HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 02/10/2556 ]
อินทนนท์หนาว10องศา25จว.ยังท่วม มรสุมจ่อ'กลาง-ตอ.'กทม.เจอฝนอีกรอบนนท์ตั้งเขื่อน10กม.

  ปูสั่งรับมือมรสุมระลอกใหม่ เร่ง ปภ.เยียวยาประชาชน กทม.ประสาน กบอ.ป้องท่วมสัปดาห์หน้า เจอทั้ง น้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน นนท์ระดมเสริมเขื่อนยาว 10 กม. ปราจีนบุรียังอ่วม อีก 20 ซม.ท่วมวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์
          ปูสั่งปภ.เร่งเยียวยาน้ำท่วม
          เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปีนี้ว่า เบื้องต้นหลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ จังหวัดและ ปภ.สำรวจความเสียหายของประชาชน ต้องพิจารณาตามระเบียบขั้นตอนเทียบกับความเสียหายจริงด้วย
          เมื่อถามว่า เงินเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาท ยังจะจ่ายเหมือนปี 2554 หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดความเสียหายอีกครั้ง เพราะเมื่อปี 2554 บางเกณฑ์เป็นการให้กรณีพิเศษ แต่บางเกณฑ์เป็นปกติ ต้องให้หน่วยงานประเมินความเสียหายนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ปกติมาพิจารณาอีกครั้ง
          เมื่อถามต่อว่า เบื้องต้นรัฐบาลพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ใช่ รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลช่วยเหลือเยียวยา บ้านเรือน ไร่นา แต่ต้องสำรวจดูความเสียหาย ณ สถานที่จริงก่อน
          ย้ำไร้ปัญหาระบายน้ำกับกทม.
          เมื่อถามว่า ผู้ว่าฯกทม.ออกมาให้ความเห็นว่าน้ำเหนือที่จะไหลลงมา อยู่นอกเหนือการควบคุม หากเกิดปัญหาการระบายน้ำ อาจส่งผลกระทบต่อ กทม. รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เตรียมพร้อมประสานงานเรื่องการระบายน้ำกับ กทม.หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้เราประสานงานอยู่แล้ว และจากการติดตามการแก้ปัญหามาตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยปี 2554 เราทราบ ความสามารถและประสิทธิภาพในการระบายน้ำทาง กทม.ว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้พยายามบริหารจัดการ ในส่วนของน้ำเหนือให้มากที่สุด เพื่อให้ระบบการระบายน้ำของ กทม. ไม่เกินขีดความสามารถรองรับ ขณะเดียวกัน นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงสำนักการระบายน้ำของ กทม.เป็นระยะอยู่แล้ว ตอนนี้เราทำงานร่วมกัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ต่างคนต่างทำ วันนี้เราพยายามมองน้ำเป็นองค์รวมในการบริหารจัดการ
          สั่งทุกหน่วยงานพร้อมรับมือ
          เมื่อถามว่าร่องมรสุม ที่กำลังจะเข้ามาในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง อาจกระทบปริมณฑล รัฐบาลพร้อมรับมือหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้พยายามเต็มที่ อาจจะมีบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ทางเจ้าหน้าที่พยายามทำระบบป้องกันน้ำ จากเมื่อก่อนเรื่องการเบิกค่าใช้จ่ายในส่วนราชการ ต้องรอให้เกิดเหตุเท่านั้นถึงจะเบิกได้ แต่วันนี้มีการปรับให้แต่ละหน่วยงานตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้า โดยเฉพาะสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อดูแลช่วยเหลือประชาชนก่อน
          รอฝ่ายกม.เคาะตั้งกรมน้ำ
          เมื่อถามว่า ความคืบหน้าแนวคิดการตั้งกระทรวงน้ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า กระทรวงน้ำเป็นแผนที่อยากเห็นในอนาคต แต่ทั้งหมดต้องเกิดจากการบูรณาการในภาคปฏิบัติให้เป็นระบบก่อนแล้วถึงจะนำเข้าสู่การพิจารณา ข้อมูลเบื้องต้นทุกหน่วยงานมีแนวคิดตรงกัน ดังนั้น คงขอให้แก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ก่อน แล้วค่อยมาดูว่าข้อมูลต่างๆ มีความพร้อมแค่ไหนอย่างไร
          เมื่อถามต่อว่า จะรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำมาไว้ด้วยกันใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อยากเห็นอย่างนั้น อยากเห็นการบูรณาการในภาพรวมให้เป็นเอกภาพมากกว่า แต่จะอยู่ที่ไหนอย่างไรคงต้องมาดูในงานปฏิบัติ ว่าอยู่ส่วนไหนแล้วทำให้การตัดสินใจและการทำงานดีขึ้น
          เมื่อถามว่า ช่วงรัฐบาลนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ เราเน้นให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำในลักษณะเป็นองค์รวมก่อน แต่การจะไปถึงกรมน้ำหรืออย่างไรนั้น คงต้องมีขั้นตอนของกฎหมายอยู่ ฉะนั้น คงต้องดูว่าขั้นตอนกฎหมายจะใช้เวลาแค่ไหนอย่างไร ส่วนใครจะเป็นเจ้าภาพดูเรื่องนี้นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คงเป็นทาง กบอ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ด้วย ขั้นตอนต่างๆ ต้องให้ทุกหน่วยงานออกความเห็นกันอย่างชัดเจน ยังไม่ได้เห็นในเวลาอันใกล้นี้ แต่เราอยากเห็นขั้นตอนการบริหารจัดการมากกว่า
          ปภ.สรุปท่วม25จังหวัด
          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน ถึงปัจจุบัน เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 32 จังหวัด 240 อำเภอ 1,437 ตำบล 11,578 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 840,728 ครัวเรือน 2,862,758 คน บ้านเรือนเสียหาย 14,405 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,128,993 ไร่ ผู้เสียชีวิต 27 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 25 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ยโสธร มุกดาหาร นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังในชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อน ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เนื่องจากปริมาณน้ำเกินความจุอ่าง จึงต้องเร่งระบายน้ำ
          ปูสั่งรับมือมรสุม2-6ต.ค.
          นายฉัตรชัยกล่าวว่า ช่วงวันที่ 2-6 ตุลาคม ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งกำชับให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนป้องกันตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ และวัสดุอุปกรณ์พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้ ปภ.บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูงเป็นระยะเวลานาน ให้จังหวัดแจ้งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่มาอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ให้ ปภ.ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร เพื่อให้การช่วยเหลือโดยเร็ว
          พศ.ของบ10ล้านช่วยวัด
          นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้รายงานการเฝ้าระวังและสถานการณ์อุทกภัยที่มีผลกระทบต่อวัด พระภิกษุ สามเณร ต่อที่ประชุม มส. หลังจากได้แจ้งว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ได้ช่วยเหลือ ดังนี้ 1.จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงาน 2.ติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากพื้นที่ใดได้รับผลกระทบให้แจ้ง พศ.โดยด่วน 3.จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเปิดรับบริจาคจตุปัจจัยสิ่งของเครื่องบริโภค
          ผู้อำนวยการ พศ.กล่าวว่า 4.จัดทำแผนรองรับสถานการณ์กรณีเป็นพื้นที่เสี่ยง 5.กรณีอาคารเสนาสนะได้รับความเสียหาย ขอให้ประสานสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองในพื้นที่เพื่อสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 6.จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ไม่มีวัดและพระภิกษุสามเณรได้รับผลกระทบ ขอให้รายงานข้อมูลต่อคณะสงฆ์และรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ ทางกองพุทธศาสนาได้ทำหนังสือนมัสการสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ รองประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย (กองทุนวัดช่วยวัด) เพื่อนำเงินกองทุน 10 ล้านบาท จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นและถุงยังชีพ ช่วยเหลือพระภิกษุสามเณร สรุปจนถึงเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา มีวัดประสบภัยรวม 4 ภาค 15 จังหวัด วัดและที่พักสงฆ์ 490 แห่ง พระภิกษุและสามเณรเดือดร้อน 4,117 รูป
          เมืองปราจีนบุรียังท่วมสูง
          ที่ จ.ปราจีนบุรี ภาวะน้ำท่วมใน 7 อำเภอของ จ.ปราจีนบุรี  ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปราจีนบุรี อ.นาดี, กบินทร์บุรี, ศรีมหาโพธิ, ศรีมโหสถ น้ำลดลง, ประจันตคาม และ อ.เมืองปราจีนบุรี น้ำเพิ่มขึ้น อ.บ้านสร้าง น้ำคงที่ พล.ต.ต.สัญชัย ไชยอำพร รอง ผบช.ภ.2 นั่งเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินำสื่อมวลชนขึ้นตรวจสถานการณ์น้ำท่วม พบคันดินคลองชลประทาน ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี น้ำป่ากัดเซาะพังทลาย น้ำท่วมไหลทะลักเข้า อ.ประจันตคาม และ อ.เมืองปราจีนบุรี ปริมาณสูง 50-60 เซนติเมตร ท่วมเต็มถนนทุกสาย
          โดยที่ อ.กบินทร์บุรีน้ำเริ่มลดลงแล้ว ตลาดบริบูรณ์น้ำแห้งสนิท อ.ศรีมหาโพธิ น้ำลดลงเล็กน้อยประมาณ 10 เซนติเมตร ที่ตลาดท่าประชุม เทศบาลตำบลศรีมหาโพธิ ที่ตั้งติดกับแม่น้ำปราจีนบุรีน้ำยังท่วมสูง 60 เซนติเมตร  และชุมชนริมฝั่งน้ำสูงกว่า 1-2 เมตร
          พื้นที่ อ.ประจันตคาม เป็นพื้นที่รับน้ำมาจาก อ.กบินทร์บุรี เนื่องจากคันดินชลประทานพังทลายที่ ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี เป็นพื้นที่รอยต่อกับ ต.บ้านหอย ต.เกาะลอย ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม ระดับน้ำยังท่วมสูงสภาพระดับน้ำทรงตัว ท่วมสูงใน ต.บ้านหอย หมู่ 7 บ้านเกาะแดง ถนนจมน้ำ 120 เซนติเมตร รถทุกชนิดผ่านไม่ได้
          อีก20ซม.ท่วมโบราณวัตถุ
          สำหรับแม่น้ำปราจีนบุรีไหลเข้าเขตเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอีกฝั่งด้านตลอดถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.หน้าเมือง อ.เมือง ติดเลียบกับแม่น้ำปราจีนบุรีน้ำท่วมทั้งสายยาวกว่า 3 กิโลเมตร สูง 70-80 เซนติเมตร ตั้งแต่หน้าโรงเรียนปราจีนกัลยาณี ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี ยาวจรดตลอดสายถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต้องเดินทางด้วยรถยกสูง มีรถยูนิม็อกทหารมณฑลทหารบกที่ 12 วิ่งรับส่งผู้ป่วยตลอด ส่วนนักเรียนปิดการเรียนการสอน
          โดยสถานที่ราชการที่น้ำท่วมในย่านถนนปราจีนอนุสรณ์ น้ำท่วมสูงกว่า 70-80 เซนติเมตร ขณะนี้มีสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงาน อบจ. ศาลจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงาน กกต. สำนักงานทรัพยากรน้ำ และหน่วยศิลปากรที่ 5 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี ที่ใช้รถยกสูงเท่านั้นวิ่งผ่านรวมถึงเรือเข้าหมู่บ้าน หมู่ 9 ต.รอบเมือง อ.เมืองปราจีนบุรี
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พิพิธภัณฑสถาน จ.ปราจีนบุรี น้ำท่วมทั้งบริเวณสูงเกือบครึ่งเอวเหลืออีก 20 เซนติเมตร จะเอ่อขึ้นท่วมถึงที่เก็บโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาโบราณ วัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวบรวมจากภาคตะวันออกทั้งหมด ยุคทวารวดี อายุมากกว่า 1,500-2,000 ปี  อาทิ เทวรูป พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา ถ้วยชามเบญจรงค์ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ทับหลังจากปราสาทหินต่างๆ
          รพ.ประจันตคามย้ายผู้ป่วย
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ถูกน้ำท่วมบริเวณลานจอดรถทั้งหมด อาคารด้านหลังน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร นพ.พงศธร สร้อยคีรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจันตคาม ได้ย้ายผู้ป่วยวิกฤต 2 ราย ไปที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี ยังเหลือผู้ป่วยทั่วไป 14 คน แต่ถ้าน้ำสูงขึ้นอีก 50-70 เซนติเมตร จำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยทั้ง 14 คน พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญ โดยได้เตรียมสถานที่ไว้แล้วที่หอประชุมอำเภอประจันตคาม และช่วงนี้งดการรักษาด้านทันตกรรมชั่วคราว ส่วนการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกหากมีผู้ป่วยหนักต้องนอนรักษาตัวจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และโรงพยาบาลกบินทร์บุรี
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อำเภอประจันตคาม เป็นพื้นที่รับน้ำมาจากอำเภอกบินทร์บุรี หลังจากที่คันดินกั้นน้ำชลประทาน ต.วังดาล อ.กบินทร์บุรี พังทลาย ขณะนี้น้ำทรงตัวท่วมระดับสูงในพื้นที่ ต.บ้านหอย หมู่ 7 บ้านเกาะแดง ถนนจมน้ำ 120 เซนติเมตร รถทุกชนิดผ่านไม่ได้
          ท้ายเขื่อนอยุธยาน้ำสูงอีก
          นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปล่อยน้ำที่ 465 ลบ.ม./วินาที ไหลมาตามแม่น้ำป่าสัก จนถึงเขื่อนพระรามหก บวกกับน้ำคลองชัยนาท-ป่าสักที่ไหลมาบรรจบ ทำให้เขื่อนพระรามหกต้องปล่อยน้ำลงแม่น้ำป่าสักตอนล่างมากถึง 509 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในเขต อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นอีก 10-20 เซนติเมตร โดยชุมชนริมแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ จะได้รับผลกระทบในช่วงนี้
          เสนายังอ่วมชาวบ้านขอน้ำดื่ม
          สถานการณ์น้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อย รับน้ำมาจากเจ้าพระยา ยังมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 10  เซนติเมตร เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในหมู่ 9 ต.บ้านโพธิ์ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา สูงกว่า 2 เมตร มากว่า 2 สัปดาห์ จนชาวบ้านต้องยกพื้นบ้านขึ้นสูง 1 เมตร เพื่ออาศัยหลับนอน ทนกับสภาพอากาศที่ร้อนเนื่องจากอยู่ติดกับหลังคาสังกะสี ชาวบ้านต้องอยู่ด้วยความยากลำบาก  เรียกร้องหาน้ำดื่มเนื่องจากขณะนี้น้ำประปาไม่ไหล
          ที่ถนนสายธรรมสิทธิ์เสนา ต.บ้านโพธิ์ อ.เสนา ผ่านหน้าโรงเรียนราษฎร์บำรุงศิลป์ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร
          นางอัมพร ธนีสัตย์ อายุ 62 ปี ชาวบ้าน หมู่ 9 ต.วัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังจากน้ำท่วมบ้านสูงถึง 2 เมตร ต้องลำบากมากในเรื่องของน้ำดื่มน้ำใช้ ต้องพายเรือ กว่า 1 กิโลเมตร มาซื้อน้ำที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขายริมถนน ปรากฏว่ามีการขึ้นราคาจากถังละ 10 บาท เป็น 25 บาท บางวันถึง 35 บาท อยากเรียกร้องให้มีการควบคุมราคาน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำ ให้นำน้ำมาแจกจ่ายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เนื่องจากระบบน้ำประปาถูกน้ำท่วมผลิตไม่ได้
          อ่างทองท่วม1.4พันหลัง
          เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองลงเรือตรวจสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านใน ต.โผงเผง อ.ป่าโมก หลังถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประชาชนบางส่วนยังอยู่ภายในบ้านที่เป็นสองชั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง
          ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ล่าสุด เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ 2195 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้น้ำไหลผ่านสถานี C7A ของสำนักงานชลประทานที่ 12 หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองอยู่ที่ 2,200 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูง 8.17 เมตร ทำให้ยังมีประชาชนใน ต.โผงเผง ต.นรสิงห์ ต.ป่าโมก อ.ป่าโมก ต.จำปาหล่อ ต.บ้านแห ต.โพสะ อ.เมืองอ่างทอง ได้รับผลกระทบกว่า 1,400 ครัวเรือนแล้ว
          นนท์ระดมกั้นเขื่อน10กม.
          สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าน้ำนนทบุรี อ.เมือง จ.นนทบุรี หลังมีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนทำให้น้ำมีปริมาณเพิ่มระดับสูงขึ้นกว่าทุกวัน โดยอยู่ที่ 2.02 เมตร ก่อนหน้านี้น้ำจะอยู่ที่ 1.20-1.50 เมตร น้ำเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม จนซึมเข้าสู่ถนนด้านหน้าหอนาฬิกา
          นายวันชัย เพ็ชรเนียม ผู้อำนวยการส่วนโยธาและสุขาภิบาล เทศบาลนครนนทบุรี ได้ให้เจ้าหน้าที่วางแนวกั้นกระสอบทราย 30,000 ถุง วางแนวกั้นแบริเออร์ซีเมนต์ 100 ตัว ระยะทาง 200 เมตร ตลอดริมเขื่อนท่าเรือข้ามฟากท่าน้ำ จ.นนทบุรี พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 ตัว ระบายน้ำซึมผ่านใต้เขื่อน เข้าสู่ด้านในแนวกระสอบทราย แต่ถ้าน้ำเพิ่มสูงถึง 2.30 เมตร น้ำจะล้นเขื่อนท่าน้ำเมืองนนทบุรีทันที ทางด้านหน้าวัดต่างๆ ที่ติดริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำได้ล้นตลิ่งเข้าถึงระดับแนวกระสอบทรายที่วางกั้นไว้แล้วเช่นกัน
          นายวันชัยกล่าวว่า ตอนนี้เทศบาลนครนนทบุรีทำแนวป้องกันเขื่อนตลอดริมแม่น้ำระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร จากคลองบางเขน กทม. ถึงคลองบางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีประตูระบายน้ำ 10 แห่งพร้อมติดเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติแต่ละประตู ไม่น่ามีปัญหากับน้ำที่จะปล่อยมาจากเขื่อน ห่วงน้ำฝนมากกว่า เพราะถ้าฝนตกหนักจะระบายลงท่อไม่ทัน
          ท่าอิฐเร่งระบายน้ำป้องท่วม
          ที่ชุมชนชาวบ้านอิสลาม ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายปรีดา เชื้อผู้ดี นายก อบต.ท่าอิฐ และนายธานี โพธิ์เที่ยง รองนายก อบต.ท่าอิฐ ออกสำรวจบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาหวั่นน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พบว่าบ้านชุมชนอิสลามและมัสยิดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหลายหลังคาเรือนได้รับผลกระทบแล้ว โดยระดับน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุด เมื่อวันที่ 1ต.ค.สูงถึง 2.30 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องรีบขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง เนื่องจากน้ำที่ชั้นล่างของบ้านสูง ถึง 80 เซนติเมตร
          ทั้งนี้ อบต.ท่าอิฐ ได้ขอเครื่องสูบน้ำจากสำนักงานเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เพื่อติดตั้งไว้ 2 จุดระบายน้ำได้ประมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง เร่งระบายน้ำที่จะล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คลองบางบัวทองก่อนจะเกิดผลกระทบต่อบ้านเรือนท้ายคลองนับ 10,000 หลังคาเรือน เนื่องจากประตูกั้นน้ำที่ปากคลองบางบัวทองเป็นประตูกั้นน้ำชั่วคราวทำไว้เมื่อปี 2554 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 400 ล้านบาท ให้สร้างประตูกั้นน้ำถาวรแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างกรมชลประทานจึงจะนำแผ่นเหล็กกั้นเพื่อปิดประตูกั้นน้ำที่ปากคลองบางบัวทอง ทั้งนี้ระดับน้ำที่หน้าวัดบางบัวทอง ในคลองบางบัวทอง ต.ท่าอิฐ น้ำได้สูงกว่าพื้นวัดประมาณ 30 เซนติเมตร และมีน้ำบางส่วนซึมผ่านพนังกั้นน้ำเข้าสู่ด้านในวัดสูงประมาณ 10 เซนติเมตรแล้ว
          นายปรีดากล่าวว่า คนที่อยู่ริมคลองมีหลายร้อยครอบครัว ฉะนั้นเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งตรงนี้ต้องเป็นจุดใหญ่ ปัญหาใหญ่คือชาวบ้านอยากให้ปิดแผ่นเหล็กที่ปากคลองบางบัวทองเพื่อกั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เข้ามาในคลองจนเกิดผลกระทบกับชาวบ้าน ตอนนี้พื้นที่นี้ยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติไม่ได้ของบจากส่วนกลาง แต่ใช้งบตนเองในการกั้นกระสอบทรายและสูบน้ำออกจากพื้นที่ ไม่อยากประมาท ไม่อยากให้เหมือนปี 2554 อีก
          กทม.รับ2น้ำสัปดาห์หน้า
          วันเดียวกัน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดเสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ประตูระบายน้ำคลองสองด้านใต้ ถนนพหลโยธิน 54/1 เขตสายไหม ชุมชนดาวทอง คลองบ้านใหม่ ถนนเทิดราชัน เขตดอนเมือง และท่าเรือเขียวไข่กา ถนนอำนวยสงคราม เขตดุสิต พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมปี 2554 จึงได้ติดตามความพร้อมเพื่อเตรียมรับมือ
          นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพ มหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวยังไม่พบปัญหา ขณะนี้ กทม.ยังสามารถช่วยรับน้ำจากจังหวัดปริมณฑลโดยรอบได้วันละ 3-4 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จุดประตูระบายน้ำคลองสองด้านใต้ช่วยระบายน้ำที่มาจากคลองรังสิตวันละ 240,000 ลบ.ม. ขณะนี้ได้ยกระดับประตูระบายน้ำที่ 50 ซม. หากมีความจำเป็นต้องช่วยระบายน้ำเพิ่มขึ้น กทม.จะเปิดประตูให้ความเหมาะสม ส่วนการเตรียมพร้อมรองรับระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากการระบายจากเขื่อนด้านบนและการหนุนสูงของน้ำทะเลในสัปดาห์หน้า กทม.ได้ประสานข้อมูลกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้จัดการน้ำไปในทิศทางเดียวกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะนี้ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที กทม.ยังสามารถรับน้ำช่วยระบายได้
          27ชุมชนกทม.เสี่ยงท่วม
          นายวิสารกล่าวว่า กทม.มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 27 ชุมชน เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใน 13 เขตของ กทม. ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ในช่วงเดือนตุลาคมน้ำทะเลหนุนสูง รวมถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกยังเป็นจุดอ่อนน้ำท่วมขัง จึงได้ลงพื้นที่รับฟังการเตรียมความพร้อมรับมือ 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณประตูระบายน้ำคลองสองด้านใต้ เขตสายไหม 2.บริเวณชุมชนดาวทอง คลองบ้านใหม่ เขตดอนเมือง พื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งตะวันออกของ กทม. และ 3.บริเวณท่าเรือเขียวไข่กา เขตดุสิต ที่ตั้งของชุมชนเสี่ยงน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านเรือนประชาชนกว่า 250 ครัวเรือน
          นายวิสารกล่าวว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการระบายน้ำ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุดเสี่ยงตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการระบายน้ำกรณีมีฝนตกหนัก ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรองรับ ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเร่งระบายจากเขื่อน ประกอบกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงกลางสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 7-11 ตุลาคม อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมน้ำที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ได้สั่งกำชับให้ กทม.ประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการระบายน้ำ กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว
          สธ.แจงจมน้ำตาย27ราย
          ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรงพยาบาล (รพ.) ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ถูกน้ำท่วมบริเวณรอบอาคาร ได้ทำสะพานไม้จากถนนเข้าไปอาคารผู้ป่วย และจัดเรือรับส่งผู้ป่วย มีทหารช่วยอำนวยความสะดวก ส่วนเรื่องยาและเวชภัณฑ์สำรองไว้ใช้ได้ 2 เดือน ส่วนออกซิเจน อาหาร และน้ำดื่ม มีใช้เพียงพอ ระบบประปา ไฟฟ้ายังใช้การได้ ได้สั่งการให้โรงพยาบาลใน 10 จังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เสี่ยงถูกน้ำท่วมจากพายุหวู่ติ๊บ 57 แห่ง เตรียมป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลอย่างเต็มที่
          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ในฐานะประธานวอร์รูม สธ. กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมครั้งนี้ 27 ราย ส่วนใหญ่มาจากการจมน้ำ จึงขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก 3 ห้าม 2 ให้ คือห้ามหาปลา ห้ามดื่มสุรา ห้ามเล่นน้ำ และ 2 ให้ คือ ให้ใช้อุปกรณ์ชูชีพขณะเดินทางทางเรือ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น อุปกรณ์ที่ควรมีประจำเรือ เช่น เสื้อชูชีพ แกลลอนหรือขวดน้ำเปล่าขนาดใหญ่ที่ปิดฝาสนิท และให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพราะหากเกิดเหตุจะสามารถช่วยเหลือกันได้ สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน-1 ตุลาคม 2556 จำนวน 896 ครั้ง พบผู้ป่วย 36,834 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า
          ท่วม454ร.ร.สูญกว่า38ล้าน
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สรุปข้อมูลโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พบว่ามีโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจำนวน 454 แห่ง ใน 12 จังหวัด ประกอบ ด้วย จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชัยภูมิ ปราจีนบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร ลพบุรี อุบลราชธานี ปทุมธานี อุทัยธานี และพระนครศรีอยุธยา รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 38,129,225 บาท
          อุตุฯชี้กลางต.ค.เริ่มหนาว
          ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ออกประกาศเตือนฉบับที่ 1 เรื่องภัยธรรมชาติในช่วงฤดูหนาว ของภาคเหนือปี 2556 ว่า ด้วยฤดูหนาวปีนี้จะเริ่มขึ้นราวกลางเดือนตุลาคม โดยลมหนาวจากประเทศจีนจะมีกำลังแรงและเสริมเข้าปกคลุมภาคเหนือเป็นระยะ ทำให้มีเมฆทวีขึ้น และมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงได้ในระยะแรก ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง
          "กลางเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2556 และต้นเดือนมกราคม 2557 จะมีหมอกบางทั่วไป มีหมอกหนาได้บางพื้นที่ และมีอากาศหนาวและหนาวจัดได้เป็นบางวัน โดยปลายเดือนธันวาคม 2556 ถึงต้นเดือนมกราคม 2557 จะเป็นช่วงที่หนาวที่สุดของปี อุณหภูมิภาคเหนือตอนบนต่ำสุดเฉลี่ย 14-16 องศาเซลเซียส ภาคเหนือตอนล่างเฉลี่ย 17-19 องศาเซลเซียส ในขณะที่บริเวณเทือกเขาและยอดดอยเฉลี่ย 5-10 องศาเซลเซียส และปีนี้จะหนาวเย็นกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้ ฤดูหนาวปี 2556 จะสิ้นสุดลงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อลมหนาวจากประเทศจีนมีกำลังอ่อนลงตามลำดับ"
          นายรักชัย ศรีนวน ฝ่ายพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กล่าวว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงนี้เป็นผลมาจากความกดอากาศสูงจากจีนแผ่เสริมลงมาเป็นระยะ ทำให้เกิดความหนาวเย็นและมีฝนตก แต่ยังไม่ถือว่าเข้าฤดูหนาว ต้องรอประมาณกลางเดือนตุลาคมจึงจะเข้าสู่ฤดูกาลเต็มที่ ทั้งนี้ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เริ่มมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นแล้ว โดยเช้านี้อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 10 องศเซลเซียส ส่วนสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 16.5 องศาเซลเซียส อยู่ในเกณฑ์หนาวเย็น
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศทั่วไปในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ เริ่มมีกระแสลมเย็นอุณหภูมิเฉลี่ย 20-30 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะช่วงเช้ามีหมอกลงและหนาวเย็นทำให้ประชาชนเริ่มนำเสื้อกันหนาวออกมาสวมใส่กันแล้ว


pageview  1205844    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved