HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 21/11/2556 ]
'เบาหวาน'โรคเรื้อรังและเป็นโรคทางพันธุกรรม
 "เบาหวาน" คำนี้ทุกคนคงรู้จักกันดี แต่เคยแอบสงสัยกันไหมว่าทำไมถึงต้อง "เบาหวาน"  เพราะคำว่า เบา หมายถึง ปัสสาวะ ดังนั้นคำว่า เบาหวาน จึงแปลว่า ปัสสาวะที่มีรสหวาน เพราะพบว่ามีมดมาตอมปัสสาวะของผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะบ่อย ผ่ายผอมลง และหากชิมปัสสาวะของผู้ป่วยนั้นก็จะมีรสหวาน จึงเป็นที่มาของคำว่าเบาหวานนั่นเอง แต่ในสมัยนี้แค่เพียงตรวจเลือดก็รู้แล้วว่าไม่ต้องไปปัสสาวะเพื่อรอมดมาตอม
          นพ.พงษ์เชษฐ์ เบศรภิญโญวงศ์ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา มาให้ความรู้เรื่อง โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของตับอ่อนโดยตับอ่อนสร้าง "ฮอร์โมนอินซูลิน" (Insulin) ได้ไม่พอกับความต้องการของร่างกาย โดยฮอร์โมนชนิดนี้มีหน้าที่คอยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญ โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังและเป็นโรคทางพันธุกรรม โดยพ่อแม่ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ นอกจากพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อม วิธีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ก็มีส่วนสำคัญต่อการเกิดเบาหวาน
          ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ป่วยเบาหวาน จะมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไตจะดึงเอาน้ำจากเลือดออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อถ่ายปัสสาวะมาก ก็ทำให้รู้สึกกระหายน้ำ ต้องคอยดื่มน้ำบ่อยๆ และด้วยความที่ผู้ป่วยไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงาน จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันแทน ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเปลี้ย เพลียแรง นอกจากนี้การมีน้ำตาลคั่งอยู่ในอวัยวะต่างๆ จึงทำให้อวัยวะต่างๆ เกิดความผิดปกติ และนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนมากมาย
          โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
          1.โรคเบาหวาน ชนิดพึ่งอินซูลิน (Insulin dependent diabetes) เป็นชนิดที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงและอันตรายสูง มักพบในเด็กและคนอายุต่ำกว่า 25 ปี แต่ก็อาจพบในคนสูงอายุได้บ้าง ตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้จะสร้างอินซูลินไม่ได้เลยหรือได้น้อยมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลินเข้าทดแทนในร่างกายทุกวัน จึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ มิเช่นนั้นร่างกายจะเผาผลาญไขมันจนทำให้ผ่ายผอมอย่างรวดเร็ว และถ้าเป็นุรนแรงจะมีการคั่งของสารคีโตน (Ketones) ของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญไขมัน ซึ่งสารนี้จะเป็นพิษต่อระบบประสาททำให้ผู้ป่วยหมดสติและทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า "ภาวะคั่งสารคีโตน" หรือ "คีโตซิส" (Ketosis)
          2.โรคเบาหวาน ชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (NonInsulin dependent diabetes) เป็นเบาหวานชนิดที่พบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ มีความรุนแรงน้อยกว่าประเภทแรก มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในเด็กหรือวัยหนุ่มสาวได้บ้าง โดยตับอ่อนของผู้ป่วยชนิดนี้ยังสามารถสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จึงทำให้มีน้ำตาลที่เหลือใช้กลายเป็นเบาหวานได้ บางครั้งถ้าระดับน้ำตาลสูงมากๆ ก็อาจต้องใช้อินซูลินฉีดเป็นครั้งคราว แต่ไม่ต้องใช้อินซูลินตลอดไป
          เมื่อเป็นเบาหวานเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง มักจะเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นได้ดังต่อไปนี้ เช่น ตา อาจเป็นต้อกระจกก่อนวัย ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง, อัมพาต, โรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยอาจเป็นปลายประสาทอักเสบ มีอาการชาหรือปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ซึ่งอาจทำให้มีแผลเกิดขึ้นที่เท้าได้ง่ายไต มักจะเสื่อมจนเกิดภาวะไตวาย มีอาการบวม ซีด ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเป็นเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
          แนวทางในการรักษา ได้แก่ การรับประทาน ยาหรือฉีดยา(อินซูลิน) การควบคุมระดับน้ำตาลสำคัญมากในการป้องกันความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายโดยเฉพาะไต หัวใจ สมองและระบบประสาท ดังนั้นการคำนึงถึงผลกระทบต่ออวัยวะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรตระหนักถึงเช่นกัน
          โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่หายขาดจะต้องควบคุมโรคไปตลอดชีวิตและอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติ ในการดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยการ
           การควบคุมอาหาร   การออกกำลังกาย   การรักษาด้วยยาเม็ดลดระดับน้ำตาล และ/หรืออินซูลิน
           การได้รับสุขศึกษาในการดูแลตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้และสามารถปฏิบัติตนในการควบคุมโรคเบาหวานถูกต้อง
          "แม้โรคเบาหวาน เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ในคนไข้บางคนก็อาจใช้แค่การควบคุมอาหารโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ซึ่งก็สามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ ดังนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่ใช่เพียงจะห่างไกลจากโรคเบาหวานเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางให้ห่างไกลจากอีกหลายๆ โรค เลยทีเดียว"

pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved