HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 16/09/2556 ]
'แก่นตะวัน' สมุนไพรน้องใหม่กำลังเป็นที่นิยมรักษาโรค สรรพคุณคล้ายโสม แถมราคาถูก

 หากเอ่ยถึง 'แก่นตะวัน" น้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากสรรพคุณในการรักษาโรคมีมากมาย โดยสามารถนำไปปรุงอาหาร หรือจะใช้รับประทานแบบดิบ ๆ ก็ได้ แต่ทั้งนี้ ควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อความปลอดภัย เพราะของทุกอย่างบนโลกนี้ ล้วนมีทั้งคุณและโทษ หากใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกโอกาส ก็จะเป็นประโยชน์ กลับกันถ้าใช้มากเกินไป อาจส่งผลกระทบได้ในภายหลัง
          สำหรับแก่นตะวัน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโช้ก (Jerusalem artichoke) หรือบางทีเรียกว่า ซันโช้ก (sunchoke) ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Helianthus tuberosus L. เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน  สามารถปลูกได้ดีในเขตร้อน และเขตกึ่งหนาวอย่างทวีปยุโรป ลักษณะต้นสูงประมาณ 1.5-2 เมตร มีขนตามกิ่งและใบ ส่วนดอกมีสีเหลืองเหมือนดอกบัวตองทางภาคเหนือ โดยมีหัวใต้ดินคล้ายมันฝรั่ง ซึ่งส่วนหัวมีสารอินนูลิน (Inulin) เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรักโตสโมเลกุลยาว หากรับประทานเข้าไป จะช่วยดักจับไขมันในเส้นเลือด
          ทั้งนี้ ที่ จ.นครสวรรค์ ได้มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชแก่นตะวัน ซึ่ง นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า แก่นตะวัน เป็นสมุนไพรชนิดใหม่ ที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจและหาซื้อไปรับประทานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากกินแล้วสุขภาพดี ช่วยลดความอ้วน บำรุงสมอง เพิ่มพลัง โดยแก่นตะวันจัดเป็นพืชสารพัดประโยชน์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ไกลถึงทวีปอเมริกา เหนือ ลักษณะคล้ายมันแกวและแห้ว แต่เนื้อแน่นกว่า ทำให้เวลาเคี้ยวรู้สึกเพลิดเพลิน รสชาติจะออกมัน ๆ หวาน ๆ แต่มีกลิ่นเหม็นเขียวเล็กน้อย รับประทานง่าย จะใช้กินเล่นหรือปรุงอาหารก็ได้ตามสะดวก ซึ่งแก่นตะวันเต็มไปด้วยแร่ธาตุ โดยเฉพาะธาตุเหล็กและโพแทสเซียม ที่จำเป็นกับหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนั้น ยังมีสรรพคุณคล้ายกับโสม แถมราคาสบายกระเป๋า เมื่อเอาประโยชน์ของมันมารวม ๆ กันแล้ว ทำให้ผู้กินมีสุขภาพที่ดี ยังช่วยทำให้ตับได้ล้างสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย อีกทั้งยังช่วยลดกลิ่นขับถ่ายหรือแม้แต่กลิ่นปาก กลิ่นลมหายใจ จึงจัดเป็นสมุนไพรด้านสุขภาพที่น่าสนใจ ส่วน พญ.ศรุตา ช่อไสว ผอ.รพ.ตาคลี กล่าวว่า แก่นตะวันเป็นสมุนไพรมีถิ่นกำเนิดมาจากที่อื่นและกำลังเป็นที่นิยมนำมาปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพราะเป็นสมุนไพรตระกูลเดียวกันกับทานตะวัน โดยแก่นตะวันมีรสชาติคล้ายมันแกวและแห้ว ช่วยทำให้การขับถ่ายดี มีวิตามินแร่ธาตุสูง แต่ทั้งนี้อยากให้ผู้ป่วยมารักษากับแพทย์แผนปัจจุบันเป็นหลัก ไม่ใช่กินพืชสมุนไพรเพียงอย่างเดียว
          ด้าน นายมาโนชย์ มีชื่น เกษตรอำเภอตาคลี กล่าวว่า ตนได้ทดลองปลูกแก่นตะวัน เพราะต้องการลองรับประทาน ซึ่งแต่ละครั้งจะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 300 กิโลกรัม โดยตนทดสอบประสิทธิภาพของสมุนไพรชนิดนี้ด้วยตนเอง เนื่องจากป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีไขมันในเส้นเลือดสูง รวมทั้งมีอาการท้องอืดอยู่เป็นประจำ หลังลองรับประทานยาแผนปัจจุบันแล้วกินแก่นตะวันคู่กันไปด้วย ผลปรากฏว่ามีอาการดีขึ้น ตั้งแต่นั้นจึงกินเป็นประจำ
          ขณะที่ นายเซี่ยมจุ้ย แซ่ลิ้ม เกษตรกรผู้เพาะปลูกแก่นตะวัน ในพื้นที่เทศบาลเมืองตาคลี กล่าวว่า การนำแก่นตะวันมาปลูก เนื่อง จากมีญาติที่อาศัยอยู่กรุงเทพฯ มาหาซื้อพืชแก่นตะวันแล้วไปรับประทาน เพราะช่วยรักษาและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้หลายโรค จึงลองนำมาปลูกในพื้นที่ ซึ่งก็ปลูกง่าย ถ้าออกดอกแล้วร่วงโรยเมื่อไหร่แสดงว่า ผลแก่นตะวันแก่จัดพอจะเก็บผลผลิตได้แล้ว ส่วนลักษณะลำต้นที่แก่ สังเกตได้จากการเอนหรือดอกแห้งเหี่ยวต้นหนึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 1-2 กิโลกรัม จากนั้นจะนำไปล้างน้ำให้สะอาดและจำหน่ายกิโลกรัมละ 200 บาท เนื่องจากสรรพคุณมีอยู่ 5 ประการ คือ 1. คุมการอ้วน 2. ลดไขมันในเลือด 3. ลดความดัน 4. ไล่มะเร็ง รวมทั้ง 5. ใช้ล้างสารพิษได้อีกด้วย.


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved