HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 17/10/2556 ]
Good Health...Station 2 A 'วัยอนุบาล'... คือ'ต้นกล้า' สำคัญยิ่ง

 

  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
          จากข้อมูล "สภาพัฒน์" หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เผยแพร่เอกสารผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีแรกของแผนพัฒนาฉบับที่ 11 ปี 2555 ออกมาแล้ว มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในมิติ "สุขภาพ" และ "การศึกษา" ที่ผู้เขียนเห็นว่ามีส่วนสัมพันธ์กันอย่างแยกออกได้ยากยิ่ง
          มิติ "สุขภาพอนามัย" มีหลายโรคที่คนไทยจำเป็นต้องปรับปรุง แก้ไข เพราะมีการเจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น รวมไปถึงปัญหาด้าน "สุขภาพจิต" ที่เริ่มมีปัญหาขยับเพิ่มขึ้น ได้แก่โรคซึมเศร้าและอัตราฆ่าตัวตาย
          ที่น่าสนใจในส่วนของการศึกษาระบุว่า แม้คนไทยจะได้รับการศึกษามากขึ้น แต่คุณภาพการศึกษายังเป็นปัญหาสำคัญ จะเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์การศึกษาของการเรียน ซึ่งคำนวณจากคะแนนเฉลี่ย 4 วิชาหลักของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 50% มาโดยตลอด ในปี 2550 มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 38.98 และลดลงเป็น 35.67 ในปี 2554 และลดลงอีกเป็น 35.54 ในปี 2555 ตัวเลขแสดงถึงแนวโน้มลดลงตามลำดับ
          ในเรื่อง "สุขภาพอนามัย" โรคไม่ติดต่อโดยเฉพาะ "เบาหวาน ความดันโลหิต" ที่เป็นปัญหาประเทศชาติที่สำคัญในขณะนี้สูงมากๆ และตายเป็นอันดับสูงๆ ใน 3 อันดับแรก คือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ ผู้เขียนได้ไปรณรงค์ทั่วประเทศมาเกือบ 2 ปีด้วยปิงปองจราจร 7 สี โดยการเฝ้าระวังคนไทยทั้ง 76 จังหวัด จะได้รายงานผลให้ทราบในโอกาสต่อไป
          เรื่องของสุขภาพอนามัยถึงการศึกษา บทความหลายครั้งที่ผ่านมา ผู้เขียนบอกว่าอยากเห็น "Health for All & All for Education" นั่นคือ อยากเห็นเด็กไทยที่เกิด 800,000 คนต่อปี เมื่อโตขึ้นได้มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย 100%
          หากดูข้อมูลของสภาพัฒน์แล้วก็อดเป็นห่วงการศึกษาของลูกหลานไทยในอนาคตไม่ได้ ทำให้หวนคิดถึง "ต้นกล้า" ข้าวที่ชาวนาเพาะไว้ในแปลงนา ดูแลประคบประหงม "กล้าข้าว" ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าวต้องดี เตรียมดิน น้ำ อากาศ ต้องบ่มเพาะอยู่อย่างพอดีให้มีคุณภาพ ป้องกันแมลง เพลี้ย เพื่อให้ต้นกล้ามีความสมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมที่จะนำไปดำในแปลงนาอื่น ให้รวงข้าว ต้นข้าวที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำหนัก เมล็ดงามสมบูรณ์ ยามเป็นเมล็ดเมื่อนำมาหุงหาก็อร่อย หรือไปจำหน่ายก็ได้ราคา หรือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพเก็บไว้เพาะปลูกในรุ่นต่อไปได้ ฉันใด การดูแลเด็กหรือวัยทารก หรือเด็กเล็ก "วัยอนุบาล" หรือ "วัยเตาะแตะ" ช่วง 3-6 ปี "สำคัญยิ่ง" เช่นเดียวกับ "เมล็ดข้าว" และ "ต้นข้าว"
          ในทางการแพทย์ "เด็กแรกคลอด" น้ำหนักแรกคลอดโดยเฉลี่ย 3 กิโลกรัม ความยาวหรือวัดส่วนสูงประมาณ 50 ซม. (ครึ่งเมตร) ท่านเชื่อหรือไม่ว่าสมองเด็กเจริญเติบโตตั้ง 80% ของผู้ใหญ่ เมื่อเด็กหลังคลอดเป็นทารกจนถึงอายุ 2 ขวบ จะเห็นได้ว่า "สมอง" ของเด็กในช่วงนี้โตเร็วมาก หากดูแลให้ดี เด็กได้อาหาร "นมแม่" อาหารเสริมตามวัย เด็กมีความสุข สุขภาพจิตแม่และเด็กดี ด้วยความรักความอบอุ่นจะทำให้ต้นทุนของสมองเจริญเติบโตตั้ง 80% ดีเกินครึ่งไปแล้ว
          ส่วนการเจริญเติบโต น้ำหนัก ส่วนสูง จะพบว่า
          ช่วงอายุ 2 ปี น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า ของเด็กแรกคลอด = 9 กิโลกรัม
          ช่วงอายุ 4 ปี ส่วนสูงจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ของเด็กหลังคลอด = 100 เซนติเมตร (1 เมตร)
          ถามว่า "ต้นกล้ามนุษย์" เตรียมได้อย่างไร จะได้เหมือน "ต้นกล้าข้าว"  ผู้เขียนอยากแนะนำว่า "3 อ" ไงเล่าครับ มันคือ "ยาวิเศษ" และ "วัคซีนชีวิต" ของผู้คนหรือมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ ปัจจุบัน และอนาคต
          "อาหาร" เด็กในวัยนี้ควรต้องกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ และครบกลุ่มอาหาร ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ นม ผัก ผลไม้ และไขมันในสัดส่วนที่เหมาะสม และที่สำคัญฝึกให้เด็กกินอาหารให้หลากหลาย และตักอาหาร กินด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือให้เด็กกิน "น้ำ" ส่วนที่เหลือจากต้มเนื้อหรือผักด้วย เพราะจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่มีอยู่ ถ้าเป็นเด็กเล็กควรให้เป็นผักต้มหรือน้ำผลไม้ เมื่อเด็กโตขึ้นให้เด็กกินผักและผลไม้สด
          แล้วปริมาณควรจะเป็นอย่างไร? สำหรับเด็กวัยก่อนเรียน เช่น ข้าว 1 ทัพพี ไข่ 1 ฟอง ผลไม้ 2-3 ชิ้น กล้วย 1 ผล มะละกอสุก 1 เสี้ยว เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารของขบเคี้ยว ขนมหวานจัด ลูกอม น้ำอัดลม และอาหารไขมันสูงมากๆ ฝึกให้เด็ก กินร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ ระหว่างกินไม่ควรดุเด็ก หรือบังคับเด็กกินอาหาร เพราะจะทำให้เด็กมี ปัญหาต่อไป หากเด็กเพิ่งไปเล่นกลับมาไม่ควรให้กินอาหารทันที ควรให้พักอย่างน้อย 15 นาทีจึงค่อยกินอาหาร
          ที่สำคัญพ่อแม่ต้องคอยสังเกตลูกๆ หากเบื่ออาหารจะทำให้ "พัฒนาการสมองและร่างกายไม่เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ" สาเหตุที่เด็กเบื่ออาหาร อาจประมวลได้ดังนี้ 1) เด็กมีความสนใจสิ่งแวดล้อมชอบเล่นมากกว่ากิน 2) หากเด็กถูกบังคับให้กินเด็กจะปฏิเสธด้วยการเบื่ออาหาร 3) สุขภาพจิตและการมีปัญหาในครอบครัวทำให้เด็กไม่มีความสุข 4) การตามใจเด็กมากเกินไป ทำให้เด็กต่อรองเรื่องการกิน เช่น จะกินน้ำหวาน น้ำอัดลม แทนข้าว
          เมื่อลูกน้อยไม่กินผักจะทำอย่างไร? คุณแม่ หรือผู้เลี้ยงดูเด็กจะต้องหาวิธีโน้มน้าวให้เด็ก หันมากินผักเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและขับถ่ายเป็นปกติ  ซึ่งมีวิธีการหลายวิธีลองใช้ดู 1.เรื่องให้เด็ก กินผักที่เคี้ยวง่ายๆ ไม่มีกลิ่น เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง 2.จัดผักให้มีสีสันเพื่อการอยากลอง 3.หั่นผักให้เป็นชิ้นเล็กๆ แทรกลงไปในอาหารที่เด็กชอบ 4.นำผักมาชุบแป้งทอด 5.ให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำอาหารจากผัก เช่น ล้างผัก และฝึกหั่นผัก เป็นต้น
          ที่สำคัญคือพ่อแม่ พี่เลี้ยง "อย่าดุเด็ก" เมื่อยังไม่ยอมกิน ต้องใจเย็น ใช้การปลอบ ให้กำลังใจ ชม ด้วยความ "อดทน" จนกว่าเด็กจะยอมกินจนได้
          "ออกกำลังกาย" เด็กในวัยนี้ซุกซนไม่หยุด ระวังเกิดอุบัติเหตุ ชอบเลียนแบบผู้ใหญ่ ดังนั้น การ "ออกกำลังกาย" วัยนี้สำคัญมาก จะส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย และอารมณ์ สติปัญญา เข้าสังคมได้ดี ตลอดจนส่งเสริมการทำงานที่สัมพันธ์กับของอวัยวะต่างๆ
          กิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม ได้แก่ การเดิน การโยน-รับลูกบอล เล่นยิมนาสติก ห้อยโหน ปีนป่าย กระโดด วิ่งระยะสั้น ควรปล่อยให้เล่นแบบอิสระ หรือเฝ้าดูห่างๆ
          ถ้าอายุ 3 ปีขึ้นไป จัดให้มีกิจกรรมสนุก เสริมสร้างสมรรถภาพ เช่น ทำท่าเครื่องบินร่อน การขยับ ปลายเท้า กิจกรรมเป็นการสร้างสรรค์ "ไม่ควรบังคับ" ที่สำคัญพ่อแม่ควรมี "ส่วนร่วม" ในการทำกิจกรรมกับลูกๆ ของเราด้วยความพึงพอใจ รักและผูกพัน เอาใจใส่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และยังเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อเขาโตขึ้นท่านรู้หรือไม่ว่า "ท่าน" นั่นแหละ คือ "คนแรก" ที่เขาจะปรึกษา ซึ่งก็ไม่พ้นคุณพ่อ คุณแม่นั่นเอง
          "อ.อารมณ์" มีผลพวงจากการออกกำลังกายอย่างสร้างสรรค์ สนุกสนาน รื่นรมย์ สุขภาพจิตดี สร้างสายใยรัก รวมทั้งการร่วมโต๊ะทานอาหารด้วยกัน ก็มีส่วนสำคัญให้ปฏิสัมพันธ์ หากเป็นไปได้ คราใดคุณพ่อคุณแม่ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน ก็ควรนำพา "ลูกรัก" ของเราเข้ามาร่วมกิจกรรมง่ายๆ เบื้องต้นก่อนจนเขาค่อยๆ ซึมซับ และค่อยๆ เพิ่มบทสวดมนต์ง่ายตามที่ศักยภาพที่เขาเอื้ออำนวยด้วยการกราบไหว้พระ
          อีกปัญหาหนึ่งถ้าเด็กไม่อยากไปโรงเรียนควรสำรวจดู 3 ประเด็น คือ 1) สาเหตุของ "เด็กเอง" เมื่ออยู่บ้านคุ้นกับพ่อแม่ ใหม่ๆ พอไปโรงเรียนจะไม่ยอมเพราะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมต้องพยายามสร้างความคุ้มเคยให้ลูก 2) สาเหตุจาก "ครอบครัว" พบได้ในโรงเรียนที่พ่อแม่ขาดความปรองดองกัน บางบ้าน "ยากจน" ทำให้เด็กมีอารมณ์เศร้าหมองได้ ขาดกำลังใจที่จะเรียนรู้ 3) สาเหตุมาจาก "โรงเรียน" เช่น เรียนรู้ช้า เพื่อนแกล้ง ครูดุ เป็นต้น หากทราบแล้วต้องรีบแก้ไข
          เด็กวัย "เตาะแตะ" หรือ "วัยอนุบาล" เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตทุกๆ ด้าน พัฒนาทุกอวัยวะทุกอย่าง Good Health Start Here Station 2 A ต่อจากงานอนามัย "แม่และเด็ก" จึงเริ่มตั้งแต่วัยนี้ คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู พี่เลี้ยง หรือพี่ป้าน้าอา ปู่ยา ตายาย ทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง จะต้องคอยส่งเสริมทั้งการศึกษา สุขภาพพลานามัย สุขภาพจิต และอื่นๆ ทุกด้าน
          สิ่งสำคัญของเด็กวัย "อนุบาล" พ่อแม่ต้องส่งเสริม ให้โอกาส กระตุ้นให้เด็กเล่นและฝึกกิจกรรมสร้างทักษะพิเศษที่เหมาะสม จะทำให้เด็กได้ "กล่อมเกลา" "เรียนรู้" และส่งเสริมให้มีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และเข้ากับสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข
          สิ่งที่ผู้เขียนอยากฝากคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ทุกท่าน คือการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ และจิตวิญญาณของการเรียนรู้ของเด็ก 3 ประเด็น คือ
          1) สร้างบรรยากาศใน "บ้าน" หรือ "โรงเรียน" ที่เป็นสุข เต็มไปด้วยความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น และให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ แสดงออก
          2) ให้ความสนใจและความเอาใจใส่ รู้ว่าเด็กกำลังทำอะไรอยู่ และต้องให้กำลังใจเด็ก เมื่อเขาทำได้ เช่น ชื่นชมด้วยคำพูด สีหน้าแววตาว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้อง เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจเกิดกำลังใจที่จะทำ "ดี" ต่อไป
          3) คุณพ่อ คุณแม่ คุณครูเป็น "แบบอย่าง" ที่ดีในการทำกิจวัตรประจำวัน เพราะเด็กวัยนี้ชอบซึมซับด้วยการเลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่มาก ดังเช่น "แม่ปูดี ลูกปูก็จะดีด้วย"
          หากเรา "ปลูกต้นกล้า" ลูกเราตั้งแต่วัย "อนุบาล" ด้วย 3 อ. และ 3 ประเด็น เชื่อเหลือเกินว่าจะ เป็นต้นทุนชีวิตของ "เขา" เพื่อการ "พร้อม" ที่จะเข้าสู่การเรียนวัยประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา
          ดุจดั่ง "กล้าข้าว" เติบโตเป็น "ต้นข้าว" พร้อมจะออก "รวง" ที่เต็มไปด้วย "เมล็ดข้าว" ครบเต็มสมบูรณ์แบบ มีคุณค่าทางโภชนาการ คุณค่าทางเศรษฐกิจ คุณค่าด้วยการเพาะพันธุ์แบบแตกขยายรุ่นต่อรุ่นใหม่ๆ ต่อไปแก่ "มวลมนุษยชาติ" ไม่รู้จบ.นะครับ

pageview  1205840    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved