HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 04/10/2556 ]
ภัยความรุนแรงความเสี่ยงของ"ผู้หญิงอ่อนแอ"

 แม้หลายคนจะรู้ และทราบว่าความไม่เท่าเทียม และการใช้ความรุนแรง กับเด็กและผู้หญิงในไทยจะมีอยู่ แต่ก็น้อยครั้งนักที่จะเห็นว่าทุกคน เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
          แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้ก็ไม่อาจทำให้เงียบหายไปได้ สำนักงานอัยการสูงสุด จึงจัดงานยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กขึ้น ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและเทิดพระเกียรติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะด้านสิทธิเด็กและสตรี และกระตุ้นให้เห็นความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น
          ภายในงาน มีการมอบรางวัลครอบครัวต้นแบบยุติความรุนแรงดีเด่นประจำปี 2556 ยังมีการเสวนาอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยมีผู้ร่วมอภิปราย อาทิ สมเกียรติ วรดิษฐ์ ผู้ตรวจการอัยการ, ดร.จิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร., ประหยัด ดีอ่องที่ปรึกษาด้านกฎหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ เผยว่า หากอยากจะยุติความรุนแรงในครอบครัว ก็จำเป็นจะต้องดูปัจจัยต่างๆ รอบด้านอย่างถี่ถ้วน ที่ผ่านมาพบว่าเหยื่อผู้ถูกกระทำนั้นเกิดได้ทุกชนชั้น ไม่ว่าจะรวยหรือจน เพราะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในตัวทุกคน
          "จากเคสที่ผ่านมาแล้ว ผู้กระทำที่เป็นผู้ชายมักจะเลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงผมยาว รวมถึงคนที่ขี้กลัว ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง และเมื่อเจาะลึกลงไปก็จะพบว่าเคสต่างๆ เหยื่อมีลักษณะอ่อนแอทำให้ถูกทำร้ายได้ง่าย อย่างกรณีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานระหว่างนายและลูกน้องที่มีข่าวออกมากมาย ก็เหมือนเป็นการแสดงอำนาจออกมา เพราะลูกน้องก็ไม่กล้ากับ ผู้บังคับบัญชา
          "นอกจากนี้ ยังพบว่าอาชีพอย่างพยาบาลเป็นอาชีพที่ถูกกระทำมากที่สุด จากคนไข้และญาติไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือการกระทำก็ตาม เป็นสิ่งที่เราเองมักไม่นึกถึงมาก่อน"
          การป้องกันปัญหาง่ายๆ นพ.ชาญวิทย์แนะนำว่า "ผู้หญิงจึงควรลุกขึ้นมาทำตัวเองให้เข้มแข็ง พร้อมเผชิญปัญหา ไม่มีบุคลิกอ่อนแอ เป็นการป้องกันตัวเองได้ทางหนึ่ง"
          ขณะที่ ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เผยว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี เป็นสาเหตุที่เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ทั้งความยากจน วัฒนธรรมและจิตวิทยา เด็กที่ถูกกระทำก็มีโอกาสที่จะไปกระทำต่อได้ หากจะแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องเข้าไปตัดวงจรตั้งแต่แรกเริ่ม มิใช่มาแก้ไขหรือให้ความช่วยเหลือภายหลังอย่างเดียว ควรมีนโยบายคุ้มครองเพื่อไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก ชาญเชาวน์เสนอแนวคิดว่า นโยบายที่ดีคือต้องเร่งให้ความรู้ และมาตรการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เพื่อจำกัดและกำจัด ผลร้ายที่จะมีต่อเหยื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนการความรุนแรงอีก โดยการให้ทักษะการใช้ชีวิตและให้เครือข่ายช่วยเฝ้าระวัง มีส่วนร่วมในการดูแล
          เพียงแค่ผู้หญิงลุกขึ้นมามีความมั่นใจ เข้มแข็ง เรื่องร้ายๆ บางอย่างก็อาจไม่เกิดขึ้น


pageview  1205847    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved