HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/10/2556 ]
เหยื่อท่วม'กรุงเก่า'ทะลุแสน'วิทยา'ควงอปท.เยี่ยมชาว'บางปะอิน''ท้ายเกาะ'แจกเรือชุมชนนอกคันกั้นน้ำ

 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายวันชัย จุฑานพรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลปราสาททอง, นายสมทรง ลีวัฒนะ นายกเทศมนตรีตำบลบางกระสั้น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม พร้อมแจกจ่ายน้ำดื่มและสิ่งของบรรเทาทุกข์ 5,000 ชุด แก่ผู้ประสบอุทกภัย อ.บางปะอิน
          นายวิทยากล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ไม่หนักเหมือนปี 2556 พื้นที่ อ.บางปะอิน มีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ซึ่งได้ทำแนวป้องกันน้ำท่วมไว้ 2 ชั้น คือ แนวกั้นน้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และแนวป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯ ส่วนบ้านเรือนประชาชนชุมชนเมืองใหม่ ศูนย์ราชการ ตลาด และเขตเศรษฐกิจ ยังไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่มีบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองขนาดใหญ่ ถูกน้ำท่วมแล้ว ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร นาน 2 สัปดาห์ รวม 17 ตำบล 129 หมู่บ้าน บ้านเรือน 7,180 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,181 คน คาดว่าน้ำจะสูงขึ้นอีกไม่เกิน 30 เซนติเมตร
          วันเดียวกัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รายงานว่า มีพื้นที่น้ำท่วม 8 อำเภอ 99 หมู่บ้าน 29,888 หลังคาเรือน ชาวบ้านเดือดร้อน 100,039 คน โดยระดับน้ำท่วมในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน วันละ 5-10 เซนติเมตร
          ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ปล่อยน้ำ 2,195 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที เป็นเวลา 4-5 วันแล้ว รวมถึงประมาณน้ำไหลผ่านเขต จ.สิงห์บุรีและอ่างทอง มีระดับคงที่ ทำให้ชาวบ้าน อ.บางบาล ซึ่งได้รับผลกระทบถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ข้องใจว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นมาจากที่ใด หรือมีการแต่งตัวเลขการปล่อยน้ำ เนื่องจากว่าหากปล่อยน้ำคงที่ ระดับน้ำควรจะทรงตัว
          วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ยังเร่งใช้เครื่องจักรทำแนวคันดินกั้นน้ำเสริมบนถนนอู่ทองรอบเกาะเมืองอยุธยา โดยเฉพาะจุดเสี่ยง ตลาดหัวแหลม และฝั่งตรงข้ามวัดหน้าพระเมรุ เพื่อป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน
          ที่ จ.ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาย่าน อ.สามโคก เขตติดต่อ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สูงขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหลายครัวเรือนที่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะ ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก ถูกน้ำท่วม
          นางพิมพ์ ปวีณ์ เจ้าของร้านอาหารครัวท้ายเกาะ หมู่ 3 ต.ท้ายเกาะ และเลขาชมรมร้านอาหารจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ต.ท้ายเกาะเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกคันกั้นน้ำ เป็นตำบลแรกของ อ.สามโคก ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะนี้ถูกน้ำท่วมราว 2 สัปดาห์แล้ว ทำให้บ้าน ร้านอาหารของตนถูกน้ำท่วม ระดับน้ำสูงกว่า 40-50 เซนติเมตร จึงต้องเก็บของขึ้นที่สูงและเตรียมเรือไว้ใช้งาน เนื่องจากเกรงระดับน้ำสูงขึ้นอีก หลังมีน้ำเหนือไหลบ่า และเขื่อนต่างๆ เร่งระบายน้ำ
          นายพงศ์พัฒน์ ลัมพัชวา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท้ายเกาะ กล่าวว่า ได้ส่งเรือ 80 ลำ ที่ได้รับจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ชาวบ้านริมแม่น้ำที่เดือดร้อนยืมใช้สัญจร, จัดเจ้าหน้าที่ออกช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งเฝ้าระวังน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากชุมชนมีผู้สูงอายุและเด็กค่อนข้างมาก ทั้งนี้ มีบ้านเรือนประชาชน 250 ครัวเรือน ที่อาศัยริมแม่น้ำ ในพื้นที่หมู่ 1-3 และ 120 หลังคาเรือน ได้รับผล กระทบ จึงทำเรื่องเสนออำเภอสามโคกขอประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อจัดงบฯช่วยเหลือ
          นายพินิจ เธียรธวัช ปลัดจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งยังไม่น่าห่วง เนื่องจาก จ.นนทบุรีจะได้รับผลกระทบเมื่อปริมาณน้ำมากกว่า 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ยืนยันปีนี้นนทบุรีน้ำไม่ท่วม
          "นนทบุรีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่ากลางจังหวัด จึงให้ 6 อำเภอตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยมากว่า 2 เดือน พร้อมสั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ติดตามปริมาณน้ำ และระดับน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมอุปกรณ์ป้องกันและแก้ไขไว้ให้พร้อม ส่วนพื้นที่ต่ำติดแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ตั้งแนวกระสอบทราย ซึ่งทุกแห่งเตรียมพร้อม เพราะผ่านสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 มาแล้ว แม้สถานการณ์ไม่น่าห่วง แต่วันที่ 9 ตุลาคมนี้ น้ำทะเลจะหนุนสูง จึงสั่งเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ"


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved