ้าง ต้มจืดบ้าง ผัดผักบ้าง จะได้ไขมันในปริมาณที่พอเหมาะ การบริโภคไขมันมากเกินไป เกินความจำเป็น จะทำให้เกิดโรคต่างๆ คือ โรคไขมันสูงในเลือด (Hyper cholesterolemia) หรือที่เรียกว่าคอเลสเตอรอลสูงในเลือด นำไปสู่โรคหลอดเลือดตีบตัน ทั้งหัวใจ สมอง ไต ตา เท้า และโรคมะเร็งตามมาก็ได้
          4.จำกัดปริมาณ "น้ำตาล" การบริโภคน้ำตาล ขนมหวานมากๆ ทองหยิบ ทองหยอด เค้ก ขนมปัง เป็นต้น น้ำตาลส่วนที่เกินไปจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น "ไขมัน" ทำให้ไขมันในเลือดสูง และมีโอกาสอ้วนได้ด้วย
          5.จำกัดอาหาร "เค็ม" ให้มีเกลือปริมาณวันละ 5-6 กรัม เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะกับ "ผู้บริหาร" ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีหลอดเลือดยืดและหดตัวไม่ดีเท่าที่ควร และเสี่ยงต่อการมีหลอดเลือดแข็งตัวสูง และการตกตะกอนของไขมันตามหลอดเลือดตั้งแต่เด็ก 5 ปี 10 ปี 20 ปี 30 ปี...60 ปีขึ้นไป หลอดเลือดจะค่อยๆ เล็กลงจนกระทั่งอุดตันได้ หรือบางรายผนังหลอดเลือดเปราะทำให้หลอดเลือดแตกได้ เมื่อความดันโลหิตพุ่งสูงมากๆ
          6.กินผักต่างๆ หลากสีให้มาก พืชผักให้วิตามินและแร่ธาตุอื่นเกือบทุกชนิด และที่สำคัญคือ "กากอาหาร" ยังช่วยปกป้องเยื่อบุจากสารพิษเพราะจะช่วยจับสารพิษ และนำขับถ่ายและยังช่วยให้ลำไส้สะอาดอีกด้วย
          7.กินผลไม้ให้พอเพียง แต่ "ใคร" ที่รู้ตัวว่ามี "น้ำหนัก" ค่อนข้างมาก ท้วมหรืออ้วน ควรระวังผลไม้ที่รสหวาน เช่น เงาะ ทุเรียน ขนุน มะม่วงสุก สำหรับผลไม้ไม่หวานสามารถกินได้เต็มที่ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ
          ทั้งหมดนี้ เป็นอาหารสำหรับ "คนทำงาน" ในสำนักงาน ทุกระดับ "พึงเลือกกิน เลือกบริโภคได้เพื่อให้มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง พลเมืองกลุ่มนี้ใช้พลังงานในกิจกรรมต่างๆ น้อยกว่าผู้ทำงานกลางแจ้ง เช่น ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร คนขับรถ คนขี่มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ ซึ่งใช้พลังงานการทำกิจกรรมมากกว่า กลุ่มคนทำงานในสำนักงาน ซึ่ง กินดี อยู่ดี แต่อ้วนง่าย ป่วยง่าย ตายง่ายกว่า
          หลักการง่ายๆ คือขอให้ "กินผักครึ่งหนึ่ง อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง" ใน 1 จาน และจำไว้ว่าเต่าอายุยืนกินอะไร? ช้างตัวใหญ่แข็งแรงกินอะไร? ม้าแข็งแรงวิ่งเร็วกินอะไร? ยีราฟสูงกินอะไร? และผู้เขียนเคยกล่าวว่า "กินปลาเถอะน้องสมองจะดี กินปลาเถอะพี่จะดีที่สมอง" เพราะ "ปลา" มีกรดไลโนเลอิกสูง (Linoleic acid) ข้อสรุปเบื้องต้นได้ว่า "กินผัก ผลไม้" ช่วยได้ทั้ง "ร่างกาย" และ "สมอง" สติปัญญา เนื้อปลาเป็นทางเลือกหนึ่งที่ฝากให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเลือกรับประทาน และประการสำคัญต้องหมั่นออกกำลังกาย งดบุหรี่สุรา ยาเสพติดทุกชนิด
          แม้ประเทศไทยจะยังอยู่ในช่วงของการได้เปรียบทางประชากร คือ มีวัยแรงงาน ซึ่งเป็นวัยที่ก่อให้เกิดผลผลิตทางด้านเศรษฐกิจ และมีส่วนสำคัญต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ในสัดส่วนที่สูงกว่าวัยอื่นๆ แต่ในอนาคต คนวัยทำงานจะค่อยๆ ลดลงจากอัตราการเกิดที่ลดลง และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว การเตรียมพร้อมเพื่อการเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด และเป็นภาระต่อสังคมน้อยที่สุด กลุ่มวัยทำงานที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุนั้น ต้องตระหนักให้มาก.นะครับ

pageview  1205841    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved