HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/10/2556 ]
เสนอกรรมการยาคุมพิเศษ'ไซลาซีน'สกัดมอมรูดทรัพย์

 

 อย.ดัน'ไซลาซีน'เป็นยาควบคุมพิเศษพร้อมยาอื่นรวม 4 กลุ่ม ต้องขายยาตามใบสั่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น
          ภายหลังเกิดกรณีกลุ่มมิจฉาชีพนำ "ยาไซลาซีน" (Xylazine) ซึ่งเป็นยาสำหรับสัตว์มาผสมน้ำใช้มอมคนไข้และญาติคนไข้ตามโรงพยาบาลของรัฐ ทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลสงฆ์ และสถานีขนส่งต่งๆ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงต้องหามาตรการควบคุมการใช้ยาดังกล่าว
          เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ อย. เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ ครั้งที่ 2/2556 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ทั้งสัตวแพทยสภา กรมปศุสัตว์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น
          หลังการประชุม นพ.ปฐมกล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเสนอให้เพิ่มมาตรการควบคุมยาสำหรับสัตว์ที่อาจนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งนอกจากยาไซลาซีนแล้ว มีการพิจารณาเพิ่มเติมทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มแอลฟา ทู แอดดริเนอจิก อโกนิสต์ (Alpha-2-adrenergic agonist) ซึ่งสารไซลาซีนอยู่ในกลุ่มนี้ และยังมียาชนิดอื่นอีก 4 ตัว แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อ เนื่องจากจะเป็นเบาะแสให้นำไปใช้ในทางที่ผิดได้ 2.กลุ่มเบนโซไดอาซีพีน เดริเวทีฟ (Benzodiazepine derivative) มียา 5 ตัว 3.กลุ่มบิวไทโรฟีโนน เดริเวทีฟ (Butyrophenone) มี 3 ตัว และ 4.กลุ่มฟีโนไทอาซีน เดริเวทีฟ (Phenothiazine derivative) มียา 1 ตัว โดยยาทั้ง 4 กลุ่ม จัดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง จึงให้มียกระดับยาทั้ง 4 กลุ่มจากยาอันตราย คือ ยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายยา ที่มีเภสัชกรเป็นผู้จำหน่าย ให้ยกระดับเป็น "ยาควบคุมพิเศษ" คือ ยาที่ต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้นจึง จะซื้อได้
          นพ.ปฐมกล่าวว่า ที่ประชุมยังเสนอให้กำหนดข้อความในฉลากและเอกสารกำกับยา ดังนี้ "ขายยาตามใบสั่งผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น และใช้ภายใต้การกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่งเท่านั้น" และให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จัดทำบัญชีและเก็บรายงานไว้ที่สถานประกอบการผลิต นำเข้า และจำหน่าย ไม่น้อยกว่าวันหมดอายุของรุ่นการผลิตของยานั้น เพื่อให้ อย.ตรวจสอบ
          นพ.ปฐมกล่าวว่า มติคณะอนุกรรมการชุดนี้จะเสนอให้คณะกรรมการยาพิจารณาภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบพร้อมประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป แต่ระหว่างยังไม่มีการยกระดับยากลุ่มดังกล่าว ขณะนี้ยอมรับว่าคงทำได้เพียงการขอความร่วมมือกับร้านขายยา ทั้งนี้ ร้านยาที่สามารถจำหน่ายยาทั้ง 4 กลุ่มได้ ต้องเป็นร้านที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยแบ่งเป็น ร้านขายยา ขย.1 หมายถึงร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ขายยาทั่วไป โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 12,123 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้าน ขย.1 ในพื้นที่ กทม. 4,443 แห่ง ในภูมิภาค 7,680 แห่ง นอกจากนี้ยังมีร้านขายยา ขย.3 ซึ่งหมายถึงร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขายเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ ปัจจุบันมี 745 แห่ง แบ่งเป็นร้าน ขย.3 ในพื้นที่ กทม.87 แห่ง ในภูมิภาค 658 แห่ง โดยทั้งหมดระหว่างยังไม่มีการยกระดับจะขอความร่วมมือในการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนจำหน่ายยาทั้ง 4 กลุ่ม ไม่เช่นนั้นหากเกิดปัญหาจะมีโทษทางคดีอาญาได้
          "นอกจากนี้ อย.ทำได้เพียงเข้าไปตรวจสอบ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ว่ามีการใช้ผิดปกติหรือไม่ ปัจจุบันมีผู้นำเข้า 3 บริษัท และผลิตในประเทศอีก 3 แห่ง แต่คงไม่สามารถเข้าไประงับการจำหน่ายของผู้ประกอบการได้ เพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย คงได้แต่ส่งหนังสือเวียนเพื่อขอความร่วมมือว่าเวลาจำหน่ายให้ระมัดระวังมากขึ้น และต้องจำหน่ายต่อเมื่อมีใบสั่งจากสัตวแพทย์เท่านั้น เมื่อยกระดับเป็นยาควบคุมพิเศษแล้ว โทษจะมีสองกรณีคือ 1.ผู้รับอนุญาต คือเจ้าของร้านขายยา หรือสถานพยาบาลสัตว์ หากไม่ ปฏิบัติตามกฎระเบียบจะมีโทษปรับตามมาตรา 105 ของ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 คือ ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท และ 2.ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการหรือเภสัชกร และสัตวแพทย์ หากมีการจำหน่ายยาที่ไม่มีใบสั่งจากสัตวแพทย์จะมีโทษตามมาตรา 109 ของ พ.ร.บ.ยาฯ ปรับ 1,000-5,000 บาท ซึ่งมีโทษเท่ากันกับกรณีที่เป็นยาอันตราย แต่เมื่อมีการควบคุมพิเศษจะมีการเพิ่มมาตรการโดยการสั่งซื้อต้องมีใบสั่งจากสัตวแพทย์แทน" นพ. ปฐมกล่าว
          ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงอนุญาตให้มีการขายยาสำหรับสัตว์ในร้านขายยาสำหรับคน นพ.ปฐมกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าร้านขายยาสำหรับสัตว์มีน้อยมาก ก็เลยอนุญาตให้ขายได้
          ด้าน รศ.นสพ.สุวิชัย โรจนเสถียร นายกสัตวแพทยสภา กล่าวว่า ยาทั้ง 4 กลุ่มเป็นยาสำหรับสัตว์ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง หากนำมาใช้ในทางที่ผิดกับคนแบบเกินขนาดอาจทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ยังจำเป็นต้องใช้ในการรักษาสัตว์ โดยเฉพาะการผ่าตัดจะห้ามใช้คงไม่ได้ แต่ต้องมีการควบคุมและดูแลการใช้ยาเหล่านี้ให้เข้มงวดมากขึ้น จึงยกระดับจากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษแทน
          "ในกรณีที่สัตวแพทย์ออกใบสั่งให้กับผู้ที่ไปซื้อยากลุ่มดังกล่าว แต่พบภายหลังว่านำไปใช้ในทางที่ผิดจนเกิดปัญหา สัตวแพทย์ผู้นั้นจะถือว่ามีความผิดด้วย โดยจะมีคณะกรรมการจรรยาบรรณของสัตวแพทยสภา พิจารณาความผิด ซึ่งจะพิจารณาตามระดับรุนแรงของโทษ โดยความรุนแรงที่สุด คือเพิกถอนใบอนุญาตสัตวแพทย์ ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรณีโทษทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย ดังนั้นก่อนจะพิจารณาออกใบสั่งยาใดๆ ขอให้สัตวแพทย์ทุกคนพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วย" รศ.นสพ.สุวิชัยกล่าว

pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved