HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 12/09/2556 ]
อยู่กับสารพิษ(ในบ้าน)ชีวิตต้องปลอดภัย

ชีวิตนอกบ้านของคนกรุงเป็นอะไรที่ชวนบั่นทอนคุณภาพชีวิตไม่น้อย ตัวการหลักก็เจ้าควันท่อไอเสียของรถราบนท้องถนน แต่ใช่ว่าในบ้านจะไม่มีสารพิษให้ต้องระวัง ผศ.ดร.พูลสุข ปรัชญานุสรณ์ บอกในหนังสือบ้านปลอดพิษ ชีวิตปลอดภัย ว่า ในบ้านที่แหละมีสารพิษ 4 ชนิดที่น่ากลัว
          เริ่มจาก 1.ฟอร์มาลดีไฮด์ จะพบในเฟอร์นิเจอร์ไม้อัดสารต้านเชื้อราในกาวลาเท็กซ์ที่ใช้ประกอบเครื่องเรือน พรมปูพื้น สีทาบ้าน วอลเปเปอร์ ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน สารตัวนี้เป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน สังเกตง่ายๆ ถ้าได้รับสารนี้จะรู้สึกแสบตา มึนหัว หายใจอึดอัด
          2.น้ำยาทำความสะอาด ทั้งน้ำยาทำความสะอาดพื้นบ้าน น้ำยาเช็ดล้างเครื่องครัว บางชนิดมีส่วนประกอบของโซดาไฟ มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะในน้ำยาทำความสะอาดพื้น หากทาน สูดดม หรือสัมผัสในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ดวงตา และผิวหนังอย่างรุนแรง
          3.สบู่เหลว ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นในห้องน้ำ โดยเฉพาะสบู่เหลวเทียม ในบางประเทศออกประกาศเตือนเพราะจะระคายเคืองต่อผิวแพ้ง่ายและเสี่ยงเป็นมะเร็งในระยะยาว
          ส่วนน้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาซักแห้งอโรม่าเทอราปี เคยมีการทดลองในสหรัฐพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปล่อยสารระเหยอินทรีย์มากกว่า 20 ชนิด โดย 7 ใน 20 เป็นสารอันตรายตามกฎหมาย
          และ 4.สารอันตรายที่ปะปนในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ไมโครเวฟ ซึ่งจะปล่อยสารตะกั่ว ปรอท แคดเมียมออกมาปะปนในอากาศนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ระคายเคือง ไซนัส อ่อนเพลีย ปวดต้นคอ ปวดศีรษะ
          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จำแนกอันตรายของสารต่างๆ ไว้ เช่น ตะกั่ว จะทำลายระบบประสาทส่วนกลางระบบโลหิต พัฒนาการสมองถูกทำลาย แคดเมียม ส่งผลโดยตรงต่อไต กระดูก ระบบประสาทและการมีบุตร ปรอทมีผลต่อสมอง ไต เป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง
          ของในบ้านนี่แหละน่ากลัว ถ้าให้ร่ายทุกชนิดคงจะอึ้งว่าบ้านเรามีสารอันตรายมากเท่านี้เชียวหรือ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ท้าให้อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ดูได้
         
          ป้องกันไว้ก่อน
          องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มลพิษจากอากาศภายในอาคารและบ้านเรือนริมถนนเป็นตัวการสำคัญของโรคทางเดินหายใจ โรคปอดและโรคมะเร็ง ในประเทศด้อยพัฒนา
          เมื่อหลีกเลี่ยงสารดังกล่าวไม่ได้ เวลาใช้อย่าลืมสวมหน้ากากป้องกันกลิ่น ใส่ถุงมือยางด้วย จริงอยู่ที่มันอาจไม่ออกฤทธิ์ภายในวันสองวัน แต่ป้องกันไว้ดีกว่าแน่นอน


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved