HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/10/2556 ]
สมดุลร่างกายกับอาหารห้ารสสี่ฤทธิ์

  แพทย์จีน โสรัจ นิโรธสมาบัติ คณะการแพทย์แผนจีนมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
          ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า ความสมดุลของร่างกาย คือสุขภาพที่แข็งแรง แก่นของความสมดุลคืออินและหยางสมดุล ทำอย่างไรอินหยางจึงจะสมดุล นอกจากจะต้องออกกำลังกาย พักผ่อนให้พอเหมาะ  มีสภาพจิตที่ดีแล้ว  อาหารที่ทานก็ควรสมดุลด้วย เราควรทานอาหารให้ครบห้าสีตามที่เคยกล่าวไว้ และยังควรทานให้ครบห้ารส รวมถึงเลือกฤทธิ์ของอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
          รสชาติของอาหารทุกรสล้วนมีประโยชน์ แต่ถ้าทานรสใดมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทานหวานมาก ทำให้เกิดเสมหะความชื้นรบกวนการทำงานของม้าม เกิดเป็นภาวะอ้วน ไขมันในเลือดผิดปกติ  ทานรสเปรี้ยวมากไป ทำให้ชี่ตับข่มม้าม เกิดอาการท้องอืด ปวดกระเพาะอาหาร ทานรสขมมากไป ทำให้อาหารไม่ย่อย ทานรสเผ็ดมากไป ทำให้เกิดอาการร้อนใน เป็นแผลในช่องปาก  ทานรสเค็มมากไป ทำให้การกระจายของน้ำผิดปกติ เกิดน้ำคั่งภายในร่างกาย
          นอกจากนี้ อาหารยังสามารถแบ่งเป็น ๔ ฤทธิ์ คือ ฤทธิ์เย็นมาก ฤทธิ์เย็น ฤทธิ์อุ่น และฤทธิ์ร้อน ส่วนอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนหรือฤทธิ์เย็นที่อ่อนมาก  เรามักเรียกว่า ฤทธิ์เป็นกลาง  เราสามารถอาศัยฤทธิ์และรสชาติของอาหารมาปรับสมดุลชี่เลือด อินและหยาง  ดั่งในคัมภีร์ "เสินหนงเปิ่นเฉ่าจิง" ที่บันทึกไว้ว่า "รักษาโรคเย็นด้วยยาฤทธิ์ร้อน รักษาโรคร้อนด้วยยาฤทธิ์เย็น"
          อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกลาง มีสรรพคุณช่วยเสริมม้ามและบำรุงร่างกาย อาหารที่มีฤทธิ์อุ่นร้อน  ช่วยขจัดความเย็น อุ่นม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย  อาหารที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับร้อน ถอนพิษ และบำรุงอิน
          จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า อาหารส่วนใหญ่ที่เราทานจะมีรสหวานหรือรสจืด มีฤทธิ์เป็นกลาง ช่วยบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารหลักในการดำรงชีวิต หากแต่การรักษาสมดุลของร่างกาย ห้ารสสี่ฤทธิ์ของอาหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราไม่ควรมองข้ามไปนะคะ.


pageview  1205881    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved