HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 05/11/2556 ]
ฟันผุ!เรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

 

 อ.ทพ. คมสัน  ลาภาอุตย์          
          อ.ประจำภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
          ถ้าพูดถึงปัญหาสุขภาพปากและฟัน "ฟันผุ" ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนกังวลใจ ฉบับนี้ลองไปดูว่าเราจะจัดการหรือแก้ปัญหาเรื่องฟันผุอย่างไรดี
          1. ฟันผุเกิดจากอะไร
          ฟันผุ เป็นผลลัพธ์ของกระบวนการทำลายแร่ธาตุ  (Demineralize) ของโครงสร้างของฟัน ที่มีสาเหตุมาจากการสร้างกรดของแบคทีเรียเพื่อมาย่อยเศษอาหารที่ตกค้างหลังจากที่เราทานอาหารเข้าไปนั่นเอง หรือที่มีการอธิบายว่าเกิดจาก "แมงกินฟัน" นั้น  ก็อาจจะถือได้ว่าไม่ไกลจากข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ซะทีเดียว
          2. ปัจจัยใดบ้างที่ทาให้เกิดฟันผุ
          ถ้าตอบตามหลักตามวิชาการ ก็จะมี 3-4 ปัจจัยหลัก ก็ได้แก่ 1.ฟันและสภาพช่องปากของเรา 2.เชื้อแบคทีเรีย 3.อาหารโดยเฉพาะพวกน้ำตาล และปัจจัยสุดท้ายที่เกี่ยวข้อง คือ เรื่องของเวลาในความหมายของความถี่ในการบริโภคนะครับ
          3. ส่วนไหนของฟันที่มักพบว่าผุได้มากกว่าส่วนอื่น
          ฟันของเรามีส่วนที่ราบเรียบ และส่วนที่เป็นหลุมร่องฟันต่างๆ ซึ่งส่วนหลุมร่องนี่แหละ ที่มีโอกาสจะเกิดฟันผุได้ง่ายเพราะเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสที่เศษอาหารที่ตกค้างจะสะสมอยู่และมักจะไม่สามารถทำความสะอาดได้หมดจึงทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย นอกจากนี้ตำแหน่งที่เรียกว่าซอกระหว่างฟัน หรือด้านประชิดของฟัน คือตำแหน่งที่ฟันอยู่ติดกับฟันซี่อื่น ก็มักจะมีฟันผุได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งฟันผุในลักษณะนี้จะมีการลุกลามอย่างรวดเร็ว และในหลายๆ กรณีมักจะเกิดฟันผุติดกัน ทั้ง 2 ซี่
          4. ถ้าฟันผุแล้วไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น
          ปัญหาที่เกิดตามมาจากฟันผุมีเยอะมากครับ ถ้าฟันผุลึกมากๆ เราก็จะมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน บางกรณีก็จะมีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ เช่น เรื่องการมีกลิ่นปาก ปัญหาเรื่องความสวยงาม นอกจากนี้ หากมีฟันผุลึกมากจนทะลุประสาทฟัน เนื้อเยื่อในบริเวณช่องปากก็จะเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบ มีอาการปวดร่วมกับมีการบวม การมีตุ่มหนอง ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาที่มีความร้ายแรง อื่นๆ ต่อได้ เช่น ฟันโยกจนต้องถอนฟัน หรือเกิดการติดเชื้อลามเข้าสู่ระบบอื่นๆ ของร่างกายได้
          5. มีวิธีป้องกันฟันผุวิธีใดบ้าง
          เรื่องที่ทุกๆ ท่านทราบกันดีอยู่แล้วครับ หากพิจารณาจาก 3-4 ปัจจัยที่ทำให้เกิดฟันผุนั้น ปัจจัยจากเชื้อโรคเราคงควบคุมไม่ได้มาก ปัจจัยจากตัวฟันเราควบคุมได้ในระดับหนึ่ง เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน แต่สิ่งสำคัญคือปัจจัยจากอาหารที่เราทานเข้าไปทุกวัน ซึ่งถ้าเราสามารถทำความสะอาดได้เกลี้ยงดี จนไม่เหลือเศษอาหารตกค้าง ก็จะไม่ทำให้เชื้อแบคทีเรียมาย่อยสลายจนเกิดกรดมาทำลายเนื้อฟันได้ ดังนั้น การทำความสะอาดฟันที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดฟันผุได้ ได้แก่ การแปรงฟันอย่างถูกวิธีโดยใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน
          นอกจากนี้ เรื่องพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ทานอาหารจุบจิบ อาหารระหว่างมื้อ การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ การไม่สูบบุหรี่ การไม่ใช้ฟันผิดหน้าที่ เช่น การใช้ฟันเปิดขวด (หรือการแข่งใช้ฟันยกของหนักๆ หรือลากรถเพื่อทำสถิติ!) การไม่ไปรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การจัดฟันแฟชั่น การทำฟันปลอมเถื่อน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดฟันผุและรวมไปจนถึงปัญหาอื่นๆ ของสุขภาพช่องปากได้ด้วย
          6. ฝากถึงผู้อ่าน
          ผู้คนทั่วไป มักละเลยไม่เอาใจใส่สุขภาพช่องปาก เห็นว่าปัญหาเช่นฟันผุนั้นไม่ร้ายแรง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาโรคในช่องปากนำมาซึ่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยตรงทั้งทางร่างกาย อารมณ์จิตใจ ทางด้านสังคม เช่น ความมั่นใจ บุคลิกภาพ เด็กที่มีปัญหาฟันผุมากๆ ก็มักจะมีปัญหาในด้านการเจริญเติบโต บางทีอาจถึงขั้นต้องหยุดเรียนจนเสียการเรียนไป หรือหากเป็นผู้ใหญ่ที่ละเลยปล่อยให้ปัญหาฟันผุลุกลามไปมาก ขั้นตอนการรักษาก็ยิ่งต้องซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพิ่มภาระทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการรักษาที่นานมากขึ้น ทั้งที่ในความจริงแล้ว เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ด้วยการดูแลสุขภาพช่องปากของเราให้ดี การทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธีและทั่วถึง หมั่นเอาใจใส่ตรวจดูฟันของเราอยู่เสมอ และควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจหรือให้การรักษาในขณะที่ปัญหาหรือโรคต่างๆ ยังไม่รุนแรง เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีจะอยู่คู่กับเราไปนานๆ

pageview  1205447    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved