HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 09/10/2556 ]
เมื่อเด็กต้องการตัดแว่น

  นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ศูนย์จักษุและต้อกระจกรพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)

          ใครเคยพาลูกไปตัดแว่นไหมครับ ในฐานะจักษุแพทย์แม้ปฏิบัติงานมานาน แต่พอตัองตัดแว่นเด็กก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ  ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือของเด็ก ภาวะสายตาหลอกที่เกิดจากการเพ่งของเด็ก รวมถึงการต้องเลือกกรอบที่เหมาะสมกับเด็กอีกด้วย
          ภาวะสายตาในเด็กวัยเรียน  ปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นครับ  เราเห็นเด็กจำนวนมากเล่นคอมพิวเตอร์ เล่นแท็บเล็ต เล่นโทรศัพท์มือถือและเช่นเดียวกันเราก็พอเห็นเด็กใส่แว่นจำนวนมากจนผิดหูผิดตาเลยครับ
          ตามสถิติเดิมคาดว่ามีเด็กที่สายตาผิดปกติเฉลี่ย 10% ของเด็กวัยเรียน  แต่ปัจจุบันตัวเลขน่าจะสูงกว่านี้
          เด็กส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาสายตาสั้น รองลงมาเป็นสายตาเอียงและสายตายาวครับ สายตาเด็กจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนอายุ 18-20 ปี  สายตาถึงจะหยุดนิ่งครับ
          เด็กที่มีสายตาผิดปกติมักจะพบว่ามองกระดานเห็นไม่ชัดต้องลอกงานเพื่อนข้างๆ หรือบ่นปวดกระบอกตา บางรายไม่บ่นแต่พ่อแม่เด็กจะสังเกตว่าลูกจ้องมองหนังสือใกล้มากๆ ถึงจะเห็นครับ
          ปัญหาที่สำคัญของภาวะสายตาเด็กคือการเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ ถ้าไม่ได้แก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติก่อนอายุ 8 ปี  ภาวะสายตาขี้เกียจจะส่งผลให้เด็กมีสายตาที่แย่ไปตลอด โดยไม่สามารถแก้ไขได้อีก
          นอกจากสายตาขี้เกียจแล้ว การวัดสายตาในเด็กก็เป็นปัญหาซึ่งแตกต่างจากการวัดในผู้ใหญ่อย่างมาก ในเด็กจะมีภาวะหนึ่งที่เรียกว่าภาวะเพ่งครับ ภาวะเพ่งจะทำให้เลนส์ตาเด็กป่องตัวออกส่งผลให้การวัดผิดพลาดครับ หลายรายที่ไม่ได้มีภาวะสายตาผิดปกติ  แต่พอไปวัดตอนที่มีภาวะเพ่งเลยได้แว่นติดออกมาด้วยครับ และถ้าเด็กได้แว่นตาผิด ก็ส่งผลให้ปวดตา ปวดศีรษะ มองไม่ชัดเป็นของแถม
          ถ้าต้องการค่าสายตาในเด็กที่ถูกต้องต้องลดภาวะเพ่งลงครับ การลดภาวะเพ่งต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อที่ควบคุมม่านตาและเลนส์ตา ยานี้อยู่ในรูปยาหยอดครับ เมื่อหยอดยาม่านตาจะขยายส่งผลให้มีตามัว 1-2 วันครับ การวัดโดยใช้ยาดังกล่าวจะลดภาวะเพ่งทำให้การวัดค่าสายตาในเด็กได้ถูกต้อง แต่การใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของจักษุแพทย์ จึงไม่มีการใช้ยานี้อย่างแพร่หลาย
          สำหรับผมเองมักใช้ยานี้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ครับเนื่องจากภาวะเพ่งในผู้ใหญ่เกิดขึ้นน้อยมาก
          เมื่อได้ค่าที่ถูกต้องจากการวัดที่ถูกต้องแล้วก็ต้องตัดแว่นให้ถูกต้องกับตาเด็กด้วยครับ มีผลการวิจัยอันหนึ่งพบว่าเด็กเกือบ 80% มีแว่นผิด การตัดแว่นสำคัญคือจุดศูนย์กลางของเลนส์ ต้องอยู่ตรงกลางตาดำของเด็ก การนำกรอบแว่นผู้ใหญ่มาตัดให้เด็กใส่จะมีโอกาสให้จุดไม่ตรงกับตาเด็กได้ครับ
          เด็กที่ใช้แว่นตาจำเป็นต้องการตรวจหลังใส่แว่น ว่ามีปัญหาใดหรือไม่  แว่นได้ช่วยให้เด็กมีการมองเห็น ที่ดีขึ้นหรือไม่  หลังจากนั้นควรติดตามค่าสายตาที่เปลี่ยนแปลงอย่างน้อยปีละครั้งครับ
          การวัดแว่นเด็กจะเห็นว่ามีความซับซ้อนกว่าผู้ใหญ่การวัดผิดหรือตัดแว่นผิดก็อาจส่งผลต่อสายตาเด็กในระยะยาวได้ครับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความร่วมมือในการวัด รวมถึงการต้องให้กำลังใจและกระตุ้นให้เด็กใช้แว่นตาให้ได้ตลอดด้วย
          ถึงตรงนี้ การวัดแว่นเด็กไม่มีใครกล้าปรามาสว่าง่ายแบบเด็กอีกแล้วใช่ไหมครับ


pageview  1205875    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved