HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์มติชน [ วันที่ 03/09/2556 ]
'ดัชนีมวลกาย'ไม่ใช่เครื่องวัด'สุขภาพ'

 เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์สุขภาพกลุ่มหนึ่ง นำโดย นายแพทย์ เร็กซ์ฟอร์ด อาฮิมา ศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา พยายามอธิบายความเข้าใจที่ไขว้เขวเกี่ยวกับ "ดัชนีมวลกาย" (บอดี้ แมส อินเด็กซ์-บีเอ็มไอ) ว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึงภาวะน้ำหนักตัวที่เหมาะสมของบุคคลสุขภาพดี
          ประเด็นที่บรรดานักวิทยาศาสตร์พยายามชี้ให้เห็นก็คือ การใช้มาตรวัดประการหนึ่งประการใดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่าบุคคลนั้นมีสุขภาพดีได้ ดัชนีมวลกายก็เช่นเดียวกัน เหตุผลสำคัญก็คือ ดัชนีมวลกาย ไม่ใช่มาตรวัดไขมัน และไม่ได้บอกถึงสาเหตุของสุขภาพที่ย่ำแย่แต่อย่างใด
          ดัชนีมวลกายของคนใดคนหนึ่ง สามารถคำนวณหาได้โดยนำเอาน้ำหนักตัวของบุคคลเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ตามมาตรฐานของยุโรป ผลลัพธ์ที่ได้ระหว่าง 18.5-24.9 ถือว่าเป็นบีเอ็มไอปกติ ส่วนมาตรฐานของเอเชีย เริ่มต้นที่ 18.5 จนกระทั่งถึง 22.9 ถือเป็นระดับบีเอ็มไอปกติ บีเอ็มไอที่เกินกว่านั้น ถือว่า "น้ำหนักมากเกินไป" ส่วนบีเอ็มไอที่เกินกว่า 30 ขึ้นไป ถือว่าเป็นโรคอ้วน
          ผลการศึกษาหลายๆ ชิ้น แสดงว่า คนที่มีดัชนีมวลกายเกิน 30 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และอื่นๆ แต่ผลการศึกษาหลายชิ้นในระยะหลัง กลับพบว่า ในบางกรณี มีดัชนีมวลกายสูงๆ กลับเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้บุคคลนั้นๆ เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย หรืออาการของโรคเรื้อรังอื่นๆ นั่นหมายความว่า ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรัง การมีไขมันอยู่ในตัวมาก อาจหมายถึงการมีพลังงานสำรองอยู่ในตัวมาก และในบางกรณีดัชนีมวลกายต่ำๆ อาจเป็นผลมาจากภาวะสุขภาพที่ย่ำแย่ของบุคคลนั้นๆ ต่างหาก
          นายแพทย์อาฮิมา ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่ชัดเจนอย่างมาก ก็คือ ดัชนีมวลกาย ไม่ได้นำเอาเรื่องไขมันในร่างกายมาเกี่ยวข้องด้วย แล้วก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ไขมันกระจายตัวไปตามร่างกายอย่างไร ไขมันที่สะสมอยู่บริเวณช่องท้อง สามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และทำให้ถึงตายได้ ในขณะที่ "เพอริเฟอรัล แฟต" หรือไขมันที่อยู่ถัดลงไปจากชั้นผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย อาจไม่เป็นอันตรายมากเท่า นอกจากนั้น ดัชนีมวลกายยังไม่ได้นำเอาความแตกต่างในเชิงเชื้อชาติ เพศ และอายุ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีกด้วย
          ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ดัชนีมวลกายไม่สามารถนำมาใช้กับนักกีฬาได้ เนื่องจากนักกีฬามีน้ำหนักมากก็จริง แต่เป็นน้ำหนักที่มาจากกล้ามเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันกับผู้สูงอายุ ซึ่งความสูงมักลดลงตามวัย
          ในความเป็นจริงก็คือ ดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอ ถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางเพราะมันง่าย ไม่ซับซ้อน และไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเหมือนวิธีการอื่นๆ มีวิธีการวัดไขมันในร่างกายที่ถูกต้องแม่นยำอยู่หลายวิธี เช่น การใช้ซีทีสแกน กับเอ็มอาร์ไอสแกน แต่ค่าใช้จ่ายสูงเหลือหลาย เด๊กซา สแกน ซึ่งใช้วัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ก็สามารถประยุกต์ใช้เพื้อวัดไขมันในร่างกายได้ดี แต่แพงเช่นเดียวกัน ส่วนวิธีการอื่น อย่างเช่นการวัดระดับฮอร์โมน เลปติน ก็เป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ของไขมันในร่างกายเท่านั้นเอง
          ดร.อาฮิมาสรุปไว้ชัดเจนว่า ไม่มีเครื่องมือวัดใดๆ ที่บอกถึงน้ำหนักที่ถือเป็นระดับน้ำหนักที่สุขภาพดีได้ เพราะต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบ ตั้งแต่น้ำหนักตั้งต้น คุณลักษณะเชิงพันธุกรรม และเพศ เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องศึกษา ความเชื่อมโยงระหว่างโรคกับสาเหตุและผลกระทบจากไขมัน เพิ่มเติมกว่าที่เป็นอยู่ว่า เพราะเหตุใดโรคอ้วนถึงทำให้คนๆ หนึ่งสุขภาพไม่ดี ซึ่งนั่นจำเป็นต้องมีความเข้าใจกลไกในระดับโมเลกุลของแต่ละบุคคลด้วย


pageview  1205855    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved