HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 25/11/2556 ]
'เอชไอวี'จัดการได้หากรู้เร็ว รักษาเร็ว
  ชุติมา สิริทิพากุล
          tan.error@yahoo.com
          ที่ผ่านมา สังคมไทยยังตื่นตัวในเรื่องของการป้องกันโรคเอดส์ มีการประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง เพื่อรณรงค์ให้คนไทยรู้จักป้องกันตัวเองจากเชื้อเอชไอวี หรือ โรคเอดส์ ทั้งการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย การไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ฯลฯ แต่เราไม่ค่อยพูดถึงขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยสักเท่าไร
          เมื่อไม่นานมานี้การเปิดตัว โครงการ VCT@WORK (Voluntary HIV Counseling and Testing at Work Programme) หรือโครงการให้คำปรึกษา และการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ลูกจ้างในสถานประกอบการเข้าตรวจเลือด โดยสมัครใจผ่านสถานประกอบการ ภายในสิ้นปี 2558 โดยตั้งเป้า ไว้ที่ 100,000 คน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
          ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ ความสำคัญ ประโยชน์ของการตรวจเลือดและการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยมีนักวิชาการและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม
          สมพงษ์ เจริญสุข ที่ปรึกษาด้านสังคม สำนักงานโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า หลายคนสงสัยว่าเหตุใดเราจึงเน้นการตรวจเลือดอย่างสมัครใจในกลุ่มคนวัยทำงาน นั้นเป็นเพราะ หากเราดูจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยจะพบว่ากว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นวัยทำงาน รวมทั้งไทยยังมีผู้ป่วยในช่วงอายุระหว่าง 25-49 ปี ในอัตราที่สูงมาก ซึ่งสหประชาชาติพยายามดำเนินการ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในไทยและในโลกเหลือเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ทั้งการติดเชื้อใหม่ การปราศจากคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์และการไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย
          สิ่งที่เราต้องทำคือ นำกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการปรึกษาเพื่อตรวจเชื้อให้ได้ร้อยละ 90 เช่น กลุ่มรักร่วมเพศ กลุ่มที่ใช้ยาเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้น กลุ่มผู้ขายบริการ เป็นต้น เมื่อเราตรวจพบเร็วก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว
          นพ.ทวีทรัพย์ ศิริประภาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการปัญหาเอดส์แห่งชาติ บอกว่า จากสถิติมีผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 9,000 คน เฉลี่ยวันละประมาณ 24 คน ทั้งที่เรื่องโรคเอดส์เป็นเรื่องที่มีการเผยแพร่ข้อมูล ทำความเข้าใจกับสังคมมานานแล้ว
          มีคำถามว่า ทำไมถึงเจอคนไข้ที่อาการหนักแล้วเข้ารักษาเป็นจำนวนมาก เหตุผลหนึ่งคือ คนที่ติดเชื้อไม่รู้ตัวเอง และเมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นต่อไป อีกเหตุผลหนึ่งคือ ไม่กล้าไปตรวจเลือดเนื่องมาจากความกลัว เมื่อตนเองมีอาการหนักขึ้นจนรู้สึกว่าต้องรักษาจึงเข้าสู่กระบวนการรักษา
          ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 480,000 คน ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 50 หรือประมาณ 240,000 คน ที่เข้ารับการรักษา และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเพียงร้อยละ 40 ของประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด เข้ารับการตรวจหาเชื้อ
          นพ.ทวีทรัพย์บอกอีกว่า จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา และได้รับยาตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วงที่เม็ดเลือดขาวยังลดลงไม่มาก ก็สามารถใช้ชีวิตได้ในสังคมได้ตามปกติ แม้ปัจจุบันจะมีการพัฒนายาตัวใหม่ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ก็สู้การเข้ารับการรักษาตั้งแต่ต้นไม่ได้ และต้องทำความเข้าใจไปสู่สังคมว่า โรคเอดส์เป็นโรคที่สามารถจัดการได้แต่ต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง
          อภิวัฒน์ ควาญแก้ว เครือข่ายของบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี กล่าวว่า คิดว่าการติดเชื้อไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตในสังคม เราต้องบอกกับสังคมให้รู้ว่า คนที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้มีความผิดอะไร เพียงแต่ที่ผ่านมาประเมินความเสี่ยงพลาดเท่านั้น จึงขอแบ่งคนที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเอชไอวีเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงแต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เข้ามาสู่การตรวจเชื้อแบบสมัครใจ 2.กลุ่มคนที่รู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงแต่ไม่ได้เสี่ยงจริง เช่น คนที่ดูแลผู้ติดเชื้อ คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่รอบข้างคนที่ติดเชื้อ ต้องทำความเข้าใจกับสังคมรอบข้าง เพื่อให้คนที่ติดเชื้อสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างเป็นปกติ 3.กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงและ
          รู้ว่าตัวเองเสี่ยง ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้ามาสู่การตรวจ ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่คนไม่กล้าเข้าไปตรวจเชื้อคือ จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้รู้สึกว่าได้รับความคุ้มครองในความเป็นส่วนตัว และเรื่องของสิทธิในการตัดสินใจตรวจ
          4.คนที่ตรวจแล้วพบว่า ผลเลือดเป็นบวก คือมีเชื้อเอชไอวี ต้องทำให้คนเหล่านี้ความเข้าใจถึงกระบวนการรักษา การดูแล เป็นต้น 5.คนที่มีความเสี่ยงจริง แต่เมื่อตรวจแล้วผลเป็นลบคือไม่มีเชื้อ กลุ่มนี้คือ กลุ่มสตรีมีครรภ์ ที่ผ่านมาพบว่า สตรีมีครรภ์หลายคนตรวจเชื้อขณะตั้งครรภ์ลูกคนแรกไม่พบเชื้อ แต่กลับพบเชื้อในการตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 เนื่องจากไม่ได้รับรู้ถึงกระบวนการป้องกันความเสี่ยงจากเชื้อ
          "สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ เราต้องให้โอกาสเป็นของคนๆ นั้นที่จะเข้ารับการตรวจหรือไม่ แม้คนกลุ่มเสี่ยงจะตัดสินใจเข้ารับการปรึกษาและเข้ารับการตรวจ แต่เขาก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธการตรวจได้ทุกเมื่อ แม้จะขัดกับหลักการที่ควรเข้ารับการตรวจก็ตาม แต่ก็ควรทำตามสิทธิมนุษยชนให้สิทธิกับเจ้าตัวเลือกเอง" อภิวัฒน์กล่าวย้ำ

pageview  1205840    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved