HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/10/2556 ]
เตือนระวังโรคช่วงน้ำท่วม17จว.อีสานรับพายุ'นารี'
  'ปู'เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม'แปดริ้ว-ปราจีนฯ' ยันรัฐบาลเร่งช่วยเหลือ-ฟื้นฟู โชว์เสน่ห์ปลายจวักผัดกะเพราไก่แจก  ปภ.เตือน 17 จว.อีสานระวังพายุนารี 'รอยล'เผยรุนแรงกว่าคาดหมาย กทม.-ภาคตะวันออกเจอหางเลขด้วย
          เตือน17จว.อีสานระวัง'นารี'
          เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นนารีได้เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว และจะอ่อนกำลังลงเป็นความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและลมแรง จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขาใน 17 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร หนองคาย และบึงกาฬ ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก และลมแรง โดยติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที
          นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของแบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ) และข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุไต้ฝุ่นนารี ที่มีทิศทางเคลื่อนที่จากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังประเทศเวียดนาม ด้วยความเร็ว 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อขึ้นฝั่งเวียดนามแล้วจะกลายเป็นพายุโซนร้อน ความเร็ว 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะกำลังความแรงจะลดลงเป็นแค่พายุดีเปรสชั่น
          ตะวันออก-กทม.เจอหางเลข
          "ดูจากแผนที่ฝน พบว่า จังหวัดที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวังคือ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม อาจจะมีฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วันเป็นอย่างน้อยคือ คืนวันที่ 16 ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 18 ตุลาคม ปริมาณน้ำฝนราวๆ 100 มิลลิเมตรต่อวัน นอกจากนี้ ยังมี จ.ชัยภูมิตอนเหนือ เลย เพชรบูรณ์ และขอนแก่น ที่จะมีปริมาณน้ำฝนในระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม ค่อนข้างสูงเช่นกัน" นายรอยลกล่าว
          นายรอยลกล่าวว่า อิทธิพลของพายุนารี ยังส่งผลต่อพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี คือจะมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 30 มิลลิเมตรต่อวัน ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้ พื้นที่ภาคตะวันออกบางส่วนยังได้รับผลกระทบด้วย คือ ตราด ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี รวมทั้งพื้นที่ กทม.ที่จะได้รับผลกระทบช่วงวันที่ 16-17 ตุลาคมนี้ โดยคาดว่า จะมีปริมาณน้ำฝน 2 วัน รวมกันประมาณ 70 มิลลิเมตร ทั้งนี้ พายุนารี เป็นพายุที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดหมายเอาไว้
          'ปลอด'เร่งผลักดันน้ำท่วมทุ่ง
          นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ภาคตะวันออกยังมีน้ำค้างทุ่งท่าแห อยู่ประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และทุ่งบางพลวง 720 ลบ.ม. รวมทั้งหมด 870 ลบ.ม. ซึ่งการระบายน้ำจะต้องรอให้ระดับน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกงลดลงต่ำกว่าตลิ่งเสียก่อน จึงจะสามารถระบายน้ำออกจากทุ่งได้
          "การระบายน้ำออกจากแม่น้ำบางปะกงประสบกับปัญหา เนื่องจากน้ำทะเลสูงอยู่ ขณะนี้พยายามทำคือ เมื่อน้ำทะเลลดจะต้องใช้เครื่องดันน้ำจำนวนมาก เพื่อดันน้ำออกจากแม่น้ำบางปะกงไป เพื่อดันน้ำจากปราจีนบุรีมาแทนที่ เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ น้ำในทุ่งจะค้างเป็นเวลานาน" นายปลอดประสพกล่าว และว่า คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการระบายน้ำค้างทุ่งในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนทั้งเดือน"
          'สุขุมพันธุ์'มั่นใจกทม.รอด
          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำใน กทม.ว่า ยังคงเฝ้าจับตาดูพายุไต้ฝุ่นนารี รวมถึงติดตามสถานการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูง แม้ดูเหมือนฝนอาจจะเบาบาง แต่ฤดูฝนยังไม่หมด ยังมีเรื่องของมรสุม จึงต้องเฝ้าดูระดับน้ำทะเลหนุนบริเวณเชิงสะพานพุทธต่อไป
          ต่อมาเวลา 15.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมคณะเดินทางไปตรวจระดับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเชิงสะพานพุทธ ฝั่งพระนคร จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝนในพื้นที่ กทม. ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะอิทธิพลของพายุนารีอาจกระทบกับพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ส่าวนพื้นที่ กทม. ตะวันออก ก็ไม่น่ากังวลเช่นกัน ได้สั่งการให้สำนักการระบายน้ำ กทม.ยกบานประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดปริมณฑล ที่มีพื้นที่ติดกับ กทม.
          ชลประทานโคราชรับมือ
          นายชิดชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงการเตรียม แผนรับมือพายุนารี ว่าสำนักชลประทานที่ 8 ได้จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ประมวลสถานการณ์น้ำ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งของ จ.นครราชสีมา และพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ คาดว่าพายุนารีจะเข้ามาสลายตัวในประเทศไทย จุดศูนย์กลางอยู่ที่ภาคอีสานตอนเหนือ อาจส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา แต่เป็นปริมาณน้อย ซึ่งไม่ประมาท ได้เตรียมแผนรองรับ โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุแล้วจะไม่พร่องน้ำออกจากอ่าง แต่ปล่อยให้ล้นตามธรรมชาติ เพราะการพร่องน้ำแล้วจะทำให้ประชาชนที่อยู่ด้านล่างเดือดร้อนเพิ่มขึ้น
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำที่ล้นจากเขื่อนระบายน้ำลำเชียงไกรตอนบนและตอนล่าง ได้ไหลลงลุ่มน้ำลำเชียงไกร และเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านตลาดประดู่ หมู่ 3 ต.กระชอน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ชุมชนที่อยู่ติดลุ่มน้ำลำเชียงไกร มีระดับน้ำสูงกว่า 70-80 เซนติเมตร พื้นที่นาข้าวน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร
          ชาวศรีสะเกษผวาถล่มซ้ำ
          ที่ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ เนื่องจากอิทธิพลของพายุนารี ทำให้ประชาชนเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ที่น้ำท่วมขังและอยู่ระหว่างน้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 10-15 เซนติเมตร ต่างหวาดผวา ว่า น้ำอาจท่วมขึ้นอีก โดยเฉพาะชุมชนหนองหมู ต.โพธิ์ อ.เมืองศรีสะเกษ ที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมกว่า 100 หลัง ชาวบ้านต้องอพยพมาพักอาศัยริมถนนและบนพื้นที่สูง
          นางสุภาภรณ์ บุตรมาตร์ ชาวบ้านหมู่ 8 ต.โพธิ์ กล่าวว่า บ้านพักอยู่ติดลำห้วยสำราญ ยังน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน หากฝนตกลงมาอีก จะทำให้ทรัพย์สินที่ยกขึ้นไปไว้ที่สูงภายในบ้านถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายได้ โดยชุมชนถูกน้ำท่วมมานานเกือบ 1 เดือนแล้ว อยากให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาดูแลช่วยเหลือเรื่องค่าวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านด้วย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน
          กาฬสินธุ์ประชุมรับน้ำหลาก
          ด้านนายสุวิทย์ สุบงกฎ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกประชุมนายอำเภอ 5 อำเภอ ประกอบด้วย ยางตลาด ฆ้องชัย ร่องคำ กมลาไสย และเมืองกาฬสินธุ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเตรียมตัวรับมวลน้ำหลากมหาศาลที่ไหลจาก จ.ชัยภูมิ และขอนแก่น โดยคาดว่าน้ำจะไหลผ่านลำน้ำชีในอีก 3-4 วัน พร้อมให้ชลประทานจัดหาเครื่องสูบน้ำและเปิดประตูระบายน้ำบริเวณลำน้ำชี เพื่อให้น้ำที่มีอยู่ไหลผ่านไปอย่างรวดเร็ว
          นายสุวิทย์กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุนารีจะทำให้เกิดฝนตกในระยะนี้ ประกอบกับมวลน้ำหลากจากลำน้ำชี เกรงว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน ทุกพื้นที่จึงต้องเตรียมการรับมือ และขอเตือนประชาชนให้ระวังปัญหาน้ำป่าไหลหลาก
          สธ.เฝ้าระวังโรคช่วงน้ำท่วม
          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังปัญหาโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม ว่า คร.มีมาตรการในการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคในภาวะน้ำท่วม 3 กรณี แบ่งเป็น 1.ช่วงน้ำท่วม จะมีปัญหาการจมน้ำและไฟฟ้าชอร์ต โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำในภาวะน้ำท่วมพบว่า พุ่งสูงถึง 55 ราย 2.ช่วงน้ำท่วมขัง ต้องระวังเรื่องโรคฉี่หนู อุจจาระร่วง น้ำกัดเท้า ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ และ 3.ช่วง น้ำลด ที่ต้องระวังยังคงเป็นฉี่หนูและไข้เลือดออก
          "ช่วงน้ำท่วม ปัญหาไข้เลือดออกไม่สูงมากนัก เนื่องจากโดยปกติยุงลายจะวางไข่ในภาชนะเหนือน้ำ แต่เมื่อน้ำท่วมจะไม่สามารถวางไข่ได้" นพ.โสภณกล่าว และว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 20 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโรคฉี่หนู 1,928 ราย เสียชีวิต 15 ราย
          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า ส่วนที่หลายคนพบว่ามียุงชุม ส่วนน้ำท่วมนั้น คาดว่าเป็นยุงรำคาญมากกว่า โดยยุงรำคาญจะวางไข่ในน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำขัง จะพบมากในพื้นที่ชุมชนแออัด โดยยุงรำคาญจะก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ แต่โรคนี้ไม่ค่อยพบมากและไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้เด็กอายุตั้งแต่ 1-2 ขวบ ที่เป็นปัญหาจากยุงรำคาญคือ เมื่อถูกกัดจะเป็นตุ่ม คัน อักเสบ การป้องกันโรคจากยุงคือ ต้องทาโลชั่นหรือยากันยุง นอนกางมุ้ง เป็นต้น
          'บิ๊กตู่'มอบผู้ช่วยบูรณาการ
          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่าในภาพรวมได้มอบหมายให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณาการ โดยสั่งการไปว่า ในปี 2554 มีประสบการณ์มาแล้วจึงได้กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน และมอบหมายความรับผิดชอบให้ชัดเจน ประสานการปฏิบัติกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย และเปิดช่องทางการสื่อสารกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ คิดว่าปีนี้การแก้ไขน้ำท่วมดีกว่าปี 2554
          พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาระยะยาว แต่คิดว่า อยู่ในแผนการแก้ไขปัญหาของทุกรัฐบาลอยู่แล้ว โดยจะต้องแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ในส่วนของปริมณฑลจะต้องดูว่าจะทำอย่างไรที่จะระบายน้ำให้ได้ มากที่สุด ซึ่งจะต้องระมัดระวังในห้วงของน้ำ ทะเลหนุน เพราะจะทำให้การระบายน้ำได้ยากมากยิ่งขึ้น
          'ปู'เยี่ยมชาวแปดริ้ว-ปราจีนฯ
          ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ จากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) สนามเป้า ไปยังวัดบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ประสบอุทกภัย
          ต่อมาเวลา 14.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมคณะ เดินทางถึงวัดบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง โดยมี น.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าฯปราจีนบุรี พร้อมข้าราชการและประชาชนรอต้อนรับ ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมขอให้ชาวปราจีนบุรีอดทนอีกนิด เชื่อว่าในเดือนหน้าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยรัฐบาลได้ระดม เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้การช่วยเหลือประชาชน เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่และเร่งฟื้นฟู จากนั้น น.ส. ยิ่งลักษณ์และคณะได้ลงเรือท้องแบนเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและมอบสิ่งของช่วยเหลือให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย
          แจกถุงยังชีพผู้ประสบภัย
          ต่อมาเวลา 16.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์และคณะ เดินทางจาก อ.บ้านสร้าง ถึงโรงเรียนดาราจรัส อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา พบปะประชาชนที่ประสบอุทกภัยพร้อมแจกถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีนายอนุกูล ตังคณานุกูลชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา คณะหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนชาวอำเภอบางคล้าจำนวนมาก ให้การต้อนรับ
          ทั้งนี้ นายอนุกูลบรรยายสรุปสถานการณ์ว่า จ.ฉะเชิงเทรา ประสบอุทกภัย 11 อำเภอ 59 ตำบล ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 3 อำเภอ ได้แก่ แปลงยาว สนามชัย และท่าตะเกียบ ส่วนพื้นที่ อ.ราชสาส์น บางคล้า บางน้ำเปรี้ยว คลองเขื่อน และพนมสารคาม ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ยประมาณ 1-1.50 เมตร ขณะที่ อ.บ้านโพธิ์ เมืองฉะเชิงเทรา และบางปะกง สถานการณ์น้ำระดับปานกลาง คาดว่าจะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
          ควงตะหลิวผัดกะเพราไก่
          น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อนำคณะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลมาจาก จ.ปราจีนบุรี ทำให้มีน้ำท่วมเป็นจุดๆ รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน จะระบายน้ำและผันน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง รวมทั่งจะเร่งแก้ไขปัญหาจุดที่เป็นพื้นที่สำคัญ จะป้องกันไว้ไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยขอให้ประชาชนอดทน ในบางพื้นที่อาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนจะเร่งทำงานอย่างเต็มที่
          นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เร่งสำรวจความเสียหาย และเร่งจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งขอบคุณเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้ร่วมกันทำแนวกั้นน้ำระยะทาง 14 กิโลเมตร ทำให้ช่วยแบ่งเบาพื้นที่น้ำท่วมไปได้
          จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์มอบเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับประชาชน และปรุงอาหารผัดกะเพราไก่แจกจ่ายประชาชนชาวบางคล้า ก่อนเดินทางต่อโดยรถ ยีเอ็มซีไปยังเทศบาลตำบลปากน้ำ อ.บางคล้า เพื่อมอบสิ่งของช่วยเหลือให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย
          พายุโค่น'ยางนา'ทับรถพัง
          ที่ จ.ระยอง เมื่อเวลา 16.00 น. ได้เกิดฝนตกหนักและพายุพัดแรง ทำให้ต้นยางนาสูงประมาณ 30 เมตร หักโค่นทับสายไฟฟ้าแรงสูง บริเวณถนนสายบำรุงราษฎร์ หมู่ 2 ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าหักโค่น 1 ต้น และต้นยางนายังทับรถกระบะยี่ห้อซูซูกิ ทะเบียน บว 5227 ระยอง ที่นายสุริยา ว่องไว อายุ 26 ปี ขับผ่านมา ได้รับความเสียหาย ส่วนนาย สุริยาปลอดภัย นอกจากนี้ พบเสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่น 1 ต้น อุปกรณ์สายไฟฟ้าขาดเสียหายจำนวนมาก
          นายจำเนียร เนินคีรี อายุ 53 ปี ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.เนินพระ กล่าวว่า ก่อนเกิดเหตุ มีฝนตกลงมาอย่างหนักและมีพายุพัดแรง ทำให้ต้นยางนาอายุกว่า 60 ปี ทนแรงพายุไม่ไหว หักโค่นลงมาทับรถที่วิ่งมาได้รับความเสียหายดังกล่าว

pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved